Sony Group เตรียมตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย เพื่อผลิตเซนเซอร์สำหรับรถกล้องตรวจจับที่ใช้ในรถยนต์ไร้คนขับ เพื่อควบคุมต้นทุน และกระจายฐานการผลิตไปทั่วโลกเพื่อลดความเสี่ยงด้านซัพพลายเชน
Sony เตรียมใช้งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านเยน (2,544 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2025
โรงงานดังกล่าวจะเป็นฐานการผลิตชิปสำหรับใช้ในเซนเซอร์ตรวจจับภาพสิ่งกีดขวางและคนเดินถนน ของรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างกำลังการผลิตใหม่ให้กับ มากถึง Sony 70% เกิดการจ้างงานมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง ณ โรงงานแห่งนี้
สำหรับกระบวนการการผลิตเซนเซอร์นั้น ส่วนที่เป็นการสร้างวงจรลงบนเวเฟอร์ (Front-end) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต จะถูกทำที่ญี่ปุ่น แล้วส่งต่อมาขั้นตอน Back-end ซึ่งจะเปลี่ยนเวเฟอร์ให้กลายเป็นชิป ในประเทศไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เหล่านี้จะถูกส่งออกไปยังประเทศทั่วโลก
ณ ตอนนี้ กระบวนการผลิตทั้งสองขั้นตอนเกิดขึ้นที่โรงงาน Sony ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระบวนการขั้นตอน Front-end ต้องใช้ทักษะขั้นสูง ส่วนขั้นตอน Back-end ต้องใช้กำลังคนในการผลิตจำนวนมาก เพื่อควบคุมต้นทุนให้เหมาะสม Sony จึงจะย้ายฐานการผลิตในส่วน Back-end มายังประเทศไทย ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าญี่ปุ่น
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้เกิดวิกฤต ‘ขาดแคลนชิป’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ Sony จึงต้องการกระจายฐานการผลิตเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับซัพพลายเชนของตน ให้สามารถส่งสินค้าต่อไปได้ แม้เกิดวิกฤตรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต
โดยนอกจาก Sony แล้ว ผู้ผลิตชิปรายสำคัญของโลกอย่าง Intel ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการกระจายฐานการผลิตเช่นเดียวกัน
แม้สถานการณ์การขาดแคลนชิปในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำพวกคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนจะบรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งนับวันจะเข้าสู่โลกดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีตัวช่วยขับรถ และรถยนต์ไร้คนขับ กลับมีความต้องการชิปสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลาดเซนเซอร์ชนิด CMOS (Complementary metal–oxide–semiconductor) ซึ่งเป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในอุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นถึง 30% จากปี 2021 สู่ปี 2026 แตะระดับ 2.69 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเกือบแสนล้านบาท โดย Sony เป็นเจ้าใหญ่ในตลาด ครองส่วนแบ่งราวครึ่งหนึ่ง แถมยังเป็นซัพพลายให้กับแอปเปิล ในการผลิตไอโฟนอีกด้วย
ที่มา : Nikkei Asia