ภาวะอากาศร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ บางจังหวัดมีอุณหภูมิมากว่า 50 องศากันเลยทีเดียว และยังมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ให้เราใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นเท่านั้น ความต้องการมีเครื่องปรับอากาศไว้ในบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เห็นได้จากตัวเลขการผลิตเครื่องปรับอากาศในเดือนมีนาคม 2565 สูงสุดในรอบ 8 ปี โดยดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 144.39 เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดันส่งออกขยับขึ้นแท่นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน และคาดว่าจะยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไทยขึ้นแท่นยอดส่งออกแอร์เป็นอันดับ 2 ของโลก
“ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ปี 2566 ขยายตัวโดดเด่น รับฤดูร้อน หลังอุณหภูมิพุ่ง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากที่มีการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่รองรับความสะดวกและตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตต่อเนื่อง หนุนความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ชี้การผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดในรอบ 8 ปี ดันส่งออกเครื่องปรับอากาศขยับขึ้นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน”นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)กล่าว
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการผลิต ได้แก่ สภาพอากาศร้อน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะไทยที่ในเดือนเมษายนของทุกปีที่คาดการณ์อุณหภูมิจะปรับขึ้นสูงสุด โดยในปีนี้อุณหภูมิในบางพื้นที่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส
รวมถึง ได้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่มีความสามารถในการดักจับฝุ่น PM 2.5 กรองละอองสารพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นควันทั้งในกรุงเทพมหานครและเขตภาคเหนือ ควบคู่กับการประหยัดพลังงาน รวมถึง การนำ AI เข้ามาใช้การควบคุมอุณหภูมิห้องหรือรับคำสั่งผ่านระบบอัจฉริยะ ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การระมัดระวังในการใช้จ่ายและเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณสมบัติช่วยประหยัดไฟ ราคาย่อมเยา ผลิตในประเทศ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เช่น โครงการ คอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว โดยมีอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2566 จำนวน 8,336 หน่วย ขยายตัว 95.7% จากเดือนก่อน
3 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกแอร์พุ่ง 12.85%
ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 2,272.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 12.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลักของเครื่องปรับอากาศไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน ตะวันออกกลาง และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนรวม 80% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศของไทย แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 75% และผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศประมาณ 25%
“ ไทยมีสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศมีทิศทางและแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่น จึงทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ที่มีการก่อสร้างใหม่ที่ทำให้ความต้องการซื้อเพื่อนำไปใช้ส่งเสริมการขาย สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศยังเดินหน้าต่อไปได้ดี ขณะที่การส่งออกไปต่างประเทศมองว่าไทยยังคงยืนหนึ่ง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง” นางวรวรรณกล่าว
มูลค่าตลาดแอร์ในไทยปีนี้โตประมาณ 10% จาก 3.2 หมื่นล้านบาท
นายวีรพล สวรรค์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท อีมิเเน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด กล่าวกับ “SPOTLIGHT” ว่า ปีนี้ตลาดเครื่องปรับอากาศกลับมามีความคึกคักขึ้นอีกครั้ง โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ ตลาดแอร์กลับมามีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในประเทศ จาก 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ
เปิดแบรนด์ TOP 3 ในไทย
ปัจจุบันแบรนด์เครื่องปรับอากาศที่มียอดขายดี และเป็นที่นิยมในประเทศไทยใน 3 อันดับแรก ก็คงหนีไม่พ้นแบรนด์จากญี่ปุ่น ได้แก่ มิตซูบิชิ ไดกิน และแคเรียร์ ที่ในปีที่ผ่านมามียอดขายสูงสุด โดยมูลค่าตลาดแอร์ในประเทศที่ 32,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็นแอร์บ้าน หรือแอร์ที่ใช้ในครัวเรือนประมาณ 60% และอีก 40% เป็นแอร์ที่ใช้สำหรับโครงการ
3 เดือนแรก อีนิแน้นท์แอร์ ยอดขายโต 10-15%
โดย บริษัท อีมิเเน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แบรนด์ไทย ที่มีโรงงานการผลิตแอร์ในประเทศเอง และมีการผลิตแอร์ที่ขายในประเทศ ผ่านดีลเลอร์ทั่วประเทศ และการผลิตแบบ OEM เพื่อให้แบรนด์อื่นส่งออกไปยังต่างประเทศนั้น นายวีรพล กล่าวว่า ปีนี้อีมิแนน้นท์แอร์มีการเติบโตเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ซึ่งบริษัทติดอยู่ใน 1 ใน 10 แบรนด์แอร์ในเรื่องยอดขายในประเทศ หรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 4-5%
โดย 3 เดือนแรก อีนิแน้นท์แอร์ ยอดขายโต 10-15% การเพิ่มขึ้นของยอดขายนั้น มาจากทั้งในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ในแถบ EEC และโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาขยายลงทุนอีกครั้ง และยอดขายในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และในปีนี้บริษัทก็เพิ่มงบการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในภาคประชาชน ซึ่งปีนี้เป็นปีครบรอบ 45 ปีของบริษัท