Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ถึงยุคที่หวั่นไหวของประกันภัยรถยนต์ไทย?
โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ถึงยุคที่หวั่นไหวของประกันภัยรถยนต์ไทย?

8 ก.ค. 67
07:00 น.
|
902
แชร์

เรื่องร้อนของโลกธุรกิจตอนนี้คือค่ายรถยนต์ BYD ที่ประกาศหั่นราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ลดราคาสูงสุด  3.4 แสนบาท เกิดกระแสดราม่าในวงผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ที่ยังขับรถ ‘BYD ป้ายแดง’ ที่เพิ่งถอยออกจากศูนย์มาหมาดๆ ที่รวมกลุ่มกันเรียกร้องความเป็นธรรม จนร้อนไปถึงรัฐบาลต้องเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากนาทีที่ตกลงซื้อขายกันนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างเต็มใจด้วยกันทั้งคู่ด้วยเห็นว่าราคาที่ตกลงกันนั้นเป็นราคาทีดีที่สุด ณ ขณะนั้นแล้ว

และแวดวงรถอีวีก็เกิดประเด็นขึ้นมาอีกหลังจากมีข่าวว่าบางบริษัทจะไม่รับประกันภัยให้รถประเภทดังกล่าว ซึ่งล่าสุดทาง ‘คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย’ ก็ออกมาชี้แจงว่ายังรับทำประกันรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนเดิม เพียงแต่ยกเลิกเบี้ยกลางและจะพิจารณาการรับประกันเป็นรายๆไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะหยุดรับประกันภัยรถไฟฟ้าตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ตาม

เงื่อนไขใหม่คือทางคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัยจะต่ออายุประกันให้ลูกค้าปัจจุบันตามปกติซึ่งเบี้ยประกันจะพิจารณาจากประวัติการเคลมหรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ส่วนลูกค้ารายใหม่ ทางบริษัทจะขอระงับการใช้อัตราเบี้ยประกันสำเร็จรูปที่เคยประกาศไป และคำนวณเบี้ยประกันใหม่สำหรับแต่ละราย

แม้จะมีทางลงที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ภาวะปกติของตลาดประกันภัยเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประกันภัยรถยนต์เป็นตลาดที่แข่งขันดุเดือดมากที่สุด ต่างชิงไหวชิงพริบแย่งชิงลูกค้ากันมานาน จนเมื่อเกิดสงครามราคารถอีวี ส่งผลกับการประเมินราคารถและอะไหล่ การคำนวณทุนประกัน ลามไปถึงสมาคมประกันวินาศภัยต้องปรับโปรแกรมราคามาตรฐานกลางรถยนต์อย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยมองว่าทุนประกันรถอีวีลดลงปีละ 10% ก็ปรับมุมมองใหม่เป็นลดลงปีละถึง 30%

ไม่เรียกว่าปั่นป่วนก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร

ประกันรถยนต์ไฟฟ้า

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เบี้ยประกันภัยรถยนต์โดยสมัครใจคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งหมด ด้วยมูลค่าถึง 1.41 แสนล้านบาท โดยเมื่อปลายปี 2566 สมาคมประกันวินาศภัยไทยยังเห็นดีเห็นงามกับโมเมนตัมของรถยนต์อีวีที่มาแรง โดยคาดว่าจะช่วยดันให้เบี้ยประกันเติบโต 5-6% บนสมมติฐานที่ว่ารถอีวีจะขายได้ 1 แสนคันในปี 2567

มาถึงตอนนี้คงต้องยอมรับความจริงว่ามันไม่ง่ายเลย เมื่อยอดขายรถยนต์ชะลอตัวลงจนน่าตกใจ จากกำลังซื้อของคนไทยที่อ่อนแอ ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยง ข่าวรถมือสองราคาตกต่ำพร้อมกับรถถูกยึดเพราะเจ้าของผ่อนไม่ไหวเพิ่มจำนวนสวนทางมากขึ้น

เมื่อพิจารณาอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของประกันภัยรถยนต์ย้อนหลัง 5 ปี ระหว่างปี 2562-2566 พบว่าสูงถึง 60% นั่นหมายถึงเบี้ยประกันที่บริษัทรับมา 100 ส่วน ต้องจ่ายออกไปเพื่อใช้เป็นค่าสินไหมถึง 60 ส่วน ยังไม่หักต้นทุนการดำเนินธุรกิจอื่นๆอีก บ่งชี้ว่าประกันภัยรถยนต์นี้เป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง แต่กำไรต่ำมาก ตัวเลือกเต็มไปหมด ลูกค้าพร้อมเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นที่เสนอเบี้ยประกันต่ำกว่าได้แทบจะทันทีเมื่อต้องต่อประกันปีถัดไป

และจากสถิติล่าสุดไตรมาส 1/2567 พบว่ามีประกันภัยรถยนต์โดยสมัครใจ 3.3 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกัน 3.6 หมื่นล้านบาท โดยมีค่าทดแทนสินไหมสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนอัตราเสียหาย 60% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาและตอกย้ำว่าประเทศไทยยังมีสถิติบนท้องถนนสูงระดับโลก

เรื่องความเสี่ยง ของการรับประกันภัยรถอีวีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ผู้รับประกันภัยทั่วโลกต่างก็กังวลและพยายามหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งทาง Swiss Re บริษัทรับประกันภัยต่อ คาดการณ์ว่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เติบโตด้วยตัวเลขสองหลักสอดคล้องกับยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าโดยคาดว่ามูลค่าเบี้ยประกันภัยรถ EV จะแตะ 2แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 7.3 ล้านล้านบาทภายในปี 2030

Swiss Re จึงแนะนำว่าบริษัทรับประกันภัยและผู้ผลิตรถยนต์ควรจะจับมือกัน รวมทั้งแบ่งปันข้อมูลเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถ้าคิดราคาเบี้ยประกันสูงเกินไปก็จะแข่งขันได้ยากแต่ถ้าต่ำเกินไป ก็จะต้องขาดทุนกับค่าสินไหมที่แพงแสนแพงได้ 

ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับธุรกิจประกันภัยแล้ว เมื่อรับเงินเบี้ยประกันภัยมาก็ต้องนำไป ประกันต่อรวมทั้งลงทุนให้เกิดผลตอบแทนงอกเงย ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยไทยส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากคิดเป็น 70% ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับว่าผลตอบแทนการลงทุนจากสินทรัพย์เหล่านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่หวือหวาสักเท่าไหร่ ขณะที่รับเบี้ยประกันภัยรถอีวีมา จะนำไปประกันต่อก็ไม่ง่ายเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันรถยนต์แบบดั้งเดิม พอประเมินสถานการณ์ ’ได้ไม่คุ้มเสีย’ จากค่าซ่อมรถไฟฟ้าที่แพงรวมทั้งราคารถใหม่อาจจะต่ำกว่าทุนประกันเดิมที่ตกลงกับลูกค้าไป เป็นใครก็ต้องกลัวความเสี่ยงเอาไว้ก่อนทั้งนั้น ตัวอย่างของ’สินมั่นคงประกันภัย’กับประกันโรคโควิด-19 มีให้เห็นเด่นชัดขนาดนี้ ใครจะไม่กลัวบ้าง?

คลิ๊กอ่านบทความอื่นๆที่เขียนโดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

แชร์
ถึงยุคที่หวั่นไหวของประกันภัยรถยนต์ไทย?