Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ใครจะได้เป็นประธานบอร์ดธปท. เมื่อกิตติรัตน์เสี่ยงถูกตีความขาดคุณสมบัติ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ใครจะได้เป็นประธานบอร์ดธปท. เมื่อกิตติรัตน์เสี่ยงถูกตีความขาดคุณสมบัติ

27 ธ.ค. 67
16:00 น.
|
44
แชร์

ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และตัวเต็งที่ถูกเสนอชื่อโดยกระทรวงการคลังคือ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยอมรับให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ  แต่อย่างไรก็ตามในสัปดาห์นี้มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า  ‘คุณกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติเพราะเป็นนักการเมือง’  

ความคืบหน้าล่าสุดคือ การรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง ที่ก่อนหน้านี้ทั้งคุณ พิชัย ชุณหวชิร ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า กำลังรอหนังสือแจ้งจากทางคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการก่อน เช่นเดียวกับนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย บอกตรงกันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

ใครจะเป็นประธานบอร์ด ธปท. คนต่อไป ? 

คำตอบของคำถามนี้คงขึ้นอยู่กับการพิจรณาตีความ “ความเป็นนักการเมือง” เนื่องจากเกณฑ์คุณสมบัติของการเป็นคณะกรรมการ ธปท. ต้องไม่เป็นนักการเมือง  หรือต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี  ส่วนสถานะของคุณกิตติรัตน์ ที่ต้องมีการตีความ เพราะเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยรายละเอียดบันทึกการประชุมของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ประชุมร่วม 3 คณะ มติเสียงข้างมากว่า นายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย

มุมมองของนายกรัฐมนตรี หรือ กระทรวงการคลัง ที่รอหนังสืออย่างเป็นทางการของคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่างมีความเห็นตรงกันว่า หากขาดคุณสมบัติจริงก็อาจต้องมีการเสนอรายชื่อใหม่ ซึ่งผู้เสนอชื่อในฝั่งกระทรวงการคลังคือ ปลัดกระทรวงการคลัง หรือ จะไม่มีการเสนอชื่อใหม่ก็เป็นไปได้เช่นกัน  

ขณะเดียวกันดูเหมือนการตีความคุณสมบัติของความเป็นนักการเมืองนั้น ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า หากกฤษฎีกามีความเห็นว่าคุณ กิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติเพราะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกุลิศ สมบัติศิริ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับถัดไปจาก ธปท.จะถือว่าขาดคุณสมบัติเช่นกัน เพราะนายกุลิศ ก็เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับนายกิตติรัตน์ผู้ว่าฯ ธปท. จะต้องเสนอชื่อใหม่ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

สำหรับการประชุมของคณะกรรมกฤษฎีกา 3 คณะ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาประกอบด้วยคณะที่ 1 มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะหลัก คณะที่ 13 มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการอภิปรายเห็นด้วย ส่วนเสียงที่ไม่เห็นด้วย คือ นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกาในคณะที่ 2 

บทบาทหน้าที่ของ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย 

ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. คนต่อไปจะเป็นคนที่ 5 โดยในอดีตที่ผ่านมามีรายชื่อประธานบอร์ด ธปท.ดังนี้
คนที่ 1 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
คนที่ 2 ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
คนที่ 3 นายอำพน กิตติอำพน
คนที่ 4 นายปรเมธี วิมลศิริ
ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตราที่บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไว้ดังนี้มาตรา 25  คณะกรรมการธปท. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการและการดำเนินการของ ธปท. โดยรวม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7  เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน 

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ธปท. ยังมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ อีก ดังต่อไปนี้

  • พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินกิจการและการดำเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ
  • กำหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคคล
  • กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน   
  • กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา 17 ผู้ว่าการ พนักงาน และลูกจ้าง
  • กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจ การรักษาการแทน การบริหารงานหรือดำเนินกิจการอื่นใด
  • กำหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง   
  • กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการให้กู้ยืมเงิน การสงเคราะห์ และให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
  • กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6   
  • พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งและการเลิก สาขาหรือสำนักงานตัวแทน
  • กำหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา 55
  • กำกับดูแลการจัดทำงบการเงิน รายงานประจำปี และรายงานอื่นๆ ของ ธปท. ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัตินี้   
  • ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
แชร์
ใครจะได้เป็นประธานบอร์ดธปท. เมื่อกิตติรัตน์เสี่ยงถูกตีความขาดคุณสมบัติ