“เชื่อมั้ยครับว่าผมเคยเป็นคนที่กลัวการพูดต่อหน้าที่สาธารณชนมากๆ”
รูปนี้ถ่ายขึ้นจากการออนสเตจครั้งแรกของผมครับ ครั้งนั้นคือตอนที่ผม ตัดสินใจเอาชนะความกลัว แล้วพาตัวเองขึ้นไปพูดเวทีต่อหน้าคนเยอะๆเป็นครั้งแรก ก่อนหน้าวันงาน ผมต้องซ้อมหน้ากระจกมากกว่า 20 รอบ เพื่อท่องและจดจำทุกคำ ทุกประโยคจากในกระดาษที่ผมได้ทำโน๊ตไว้ (กระดาษที่ผมถือในรูปนั่นแหล่ะครับ)
แม้ว่าจะกลัว ประหม่า หรือไม่ชอบมากแค่ไหนก็ตาม แต่ผมตระหนักดีว่า ทักษะการพูดนี้ มีความจำเป็นอย่างมากต่อการเป็นผู้ประกอบการ และนักธุรกิจ ผมจึงรวบรวมความกล้า เพื่อจะเอาชนะใจตัวเอง พาตัวเองหลุดจาก Comfort Zone ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจว่าจะต้องเอาชนะความกลัวนี้ไปให้ได้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมพูดไปมากกว่า 1,000 เวที กาลเวลาและการเอาชนะความกลัวได้เปลี่ยนผมให้กลายเป็นคนที่สนุกกับการพูดต่อหน้าสาธารณะ เป็นวิทยากรและอะไรอีกหลายๆอย่างที่ผมเคยคิดว่าทำไม่ได้ ยิ่งเราฝึกฝนมากขึ้นเท่าไหร่ ทักษะที่เรามีก็ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น
ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองว่าการที่เราจะประสบความสำเร็จในสิ่งหนึ่งได้ เราต้องกล้าที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองกลัวบ่อยๆ แล้ว Comfort Zone ของเราจะขยายใหญ่ขึ้น ตัวเราเองอาจสังเกตไม่ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้นในทันที เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทีละนิดตามกาลเวลาที่เราฝึกฝน แต่เมื่อคุณย้อนมองกลับไป คุณจะตระหนักได้ว่า คุณมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากแค่ไหนแล้ว
นี่คือข้อความจาก ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ............ นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แทบไม่มีใครทราบมาก่อนว่า คุณท็อป จะเคยมีโมเม้นท์ที่กลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชน เพราะสิ่งที่เราได้เห็นในปัจจุบัน ท็อปสามารถพรีเซ้นท์วิธีคิด เรื่องใหม่ เรื่องที่ซับซ้อน อย่าง บิตคอยน์ได้เป็นอย่างดีจนทำให้ทุกวันนี้ Bitkubเองก็ครองมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ1 ในประเทศ คุณท็อป ได้โพสข้อความนี้เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ในวันเกิดเค้านี่เอง
‘Personal Branding’ คือ กลยุทธทางการตลาดที่สร้างให้บุคคลเป็นที่จดจำ และมีแบรนด์ที่แข็งแรงของตัวเองหลากหลายแบรนด์จึงสร้าง Personal Braning ให้กับผู้นำขององค์กร แล้วเชื่อมโยงบุคคลนั้นๆ เข้ากับแบรนด์ขององค์กร เมื่อไรก็ตามที่นึกแบรนด์แล้ว ‘ตัวชูโรง’ ของแบรนด์นั้นก็จะโผล่ขึ้นมาด้วยแบบช่วยไม่ได้ ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำได้ง่ายมากขึ้น
ยกตัวอย่างแบรนด์ในต่างประเทศ เช่น เมื่อนึกถึง Meta ก็ต้องนึกถึง ‘มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก’ นึกถึง แอปเปิล ก็ต้องนึกถึง สตีฟ จ๊อบส์ หรือ ทิม คุก และเมื่อนึกถึงเทสลา แน่นอนว่าจะนึกถึง อีลอน มัสก์
