ในที่สุด ‘แพนโทน’ (Pantone) ก็ได้ประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ‘สีประจำปี’ หรือ ‘Color of the Year’ ของปี 2023 ก็คือสี ‘Viva Magenta’ เฉดสีชมพูเข้มอมม่วงสุดร้อนแรงที่ Pantone บอกว่าสื่อถึงความกล้าหาญ ความมีพลัง ที่จะปลุกให้คนรู้สึกกระตือรือร้น อยากจะออกมาแสดงตัวตนให้โลกรู้
แต่ถึงแม้หลายๆ คนน่าจะรู้ว่า Pantone จะออกมาประกาศสีประจำปีให้คนฮือฮากันทุกปี แต่บางคนอาจจะไม่รู้ว่าการประกาศสีประจำปีไม่ได้เป็นเพียง ‘สีสัน’ หรือกิมมิคในช่วงปีใหม่เท่านั้น แต่เป็นสีที่ผ่านการเก็บสถิติและสำรวจมาอย่างดีว่าจะเป็น ‘สีที่มีอิทธิพลสูงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกชนิดในปีหน้า’
สีประจำปีของ Pantone คืออะไร ทำไมนักออกแบบทั่วโลกจึงให้ความสำคัญ และจริงๆ แล้ว Pantone คืออะไร ใหญ่แค่ไหน ถึงเป็นผู้กำหนดเฉดสีของโลกได้ ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านกัน
Pantone บริษัทแรกที่กำหนด ‘ค่าสีกลาง’ ให้วงการออกแบบ
ก่อนที่จะอธิบายว่าสีประจำปีคืออะไร ก่อนอื่นต้องเกริ่นด้วยความสำคัญของผู้ประกาศสีประจำปีอย่าง Pantone ก่อน ว่าทำไมถึงมีอิทธิพลถึงขนาดกำหนดสีที่จะเป็น trendsetter ให้กับคนทั้งโลกได้
ในวงการการออกแบบ Pantone มีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นบริษัทแรกที่กำหนด ‘ค่าสีกลาง’ ที่ทำให้คนเข้าใจร่วมกันทั้งโลกว่าสีเฉดหนึ่งๆ นั้น หน้าตาเป็นแบบไหน ชื่ออะไร และจะต้องใช้โค้ดอะไรเพื่อสื่อถึงสีนั้น หรือเท่ากับเป็นการกำหนด ‘ภาษาสีสากล’ หรือที่บริษัทเรียกว่า ‘Pantone Matching System’ ให้คนในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และนักทำการตลาดเข้าใจร่วมกันว่าสีที่จะใช้นั้นเป็นสีเฉดไหนกันแน่
โดย Pantone เอง ก็เป็นบริษัทที่กำเนิดขึ้นมาได้เพราะมีคนเล็งเห็นประโยชน์จากการสร้างระบบสีนี้ขึ้นมา เพราะ ‘Larry Herbert’ ผู้ก่อตั้ง Pantone เคยทำงานในบริษัทโรงพิมพ์ และมักจะมีปัญหาในการสื่อสารกับลูกค้าบ่อยๆ ว่าสีที่ลูกค้าต้องการมันคือสีอะไรกันแน่
อย่างเช่นถ้าลูกค้าบอกว่าอยากได้ ‘สีฟ้าแบบท้องฟ้า’ เขาก็ต้องมานั่งคุยอีกว่า สีฟ้าที่เหมือนท้องฟ้านี่มันสีไหน เพราะสีฟ้าบนท้องฟ้าก็มีหลายเฉด และถึงตกลงกับลูกค้าได้แล้ว เขาก็ต้องไปสื่อสารต่อกับคนพิมพ์อีก จนทำให้ระหว่างขั้นตอนการผลิตสื่อชิ้นหนึ่งมีสิทธิ์สูงมากที่สีในขั้นตอนสุดท้ายจะออกมาไม่ตรงกับที่คิดไว้
เพราะแบบนี้เอง เขาจึงกำหนด Spot Color หรือสีจำเพาะขึ้น พร้อมให้ชื่อ และให้โค้ดเป็นตัวแทนของชื่อ แล้วนำมาทำเป็นแคตตาล็อกให้ลูกค้าจิ้มได้เลยว่าต้องการสีไหนบนผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่นแทนที่จะบอกว่าอยากได้สีแบบท้องฟ้า ลูกค้าก็อาจจะดูแคตาล็อกของ Pantone แล้วบอกว่าอยากได้ สี “Open Air” หรือ 15-3922 TCX แล้วทุกคนก็จะรู้ตรงกันเลยว่าเป็นสีไหน โดยไม่ต้องมาถามกันว่าสีฟ้าแบบท้องฟ้านี่มันฟ้าไหนอีกต่อไป
และด้วยความที่ Pantone Matching System นี้ทำให้การระบุสีมีความแม่นยำขึ้นนี้เอง ทำให้แคตาล็อก ‘Spot Color’ หรือ ‘สีจำเพาะ’ ของ Pantone มีประโยชน์ต่อนักออกแบบมากในกรณีที่ลูกค้าอยากให้สีในงานออกมามีความแม่นยำมากกว่าปกติ เช่น การออกแบบหรือพิมพ์โลโก้สินค้าที่อาจต้องใช้เฉดสีเฉพาะเพื่อสื่อถึงตัวแบรนด์
Color of the Year สีที่ไม่ได้สะท้อนแค่เทรนด์การใช้สี
เมื่อรู้แล้วว่า Pantone มีอิทธิพลในวงการออกแบบมากขนาดไหน ก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าในฐานะตัวกลางผู้กำหนดค่าสี รวมไปถึงในฐานะผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้สีให้กับธุรกิจต่างๆ Pantone จะมีข้อมูลจำนวนมากในการมาประเมินว่าในปีนั้นๆ สีไหนจะเป็นสีที่ ‘มา’ และจะกลายเป็นสีที่อยู่ในสินค้าหลายๆ อย่างในปีนั้น แต่ “เทรนด์การใช้สีไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ Pantone นำมาใช้ประกอบการเลือกสีประจำปี”
