Bolt แอปเรียกรถสัญชาติยุโรป เป็นแอปรถเรียกรถ ‘สีเขียว’ รายล่าสุดที่เตรียมอัดฉีดงบ ลุยสมรภูมิแอปเรียกรถในเมืองไทย หลังให้บริการในไทยมาตั้งแต่ปี 2020 พร้อมแต่งตั้งผู้บริหารคนไทย และเตรียมขยายจำนวนคนขับบนแพลตฟอร์มมากขึ้นเป็น 2 เท่า
Bolt ประกาศลงทุนระยะสั้นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท โดยเงินทุนดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อขยายบริการ Bolt ในประเทศไทย และช่วยเพิ่มจำนวนคนขับบนแพลตฟอร์มเป็น 2 เท่า ภายในสิ้นปีนี้ นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญตลอดระยะการให้บริการราว 3 ปี ในประเทศไทย
ล่าสุด บริษัทได้แต่งตั้งนาย ณัฐดนย์ สุขศิริฐานันท์ ขึ้นเป็นผู้จัดการของ Bolt ประจำประเทศไทย ซึ่งนายณัฐดนย์ ผู้นี้ เป็นอดีตผู้จัดการมือดีที่ Bolt ดึงตัวมาจาก Ernst and Young ประจำประเทศไทย เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์, การเงิน และการวิเคราะห์ธุรกิจต่างๆ โดยนายณัฐดนย์กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทในครั้งนี้ว่า
“เรามุ่งมั่นที่จะให้ประสบการณ์การบริการที่มีคุณภาพแก่ผู้โดยสาร และคนขับรถ เป้าหมายสูงสุดของเราคือช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนจากรถส่วนตัวเป็นการเคลื่อนที่ร่วมกัน และสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้มากขึ้นในไทย”
บริการของ Bolt ในประเทศไทยนั้น ครอบคลุมบริการเรียกรถแท็กซี่, รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และจักรยานยนต์ มีคนขับในระบบหลักพันคน โดย Bolt เป็นแพลตฟอร์มรายที่ 7 ในไทยที่ได้รับหลังจากที่บริษัทได้รับการรับรองเป็นผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์จากกรมการขนส่งทางบกเมื่อ วันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
เมื่อเทียบกับเจ้าตลาดสีเขียวเหมือนกันอย่าง ‘Grab’ จะพบว่า ในการเรียกรถต่อครั้ง ค่าเรียกรถที่ผู้โดยสารต้องจ่ายให้กับ Bolt นั้นยังมีราคาถูกกว่า หนึ่งสาเหตุมาจากการที่ Bolt นั้นไม่ได้หักค่าคอมมิชชั่นจากค่าเรียกรถแต่อย่างใด ราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายตามที่แพลตฟอร์มกำหนดให้นั้น จึงเท่ากับราคาที่คนขับจะได้รับ
แต่ก็เป็นดังที่หลายคนคาด หลังจากที่ Bolt ‘ใจดี’ มาพักใหญ่ ล่าสุดก็ได้ประกาศเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% จากผู้ขับ โดยเริ่มใช้จริงแล้วในวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย Bolt เปิดเผยผ่านจดหมายที่ส่งให้กับคนขับบนแพลตฟอร์มว่า
“เราจะเก็บค่าคอมมิชชัน 15% ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ระบบนี้จะช่วยให้เราสามารถมอบสิทธิประโยชน์ที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้ นอกเหนือจากการให้บริการที่ดีที่สุดในประเทศไทยด้วยมาตรฐานคุณภาพสูงสุด และรักษาปริมาณการเดินทางที่คุณคุ้นเคย”
ทีมข่าว SPOTLIGHT ได้ติดตามเสียงตอบรับจากคนขับ Bolt จากในกลุ่ม Facebook ที่คนขับรถบนแพลตฟอร์มรวมตัวกันสร้างขึ้น พบว่า เริ่มมีความเป็นห่วงในเรื่องรายได้ต่อวันที่จะลดลง จากค่าคอมมิชชั่นที่ถูกหัก 15% และส่วนลดที่มอบให้กับลูกค้า
คนขับบางรายเผยว่า หากไม่โอนค่าคอมมิชชั่นให้ Bolt นั้น จะถูกบล็อคบัญชีให้ไม่สามารถให้บริการรับลูกค้าได้ ใช้เวลานานกว่าจะปลดบล็อคได้ จึงแนะนำว่าให้รีบโอนค่าคอมมิชชั่นให้กับแพลตฟอร์มหลังจบงาน
หากเทียบกับแพลตฟอร์มเจ้าตลาดแล้ว ค่าคอมมิชชั่นที่ Bolt หัก 15% นั้นยังน้อยกว่าเจ้าตลาดอย่าง Grab ที่หัก 25% แต่ทางฝั่ง Grab นั้นมีจำนวนคนขับบนแพลตฟอร์มมากกว่า และมีระบบโครงสร้างที่ใหญ่กว่า จากการที่เข้ามาทำตลาดในไทยเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว
ธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างบริการเรียกรถ ฟู้ดเดลิเวอรี่ และอีคอมเมิร์ซ แม้ยังถือว่าเป็นธุรกิจใหม่แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมา ก็เพียงพอที่จะทำให้เราเริ่มเห็นวัฏจักรการดำเนินไปของธุรกิจบ้างแล้ว เริ่มจากการเป็นสตาร์ทอัป ‘เผาเงิน’ อัดโปร กระหน่ำส่วนลด เพื่อดึงดูดลูกค้า สร้างพาร์ทเนอร์ให้เข้ามาในแพลตฟอร์มให้ได้มากที่สุด ในขั้นนี้ ‘ใครอ่อนแอก็แพ้ไป’ ใครสายป่านยาวไม่พอก็ต้องล้มหายตายจากไปตามระเบียบ
จากนั้นเมื่อมีฐานลูกค้ามากเพียงพอ บริษัทก็จะเปลี่ยนเข้าสู่เฟสของการเร่งลดการขาดทุน ลดจำนวนการแจกส่วนลด ขยับค่าคอมมิชชั่น เปิดบริการสมัครสมาชิกรายเดือน เพื่อคงไว้เฉพาะลูกค้าขาประจำที่คุ้นเคยกับแพลตฟอร์มและมีแนวโน้มจะยอมจ่ายแพงกว่า ยอมตัดลูกค้าขาจรทิ้ง รวมถึงรับแรงปะทะจากพาร์ทเนอร์ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่จะไม่อู้ฟู่เท่าเดิม
Bolt ยังถือว่า เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในเมืองไทย ต้องคอยติดตามว่า จะก้าวข้ามผ่านแต่ละเฟสไปได้ช้าเร็วแค่ไหน หรือจะมีลูกเล่นอะไรที่จะทำให้บริษัทขยับจากโหมดเข้าเนื้อ สู่โหมดได้กำไรแบบที่ไม่มีใครต้องบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บน้อยที่สุด