TikTok Shop มาแรง รุกตลาด E-Commerce ไว โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน พบในปี 2022 มูลค่ายอดขายในภูมิภาคโตขึ้น 4 เท่าจากปีก่อนหน้า แตะ 1.5 แสนล้านบาท แย่งส่วนแบ่งตลาด Shopee/ Lazada โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคอายุน้อย
TikTok Shop เป็นฟีเจอร์ใหม่จาก TikTok แอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียชื่อดังจากจีน ที่ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ทำคลิปสั้นขายของ ที่เปิดให้ผู้ใช้อื่นๆ เข้าไปเลือกซื้อของและจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น TikTok ได้เลยโดยไม่ต้องออกไปแอปอื่น
จากการรายงานของ CNBC TikTok Shop กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นจากพ่อค้าแม่ค้าใน 6 ประเทศอาเซียนที่ทาง ByteDance ได้ไปตีตลาด E-Commerce ด้วย TikTok Shop ไว้คือ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย
ถึงแม้ทาง TikTok จะไม่ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลของ The Information บริษัทบริการข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยีสื่อ ในปี 2022 มูลค่ายอดขายใน 6 ประเทศดังกล่าวพุ่งขึ้นถึง 4 เท่าจากปีก่อนหน้า ไปถึง 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5 แสนล้านบาท
ซึ่งถึงแม้จะยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับตัวเลขของ Shopee ที่อยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Lazada ที่อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขนี้ก็ถือว่าสูงพอสมควรสำหรับแพลตฟอร์ม E-Commerce น้องใหม่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์โดยเฉพาะ
โดยจากการคาดการณ์ของ Blue Lotus Research Institute สถาบันวิจัยด้านธุรกิจจากฮ่องกง ภายในปี 2023 มูลค่ายอดขายของ TikTok Shop จะขึ้นไปแตะ 20% ของ Shopee ที่ยังเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ที่สร้างมูลค่ายอดขายได้สูงที่สุดในอาเซียน และจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต
ปัจจัยที่ทำให้ TikTok Shop ค่อนข้างประสบความสำเร็จมีหลายอย่างทั้ง 1.ฐานผู้ใช้ที่ใหญ่ และ 2. ค่าธรรมเนียมการขายที่ยังถูก
โดยจากข้อมูลของ TikTok จำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชั่น TikTok ในอาเซียนมีสูงถึง 135 ล้านคน โดยหนึ่งประเทศในภูมิภาคนี้คือ ‘อินโดนีเซีย’ คือประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ TikTok สูงที่สุดในโลกรองจากสหรัฐฯ ทำให้ผู้ขายของบน TikTok Shop มีโอกาสในการเข้าถึงฐานผู้ใช้ผู้ชมขนาดใหญ่ ที่พ่อค้าแม่ค้าอาจเปลี่ยนมาเป็นฐานลูกค้าได้หากสามารถคิดทำคอนเทนต์ขายของได้ตรงใจผู้ชม
นอกจากนี้ TikTok Shop ยังคิดค่าธรรมเนียมการขายที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์ม E-Commerce อื่นๆ โดย TikTok Shop ในสิงคโปร์คิดค่าธรรมเนียมการขายเพียง 1% ในขณะที่ Shopee คิดสูงกว่า 5% ทำให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถขายสินค้าตัวเดียวกันได้ในราคาถูกลงมากบน TikTok Shop
จากการสำรวจของ Cube Asia บริษัทวิจัยด้านการค้าปลีกออนไลน์ ที่สำรวจพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชั่นซื้อของของลูกค้า TikTok Shop ในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ลูกค้าดังกล่าวใช้เวลาบนแอป Shopee น้อยลง 51% และใช้เวลาบน Lazada น้อยลง 45% สะท้อนว่าหาก TikTok ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตนี้ไว้ได้ ลูกค้าที่เคยซื้อของบนแอป Shopee และ Lazada ก็อาจจะกลายมาเป็นเจ้าประจำของ TikTok Shop ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม โมเดลการเร่งให้แพลตฟอร์มโตด้วยการกดราคาค่าธรรมเนียมให้ต่ำนี้อาจไม่ยั่งยืนนักเพราะมันทำให้ TikTok Shop ต้องแบกต้นทุนสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ และอาจทำได้ไม่นาน เพราะโมเดลการเผาเงินไปก่อนเพื่อสร้างฐานลูกค้าอาจเป็นอะไรที่ล้าสมัย และพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้บริษัทโตได้อย่างยั่งยืน ดูได้จาก Shopee และ Grab ที่ต่างเพิ่มกำไรหรือลดขาดทุนได้ด้วยการลดค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ด้วยความที่ผู้ใช้ TikTok ส่วนมากเป็นคนอายุน้อย จึงยังไม่มีกำลังซื้อมากพอ จนสร้างรายได้ที่สูงพอมาให้ TikTok Shop กลบการขาดทุนจากการกดค่าธรรมเนียมให้ต่ำได้
โดยจากความเห็นของนักวิเคราะห์ TikTok Shop มีศักยภาพพอเติบโตขึ้นมาเทียบเท่า Shopee และ Lazada ได้ แต่ไม่น่าจะเป็นเร็วๆ นี้ เพราะยังมีการจัดการระบบซื้อขายที่ยังไม่ดีเทียบเท่าแพลตฟอร์ม 2 เจ้าใหญ่ ที่พัฒนาระบบจนสะดวกสบายหมดแล้วทั้งการจองของ รีวิวของ และติดตามการส่งของ
ที่มา: CNBC