เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ รายงานผลประกอบการปีงบประมาณ 2024 ที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม พบว่า บริษัททำรายได้รวมที่ 45 ล้านล้านเยน หรือราว 10.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4% จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และรายได้จากการดำเนินการประมาณ 5.3 ล้านล้านเยน หรือ 1.25 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเพิ่มขึ้น 96.4%
ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านเยน หรือราว 1.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นสองเท่า โดยได้แรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าและความต้องการรถยนต์ไฮบริดที่พุ่งขึ้น นอกจากนี้ โตโยต้าได้ประกาศแผนการลงทุน 2 ล้านล้านเยน หรือ 0.47 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2025 เพื่อเสริมสร้างการจัดการซัพพลายเชน และความพยายามในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคต อย่างรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีไฮโดรเจน
โคจิ ซาโต ประธานของโตโยต้ากล่าวว่า “เราตั้งเป้าที่จะเพิ่มความพยายามในการใช้ Generative AI รวมถึงระบบการขับขี่อัตโนมัติ และจะตั้งเป้าที่จะขยายการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI ด้วย เมื่อมองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถทำงานบนพื้นฐานของธุรกิจได้”
ความต้องการรถยนต์ไฮบริดที่แข็งแกร่งและการปรับราคาในอเมริกาเหนือและยุโรป ทำให้รายได้จากการดำเนินงานของโตโยต้าเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านเยน เงินเยนที่อ่อนค่าลงก็ส่งผลให้กำไรในต่างประเทศเช่นกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่น่าพอใจทำให้รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีก 0.685 ล้านล้านเยน
ซึ่งโตโยต้าขายรถยนต์ได้มากกว่า 10.3 ล้านคันทั่วโลก รวมถึงแบรนด์หรูเลกซัส ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อน ส่วนยอดขายในเอเชีย ที่รวมทั้งจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ทำยอดใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 3.3 ล้านคัน
ถึงแม้จะมีผลลัพธ์ที่แข็งแกร่ง แต่บริษัทก็คาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปีประมาณ 3.6 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 0.85 ล้านล้านบาทสำหรับปีการเงินปัจจุบันที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งลดลง 27.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนกำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะลดลงเหลือ 4.3 ล้านล้านเยน หรือลดลง 19.7% ในขณะที่รายได้คาดว่าจะอยู่ที่ 46 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นเพียง 2%
นอกจากนี้ ซาโตกล่าวว่าโตโยต้าจะลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มูลค่าราว 0.38 ล้านล้านเยน รวมถึงซัพพลายเออร์ในปีงบประมาณปัจจุบัน เนื่องจากสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของผลลัพธ์ที่ดี คือซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งมาก และเพื่อให้บรรลุการเติบโตที่ยั่งยืน โตโยต้ามีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องและพัฒนาซัพพลายเชน
ด้านโยอิจิ มิยาซากิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน มองว่า การแข่งขันด้านราคาในตลาดจีนกำลังเลวร้ายลงและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งโตโยต้าจะพยายามไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในสงครามราคา เนื่องจากตลาดในปัจจุบันมีอุปทานล้นเกิน เนื่องด้วยแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูก ส่วนปลั๊กอินไฮบริดที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่า โตโยต้าจะสามารถใช้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งที่เป็น ‘ระยะเวลาที่ยั่งยืนไม่กี่ปี’ สำหรับบริษัท
ไม่เพียงเท่านี้ โตโยต้ายังเน้นย้ำว่า บริษัทกำลังเพิ่มการลงทุนในยานยนต์ที่เน้น AI และซอฟต์แวร์เป็นหลัก โดยคุณค่าของการคมนาคมยังคงดำเนินต่อไป และเปลี่ยนไปสู่การขนส่งที่ไม่ใช่รวมแค่ผู้คนและสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลและพลังงานด้วย โดยโตโยต้าวางแผนที่จะลงทุน 1.7 ล้านล้านเยน หรือเกือบ 5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณปัจจุบัน ในด้าน AI ไฮโดรเจน รถยนต์ EV และซอฟต์แวร์ ที่มีการเติบโตสูง
ส่วนการชะลอตัวของการเติบโตในตลาด EV ซาโตกล่าวว่า บริษัทจะรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘โซลูชันหลายทาง’ โดยมีเป้าหมายที่จะนำเสนอยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ EV ซึ่งต้องดูความต้องการที่แท้จริงของตลาดเพื่อตอบสนองต่อสิ่งนั้น ซึ่งขณะนี้ เทคโนโลยีการใช้พลังงานไฟฟ้ามีความก้าวหน้า และ ประเภทแบตเตอรี่ EV ที่โตโยต้าควรทำ ก็มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้บริษัทสามารถจัดการจังหวะการลงทุนได้
โดยย้ำว่า จุดยืนของโตโยต้าต่อรถยนต์ EV ‘ไม่เปลี่ยนแปลง’
ความต้องการรถยนต์ไฮบริดในตลาดนอกญี่ปุ่นของโตโยต้าได้รับความนิยมอย่างมาก และบริษัทยังวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย ที่ได้ประกาศแผนการลงทุน 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 51,390 ล้านบาทเพื่อเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานในสหรัฐฯ ในปี 2026 เมื่อเร็วๆ นี้
โคจิ เอนโด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ SBI Securities กล่าวว่า ทั้งโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นของญี่ปุ่นและจีน วางแผนที่จะเริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ใหม่ และขยายช่วงการแข่งขันด้านราคาในปี 2027 หรือ 2028 ทำให้โตโยต้าจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งใหม่ ในขณะที่ขายรถยนต์ไฮบริด