ในทุกปีๆ การคัดเลือกสีประจำปีจะทำโดย Pantone Color Insitute หน่วยงานย่อยของ Pantone ที่ให้คำปรึกษาลูกค้าในเรื่องการใช้สีโดยเฉพาะ และประกาศออกมาในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี โดยทีมงานจะเลือกสีที่พวกเขาคิดว่าจะสะท้อน ‘อารมณ์ สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของปีต่อไป’ ได้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่เทรนด์การใช้สี
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในการประกาศสีประจำปีในแต่ละปี Pantone มักจะพูดถึงปัจจัยทางสังคมที่มารองรับการเลือกสีหนึ่งๆ เสมอ อย่างเช่น
ซึ่งนี่ก็รวมไปถึงสี “Viva Magenta” ซึ่งเป็นสีประจำปีของ Pantone ในปีนี้ด้วย เพราะมันเป็นสีที่แสดงถึงพลัง ความกล้าหาญ ความคิดสร้างสรรค์ ความมีชีวิตชีวา และการเริ่มต้นใหม่ที่ทุกคนจะต้องการหลังผ่านการระบาดของโควิด-19 มา
นอกจากนี้ยังเป็น ‘สีที่อยู่ตรงกลางระหว่างโลกธรรมชาติและโลกดิจิทัล’ ในแง่ที่มันไม่ใช่สีที่พบได้ในธรรมชาติ แต่มีต้นกำเนิดมาจากธรรมชาติคือ ‘แมลงโคชินีล’ ที่เมื่อนำมาสกัดแล้วจะได้สีแดงสดที่เรียกว่า Carmine ซึ่งเป็นสีที่สว่างสดใสที่สุด ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่มีชีวิตอยู่ในสองโลก คือโลกจริง และโลกสมมติที่มีความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด
อิทธิพลของสีประจำปีในการออกแบบผลิตภัณฑ์
แน่นอนว่าในเมื่อสีประจำปีถูกประกาศออกมาโดยบริษัทที่มีอิทธิพลอยู่แล้วในการกำหนดเทรนด์การใช้สีของหลายๆ ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก สีประจำปีจึงกลายไปเป็นเครื่องมือทางการตลาดได้ โดยบางบริษัทอาจจะออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้สีประจำปีออกมา หรือใช้มันเป็นประโยชน์ในการสร้างสื่อโฆษณา โดยตั้งแต่ปี 2007 มา Pantone ได้แตกไลน์ขายสินค้าไลฟ์สไตล์เพื่อทำสินค้าเป็นตัวอย่างให้หลายๆ แบรนด์นำสีประจำปีไปใช้ด้วย
โดยตั้งแต่มีการประกาศสีประจำปีมา มีบริษัททั้งรายย่อยรายใหญ่มากมายที่นำสี Pantone ประจำปีไปใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ที่น่าจะเป็นที่รู้จักที่สุดก็คือ Apple ที่นำสี “Classic Blue” สีประจำปี 2020 ไปเป็นสีของ iPhone 12 ที่ปล่อยออกมาในปีนั้น
หรือจะเป็นแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังในหมู่วัยรุ่นอย่าง “Glossier” ที่ใช้สี “Rose Quartz” หนึ่งในสีประจำปีของปี 2016 มาเป็นสีประจำแบรนด์ และใช้สีนี้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าในแบรนด์เพื่อสื่อถึงความสดใส และความเยาว์วัย เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนอายุน้อย
รวมไปถึงในปีนี้เองที่ Pantone ร่วมมือกับ Motorola สร้างโทรศัพท์รุ่น Edge 30 Fusion สี Viva Magenta สีสันสดใสขึ้นมา
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้สีประจำปีของ Pantone จะไม่ได้มีอิทธิพลสูงถึงขนาดทำให้ทุกคนในวงการหันมาใช้สีที่ Pantone กำหนดในทุกๆ ปี แต่มันก็เป็นสีที่มองข้ามไปไม่ได้ในงานออกแบบในปีนั้นๆ เพราะการคัดเลือกสีประจำปีของ Pantone ที่พ่วงมากับชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานในการกำหนดมาตรฐานสี ย่อมมีอิทธิพลกับนักออกแบบทั่วโลกที่ต้องทำงานกับสีอยู่เป็นประจำไม่มากก็น้อย
ที่มา: Pantone, CNN, Business Insider, Slate