ธุรกิจการตลาด

หุ้น 'ไหตี่เลา' ร่วงกว่า 20% เหตุศก.ไม่ดี คนจีนประหยัด เน้นกินข้าวในบ้านมากกว่า

20 ก.ค. 67
หุ้น 'ไหตี่เลา' ร่วงกว่า 20% เหตุศก.ไม่ดี คนจีนประหยัด เน้นกินข้าวในบ้านมากกว่า

มูลค่าหุ้นของ ‘ไหตี่เลา’ (Haidilao) และ ‘ยัมไชน่า’ (Yum China) เครือร้านอาหารดังในจีนและฮ่องกง ร่วงลงกว่า 20% ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จากดีมานด์ในการกินดื่มอาหารนอกบ้านที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคจีนไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจ จึงมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ด้วยการกินอาหารในบ้านมากขึ้น

เป็นที่รู้กันดีว่า เศรษฐกิจของจีนยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จากการระบาดของโควิด-19 วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย และสภาวะในตลาดแรงงานที่ไม่มั่นคง ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของจีน  จนประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอย โดยเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 เติบโตเพียง 4.7% ซึ่งต่ำกว่าคาด และเป็นอัตราที่ช้าที่สุดใน 5 ไตรมาส

สภาพเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวนี้สะท้อนออกมาในผลประกอบการของบริษัทจีนที่ย่ำแย่ลง รวมถึงเครือร้านอาหารใหญ่ในจีน อย่าง ‘ไหตี่เลา’ (Haidilao) และ ‘ยัมไชน่า’ (Yum China) เจ้าของเชนฟาสต์ฟู้ด เช่น KFC ในจีน ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคในจีนเลือกกินอาหารในบ้านมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในหุ้นกลุ่มอาหารในจีน และทำให้มูลค่าหุ้นของธุรกิจอาหารลดลงเป็นอย่างมาก

โดยตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นของธุรกิจอาหารเหล่านี้ลดลงแล้วมากกว่า 20% นำโดยหุ้นของไหตี่เลาลดลงถึง 37.4% จาก 18.06 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น ในวันที่ 2 เมษายน มาอยู่ที่เพียง 13.14 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น ในวันที่ 19 กรกฎาคม ขณะที่หุ้นของยัมไชน่าลดลงถึง 24.7% จาก 40.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น มาอยู่ที่ 30.27 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น

สภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีท่าทีจะฟื้นตัวทำให้นักวิเคราะห์หั่นคาดการณ์รายได้ของธุรกิจอาหารลง โดยนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิของ ‘นายูกิ’ (Nayuki) เจ้าของเชนร้านชาไข่มุกชื่อดังในจีนจะลดลงถึง 80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจากต้นเดือนเมษายน มูลค่าหุ้นของนายูกิลดลงแล้วถึง 27.8%

นอกจากนี้ แม้ในปัจจุบันธุรกิจอาหารในจีนจะพยายามออกโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมากมายเพื่อดึงลูกค้า เช่น ยัมไชน่า ที่เปิดตัวเซ็ตเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ และเครื่องดื่ม ราคาประหยัดเพียง 20 หยวน (ราว 100 บาท) และร้านหม้อไฟที่เปิดตัวบุฟเฟต์ 19.9 หยวน (ราว 99 บาท) นักวิเคราะห์ก็มองว่ากลยุทธ์นี้จะไม่ส่งผลดีนักต่อธุรกิจในระยะยาว เพราะดึงลูกค้าได้น้อย และยังทำให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรน้อยลงในอนาคต

ยอดขายสินค้าหรูในจีนร่วง เซ่นพิษเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นอกจากอาหารแล้ว อีกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจจีนไม่แพ้กันก็คือสินค้าแบรนด์เนมหรูต่างๆ ที่ยอดขายและกำไรลดลงกันถ้วนหน้าในปี 2024 ทำให้มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมสินค้าหรูลดลงแล้วเกือบ 2 แสนยูโรในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะผู้บริโภครายได้ปานกลางในจีน ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของสินค้าหรูหราทั่วโลก โดยยอดขายสินค้าหรูในจีนคิดเป็นถึง 16% ของยอดขายสินค้าหรูทั่วโลกในปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่สูงมากสำหรับยอดขายจากประเทศเดียว

อย่างไรก็ตาม หลังเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซากระทบการใช้จ่าย ยอดขายของสินค้าหรูในจีนก็ลดลงเป็นอย่างมาก โดยในไตรมาสที่ 2 ยอดขายของแบรนด์อย่าง Burberry และ Hugo Boss ในจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ลดลงถึง 27% 

ยอดขายที่ของสินค้าหรูที่ลดลงในจีนและทั่วโลกทำให้มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมสินค้าหรูลดลงถึง 1.8 แสนล้านยูโร โดย 8.5 หมื่นล้านยูโรในนั้นเป็นมูลค่าของบริษัท LVMH เครือแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton, Dior และ Tiffany & Co

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็ส่งผลต่อแบรนด์หรูราคาระดับกลางที่เป็นที่นิยมของผู้มีรายได้ปานกลางในจีนเท่านั้น เพราะแบรนด์สำหรับผู้มีรายได้สูงระดับ ultra-rich อย่าง Hermes และ Brunello Cucinelli ยังทำผลประกอบการได้ดีอยู่ เนื่องจากลูกค้าหลักของแบรนด์กลุ่มนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ

โดยขณะที่คาดการณ์ยอดขายของแบรนด์หรูอื่นมีแนวโน้มลดลง Hermes คาดว่าจะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นถึง 13% ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ Brunello Cucinelli แบรนด์หรูจากอิตาลีรายงานยอดขายสำหรับครึ่งปีแรกเติบโตถึง 15% จากแรงซื้อของลูกค้ารายได้สูงในจีน

 

 

ที่มา: Bloomberg, Reuters

advertisement

SPOTLIGHT