‘ปังชา’ กลายเป็นหนึ่งที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากเพจ Facbook ร้านลูกไก่ทอง ได้โพสว่า ทางแบรนด์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) "ปังชา" ภาษาไทย และ "Pang Cha" ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประกอบด้วย จดทะเบียนลิขสิทธิ์, จดทะเบียนสิทธิบัตร เรียบร้อยแล้ว
โดยระบุว่า ‘สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และ สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย’
SPOTLIGHT มาพาทุกคนมาเปิดประวัติเมนูปังชา น้ำแข็งใส รสชาไทยชื่อดัง พร้อมทั้งไขข้อสงสัย ข้อกฎหมายการจดลิขสิทธิ์และการจดทะเบียนสิทธิบัตร
กว่าจะมาเป็น’ปังชา’ เมนูของหวานชื่อดัง
- ‘ปังชา’ คือ บิงซู- น้ำแข็งใสรสชาไทย ที่ใส่ topping ด้วยขนมปัง ไข่มุก เม็ดป็อบเล็กๆ และวิปครีม ซึ่งเป็นเมนูขนมหวานยอดฮิตจากร้านลูกไก่ทอง
- ‘ปังชา’ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 2009 หรือประมาณ 14 ปีทีแล้ว โดยคุณแสงณรงค์ มนตรีวัต และ คุณกาญจนา ทัตติยกุล เจ้าของร้านลูกไก่ทอง ได้รับแรงบันดาลใจจากการอยากสร้างเมนูของหวานชูโรงของร้าน ประจวบเหมาะกับณ ช่วงนั้น เครื่องดื่มชาไทยได้รับความนิยม จนกลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตของโลก เลยเกิดความคิดว่า “ทำไมเราไม่นำชาไทยมาทำของหวานบ้างล่ะ”
- สูตรชาใช้เวลาคิดค้นนานกว่า 1 ปี กว่าจะได้ส่วนผสมที่ลงตัว ที่ให้รสชาติ หวาน มัน หอม เข้ม จนสุดท้ายได้ผสมผสานชา 5 ชนิดที่ลงตัว ด้วย Local Southern Thai Tea, Emperor Oolong Tea, Popular Red Tea, Leaf Black Tea, Ceylon Tea และใช้วิธีการต้มสด ชงใหม่ทุกวัน ไม่มีการใช้ชาผง เพื่อคงรสชาติความเข้มข้นชูจุดเด่นจากใบชาทุกตัว
- ปังชาถ้วยแรกเสิร์ฟที่ร้านสาขาทองหล่อ โดยทางร้านใช้วิธีการทดลองแจกให้ลูกค้าชิมฟรีก่อน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและข้อปรับปรุง ก่อนที่จะบรรจุไว้ในเล่มเมนูและเริ่มวางขายจริง
- เมนูปังชาได้รับความนิยม จนสามารถเปิดร้าน ปังชา คาเฟ่ เพื่อขายแต่เมนูของหวานจากร้านลูกไก่ทอง ซึ่งปัจจุบันร้านปังชา คาเฟ่ มี 10 สาขาทั่วประเทศไทย ขายได้มากกว่าวันละ 300 ถ้วย และมียอดขายรวมกว่า 15 ล้านบาทต่อเดือน
- ปังชา สามารถคว้ามิชลินไกค์ ฉบับประเทศไทย ถึง 4 ปีซ้อนด้วยกัน ตั้งแต่ปี 2018 -2021
เครื่องหมายการค้า คืออะไร
เครื่องหมายการค้า” (Trademark) เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการระบุ เพื่อจําแนกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ (อาจเป็นรูปแบบของสินค้าหรือการบริการ) เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
เครื่องหมายการค้าตามพ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 109 ระบุว่า บุคคลใดเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือ เครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น ที่ได้จดทะเบียนแล้ว ในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่า เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
โดยเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วจะมีอายุคุ้มครอง 10 ปีนับตั้งแต่วันยื่นคำของจดทะเบียน และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 10 ปีไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ถ้ายื่นคำขอต่ออายุหลังจากหมดอายุ 90 วัน จะถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นถูกเพิกถอนการจดทะเบียนทันที
การจดทะเบียนสิทธิบัตร คืออะไร
การจดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองการคิดค้นสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ (Invention) หรือ การออกแบบ ผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
ปังชา ได้รับคุ้มครองอะไรบ้าง
จากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า แบรนด์ปังชาได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า บริการรับรอง เครื่องหมายร่วมใช้ โดยมีสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองดังนี้
- ตัวอักษรที่เป็นแบบการเขียนพิเศษ
- ตัวอักษรในรูปแบบของลายเซ็น
- ผู้หญิงนั่งหรือคุกเข่า
- ผู้หญิงสวมชุดกิโมโน สาหรี เจลาบา ชุดไทย
- ตัวอักษรหรือตัวเลขที่เป็นรูปพืช
- ใบไม้ประเภทอื่น ๆ
- ใบไม้ในรูปแบบอื่นที่ไม่เป็นธรรมชาติ
- ใบไม้หนึ่งใบ
- อาหารที่ใส่ไว้ในจานและชาม
โดย ชื่อ เมนู ‘ปังชา’ และสูตรการทำของเมนู ‘ปังชา’ ได้รับการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว หากร้านอื่นที่ทำบิงซู- น้ำแข็งไสรสชาเย็น สามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีส่วนผสม และรสชาติที่เหมือนปังชา 100% ร่วมทั้ง 9 อย่างได้รับการคุ้มครอง
ที่มา : ลูกไก่ทอง