ธุรกิจการตลาด

บางกอกแอร์เวย์ส ทุ่ม 2.3 พันล้านบาท พัฒนา 2 สนามบิน สมุย-ตราด รองรับผู้โดยสาร-เที่ยวบินเพิ่ม

13 มิ.ย. 67
บางกอกแอร์เวย์ส ทุ่ม 2.3 พันล้านบาท พัฒนา 2 สนามบิน สมุย-ตราด  รองรับผู้โดยสาร-เที่ยวบินเพิ่ม

บางกอกแอร์เวย์ส ทุ่ม 2.3 พันล้านบาท พัฒนาสนามบินสมุยและตราด ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร สร้างเคาน์เตอร์เพิ่ม ขยายรันเวย์ เสริมศักยภาพรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบิน พบยอดจองครึ่งปีหลังเพิ่ม 13% สะท้อนการฟื้นตัวโดดเด่น

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า มีแผนการลงทุนเงินจำนวนทั้งหมดประมาณ 2.3 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาศักยภาพการให้บริการของสนามบินภายใต้การบริหาร กำหนดระยะเวลา 2-3 ปี โดยมี 2 โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการคือ โครงการพัฒนาสนามบินสมุย และโครงการพัฒนาสนามบินตราด

สำหรับ ‘สนามบินสมุย’ บางกอกแอร์เวย์สมีแผนใช้เงินลงทุน จำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อ

  1. ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสมุย เพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย (boarding gate) ภายในอาคารผู้โดยสาร จากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร
  2. เพิ่มเคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 10 เคาน์เตอร์ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ 

โดยในปัจจุบัน โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมการขออนุญาต รวมถึงการออกแบบในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยหลังจากปรับปรุงอาคาร สนามบินสมุยจะสามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลที่ต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในสนามบินสมุยจากปีละ 1 ล้านคน เป็นปีละ 2 ล้านคน

นอกจากนี้ บางกอกแอร์เวย์ส ยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยให้มากขึ้น จาก 50 เที่ยวบินต่อวันเป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน และเพิ่มสายการบินเข้าออกในสนามบินจากเดิมที่มีเพียง 2 สายการบิน คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และสายการบินสกู๊ต โดยในปัจจุบันมีหนึ่งผู้สนใจ คือ สายการบินทิเบต กำลังสนใจที่จะเปิดเส้นทางบินเข้าไปยังสมุย

สำหรับ ‘สนามบินตราด’ บางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้าลงทุนเงินประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่อ 

  1. สร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นเป็น 200 คน จากอาคารเดิมที่รองรับได้เพียง 100 คน โดยคาดว่าอาคารใหม่นี้จะใช้พื้นที่ประมาณ 200-300 ไร่ และอาคารเก่าจะถูกเปลี่ยนให้เป็นคลังเก็บสินค้า (cargo)
  2. ขยายระยะทางวิ่ง (runway) จาก 1,800 เมตร เป็น 2,000-2,100 เมตรเพื่อให้สนามบินรองรับเครื่องบินเครื่องบินไอพ่นขนาดเล็ก รวมถึงเครื่องบิน Boeing 737, Airbus A320 และ Airbus A319 ได้ด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินตราดให้สามารถรองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 

นาย พุฒิพงศ์เผยว่า บางกอกแอร์เวย์ส คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1-2 ปีในการดำเนินการปรับปรุงสนามบินตราดดังกล่าว โดยเริ่มการก่อสร้างในปี 2568 และแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2569 และการยกเครื่องครั้งใหญ่นี้จะเป็นการวางรากรากฐานที่สำคัญที่จะทำให้สนามบินตราดสามารถพัฒนาไปเป็นจุดหมายที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เหมือนท่าอากาศยานสมุย และท่าอากาศยานนานาชาติ (international airport) ได้ในอนาคต

 

ยอดจองครึ่งปีหลังเพิ่ม 13% แววโตสดใส วางแผนขยายฝูงบิน

นอกจากนี้ นางพุฒิพงศ์ ยังได้เผยแผนการดำเนินงานครึ่งหลังปี 2567 สำหรับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ว่า บริษัทมีการวางกลยุทธ์การดำเนินงานในหลายมิติ ทั้งผ่านการขยายความร่วมมือกับสายการบินต่างประเทศ ออกแคมเปญสนับสนุนการขาย และขยายฝูงบิน เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางในช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ข้อมูลชี้ว่าจะเติบโตได้ดีในปีนี้

โดยข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า อัตราการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 2567 เติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นที่ 17.2% และในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินจะสามารถกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดได้ 

นอกจากนี้ นายพุฒิพงศ์ ยังเผยอีกว่า ยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้า หรือ “advance booking” ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในทุกเส้นทางในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ซึ่งคิดเป็นเส้นทางสมุยในสัดส่วน 65% ยังมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

โดยหากแบ่งเป็นรายไตรมาส ยอดการสำรองบัตรล่วงหน้าจะเพิ่มขึ้นถึง 3% ในไตรมาสที่ 2 เพิ่มถึง 11% ในไตรมาสที่ 3 และเพิ่มถึง 35% ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น แสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ดี

แนวโน้มการเติบโตที่ดีนี้ทำให้ในไตรมาส 2 บริษัทได้ลงนามข้อตกลงในการให้บริการเที่ยวบินร่วมกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า (LH) และสายการบินสวิสแอร์ (LX) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของทั้งสองสายการบินในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วมกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ได้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 และกับสายการบินสวิสแอร์ ได้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 

สำหรับแคมเปญการขายและการตลาด บริษัทฯ มีแผนที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายในตลาดกัมพูชา เพื่อกระตุ้นการเดินทางและตอบความต้องการของผู้ที่เดินทางมายังประเทศไทยเป็นประจำ โดยเปิดตัวบัตรท่องเที่ยว “แคมโบเดีย ทราเวลพาส : Cambodia Travel Pass” ที่ทำให้นักเดินทางไปกลับไทย-กัมพูชาได้แบบไม่จำกัดเที่ยวบิน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจะเริ่มเปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 1 - 25 กรกฎาคม 2567 และสามารถสำรองที่นั่งหรือเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ถึง 31 กรกฎาคม 2568 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับอุปสงค์การเดินทางที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น ในปีนี้ บางกอกแอร์เวยสยังได้วางแผนการจัดหาเครื่องบินแบบ Airbus A319 เข้ามาเพิ่มในฝูงบินภายในปีนี้อีกจำนวน 2 ลำ โดยปัจจุบันมีเครื่องบินทั้งสิ้นจำนวน 24 ลำ โดยในปี 2567 มีแผนที่จะปลดระวางเครื่องบิน Airbus A320 จำนวน 1 ลำ 

นายพุฒิพงศ์ยังเผยอีกว่า ใน 2-3 ปีนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายฝูงบิน และจัดหาเครื่องบินเพิ่มอีกประมาณ 20 ลำภาย ซึ่งหากจัดหาได้ตามเป้า จะทำให้ในช่วง 3-5 ถัดไป ฝูงบินของบางกอกแอร์เวย์สจะมีเครื่องบินรวมประมาณ 30 ลำ เพิ่มขึ้น 6 ลำ จากปัจจุบัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT