การบินไทยโชว์กำไรจากการดำเนินงาน 8,576 ล้านบาท รายได้รวม 37,381 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 20 ปีสำหรับไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น สะท้อนถึงความสามารถในการจัดการ และจะส่งผลถึงศักยภาพในการทำกำไรในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ด้วย และคาดการณ์ปีหน้าจะมีกระแสเงินสดพอเริ่มจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ได้
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย พบมีผลการดำเนินงานดีขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า จากการฟื้นตัวด้านดีมานด์ในภาคการท่องเที่ยว และการเพิ่มเที่ยวความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและจีน จนมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%
โดยจากรายงาน ผลการดำเนินงานของการบินไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นดังนี้
- ‘รายได้รวม’ (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี
- ‘กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน’ (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี
- ‘ค่าใช้จ่ายรวม’ (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
- ‘ต้นทุนทางการเงิน’ จำนวน 3,967 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจาก ‘การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ’ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,643 ล้านบาท
- กำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 9,307 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ จึงมีเงินสดคงเหลือเพิ่มขึ้นเป็น 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ทำให้การบินไทยน่าจะมีศักยภาพในการจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ในปีหน้าเป็นต้นไป
ในปัจจุบัน บริษัทและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยบริษัทเพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่น Airbus A350 จากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 และคาดว่าจะมี A350 อีก 9 ลำ และ Airbus 321 จำนวน 12 เข้ามาเสริมฝูงบินในปี 2567
นักท่องเที่ยวส่วนมากจากยุโรป คาดการเมืองไม่กระทบ
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (CEO) เปิดเผยว่า รายได้ในไตรมาสนี้ส่วนมากได้มาจากเที่ยวบินยาวไปประเทศแถบยุโรปและออสเตรเลีย คิดเป็น 37% และเที่ยวบินไปแถบเอเชียตะวันออก หรือที่การบินไทยเรียกว่าเอเชียเหนือ (North Asia) คือ เกาหลี ญี่ปุ่น คิดเป็น 33% แต่ดีมานด์จากญี่ปุ่นยังน้อยอยู่ ทำให้ต้องมีการร่วมมือกับสถานทูตไทยในญี่ปุ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งอดีตเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญยังดูไม่สดใส เพราะเศรษฐกิจของจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามคาด ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่ออกมาใช้เงินอย่างเต็มที่ ปัจจุบันมีไฟลท์ไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา วันละ 1 ไฟลท์ แต่ยังไม่มีแผนเพิ่มเป็น 2 ไฟลท์ หรือ 3 ไฟลท์ ต้องรอดูแนวโน้มการฟื้นตัวก่อน
โดยในไตรมาสที่ 3 ที่ยังถือว่าเป็นช่วงโลว์ซีซัน การบินไทยมีแผนจะโปรโมตเที่ยวบิน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยไปประเทศยอดนิยมต่างๆ เช่น เส้นทางไปเกาหลี ญี่ปุ่น และจะมีการเปิดขายบัตรล่วงหน้าให้กับเส้นทางยุโรป และออสเตรเลีย และคาดว่า เมื่อได้รับส่งมอบเครื่องบินจาก Thai Smile มาแล้วการเชื่อมต่อเส้นทางไปอินโดไชน่า หรืออาเซียนจะดีขึ้นมาก
นอกจากนี้ นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ของการบินไทย ยังกล่าวเสริมอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคงในขณะนี้ จะไม่ส่งผลกระทบมากต่อการดำเนินงาน เพราะยอดจองไฟลท์สำหรับปลายปียังเข้ามาดีอยู่ และนักท่องเที่ยวส่วนมากจะลงเครื่องที่กรุงเทพฯ แล้วต่อเครื่องไปเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ทันที ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่น่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
แผนรวมไทยสไมล์คืบหน้า มุ่งเปิดเส้นทางอาเซียนเพิ่มหลังโอนเครื่องบินครบ
สำหรับแผนนำสายการบินไทยสมายล์กลับเข้ามารวมกับบริษัท นายชาย ระบุว่า ได้มีการส่งมอบเครื่องบินมาให้ 4 ลำแล้ว ส่วนอีก 16 ลำน่าจะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ พร้อมกับมีการรับพนักงานจำนวนประมาณ 800 คนจากไทยสไมล์เข้ามาเป็นพนักงานของการบินไทย ทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 15,000 คน และถ้ามีการขยายฝูงบินน่าจะเพิ่มเป็น 17,000 คน
นอกจากนี้ ภายหลังจากได้เครื่องบินมาแล้ว การบินไทยมีแผนเปิดเส้นทางไปประเทศอาเซียน CLMV และอินโดไชน่ามากยิ่งขึ้น โดยมีจุดเปลี่ยนเครื่องที่กรุงเทพฯ และจะมีการเปิดเส้นทางกลางคืนไปอินเดีย หรือจีนตอนใต้ ความยาวไฟลท์ในระยะ 3 ชั่วโมงบิน เพื่อขยายเส้นทาง และใช้เครื่องบินที่มีให้มีประสิทธิผลสูงสุด