ในไทยเองก็มีหลายแบรนด์นำกลยุทธนี้มาใช้ เช่น ‘คุณตัน ภาสกรนที’ แห่งแบรนด์อิชิตัน ‘เฮียฮ้อ’ แห่งอาร์เอสกรุ๊ป และล่าสุด ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการคริปโทเคอร์เรนซี ‘คุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ แห่งแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีเบอร์ต้นของไทยอย่าง ‘บิทคับ’
‘กลยุทธการสื่อสารแบบ 6P’ ที่ถอดรหัสมาจากความสำเร็จในการใช้การสื่อสารที่ดี สร้างภาพจำให้กับผู้ฟังและผู้บริโภค”
P ตัวที่ 1 : Precision - ความเฉียบคม
ด้วยธุรกิจของบิทคับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน และเทคโนโลยี ทำให้การสื่อสารของแบรนด์รวมถึงตัวคุณท็อปเอง จะต้องฟังดูน่าไว้ใจ และน่าเชื่อถือ ลักษณะการสื่อสารของบิทคับ และคุณท็อปจึงต้องฟังดู ‘ถูกต้องและแม่นยำ’ ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารทั้ง 3 ส่วนคือ ‘ร่างกาย น้ำเสียง และเนื้อหา’
ด้วยเหตุนี้ ชุดตัวเก่งของคุณท็อปจึงเป็น ‘ชุดสูทสีดำ’ เพื่อเพิ่มความหนักแน่นและน่าเชื่อถือ น้ำเสียงที่ใช้จึงเป็นน้ำเสียงในระดับกลางถึงต่ำ หลีกเลี่ยงระดับเสียงสูงซึ่งจะสร้างความรู้สึกสนุกสนานให้กับผู้ฟัง รวมถึงเนื้อหาที่ค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงของเรื่องธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล และเส้นทางสู่ความสำเร็จเป็นหลัก รวมถึงการใช้ กลยุทธตัว P ตัวต่อไปเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับเนื้อหา นั่นคือ
P ตัวที่ 2 : Proof - หลักฐาน/ข้อพิสูจน์
ในแวดวงวิชาการ การจะยกข้อมูลสักอย่างมานำเสนอควรต้องมีข้อมูลสถิติ ตัวอย่าง หรือแหล่งอ้างอิงพ่วงมาด้วยเสมอ เพื่อชี้ว่าสิ่งนี้เราไม่ได้คิดขึ้นเอง มีคนพิสูจน์มาแล้วว่าดี หรือมีคนอื่นๆ คิดเห็นแบบเราเช่นกัน เป็นการเพื่อน้ำหนักและความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องที่เรากำลังจะพูด
เทคนิคที่คุณท็อปมักจะใช้อยู่เป็นประจำก็คือ ‘การยกตัวอย่าง’ ซึ่งมีข้อดีหลายประการ คือ ช่วยขยายความเข้าใจให้ผู้ฟัง ให้เห็นภาพตามได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการบอกเป็นนัยๆ ด้วยว่า สิ่งนี้ได้รับการยอมรับหรือพิสูจน์จากที่อื่นแล้ว คนอื่นเขาก็ทำกัน เมื่อนำการยกตัวอย่างไปใช้ในการพรีเซนต์ หรือในการสนทนาแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือการที่อีกฝ่าย เข้าใจ และเชื่อใจคุณได้ง่าย และเร็วยิ่งขึ้น
P ตัวที่ 3 : Professional - ความเป็นมืออาชีพ
‘ความเป็นมืออาชีพ’ หรือ ‘มือโปร’ เป็นแต้มต่อที่สำคัญอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจ ถ้าคุณดูโปร คนอื่นๆ ก็จะรับฟังความเห็นรวมถึงคำแนะนำของคุณด้วย เมื่อได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงมากเข้า คุณก็จะกลายเป็น ‘Key opinion leader (KOL)’ หรือผู้นำทางควาดคิด ส่งอิทธิพลต่อผู้ที่ติดตามและสนใจคุณ คำพูดของคุณก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น
การเดินสายให้ความรู้ตามสถาบันต่างๆ การไปออกรายการสัมภาษณ์ตามสื่อ การจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ รวมถึง กลยุทธทั้ง 2P ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ช่วยให้คุณท็อปและบิทคับค่อยๆ ทรงอิทธิพล และส่งผลต่อใจของผู้บริโภค รวมถึงบรรดาแฟนคลับ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในทางการตลาดแล้ว สิ่งที่ดีกว่าการมีลูกค้าประจำคือการมี ‘แฟนคลับ’ ของแบรนด์ ที่พร้อมจะสนับสนุนคุณให้สำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป และพร้อมจะปกป้องคุณเมื่อคุณทำพลาด
P ตัวที่ 4 : Personal Story - เรื่องเล่าไม้ตาย
ทั้งแฟนคลับตัวยง หรือคนที่รู้จักคุณท็อปแค่ผิวเผิน ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องราวการพัฒนาตัวเอง จากเด็กไม่เอาไหน สู่ซีอีโอของบริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพระดับ “ยูนิคอร์น” ตัวแรกๆ ของไทย ซึ่งการยอมเผยเส้นทางชีวิตซึ่งถือเป็น ‘สมบัติส่วนตัว’ ให้คนอื่นได้รับรู้ ทำให้ผู้คนยอมลดกำแพงในใจ และคอยให้กำลังใจเพราะรู้ว่าอีกฝ่ายก็เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ค่อยๆ สร้างความสำเร็จด้วยสองมือของตัวเองเหมือนกัน
เคล็ดลับของการเล่าเรื่องส่วนตัว หรือ Personal Story ก็คือ ไม่จำเป็นต้องมีหลายเรื่องมากมาย มีให้น้อยเข้าไว้ หรือมีเรื่องเดียวเลยยิ่งดี แล้วเล่าซ้ำบ่อยๆ ในหลากหลายสถานที่ที่เราไป ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของการ ‘สร้างลายเซ็น’ ให้กับตัวเอง ยิ่งเป็นเส้นเรื่องประเภท “Rags to Riches” หรือเส้นทางจาก ‘ผ้าขี้ริ้วกลายเป็นทอง’ เริ่มต้นจากความล้มเหลวแล้วประสบความสำเร็จในตอนท้าย อย่างเช่น การ์ตูนเรื่อง อะลาดิน ด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้คนจำได้ง่าย อยากให้กำลังใจ และเป็นแฟนคลับของเราได้เร็วมากขึ้น
P ตัวที่ 5 : Practice - การฝึกฝน
คุณท็อปให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘เก(ล)า นิสัยอันตราย’ ถึงเรื่องการการพูดต่อหน้าสาธารณชนว่า ก่อนที่จะต้องขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร พูดต่อหน้าคนนับพันคนเช่นในทุกวันนี้ สมัยก่อนเป็นคนขี้อายมาก แค่ต้องพูดต่อหน้าคน10 คนยังสั่นจนพูดไม่ออก แต่หลังจากฝืนให้ตัวเองพูดไปเรื่อยๆ ก็กล้าพูดมากขึ้น
“ตอนนี้ผมนิ่งจนไม่รู้จะนิ่งยังไงแล้ว พอมันพูดเกิน 1,000 เวทีไปแล้ว มีคนบอกว่า อะไรที่มันทำเกิน 1,000 ครั้งมันจะกลายเป็น The New Normal ไปเลย”
มุมมองดังกล่าวของคุณท็อปสอดคล้องกับ ‘กฎ 10,000 ชั่วโมง’ จากหนังสือพัฒนาตัวเองยอดฮิต ‘Outliers’ ของผู้แต่ง ‘Malcolm Gladwell’ ที่กล่าวว่า ‘การฝึกฝนอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมง จะทำให้คุณกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในทักษะที่ต้องการได้’ การสื่อสารเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ เช่นเดียวกับการว่ายน้ำ เล่นเทนนิส หรือขี่ม้า ยิ่งคุณฝึกฝนเยอะ เจอสถานการณ์แย่ๆ มากเท่าไร คุณก็จะเรียนรู้จากมัน และพัฒนาทักษะที่คุณมีได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้คุณพูดได้อย่างลื่นไหล มั่นใจ และมั่นคง เมื่อต้องพูดต่อหน้าสาธารณชน
P ตัวที่ 6 : Preparedness - การเตรียมตัว เตรียมใจ
กลยุทธ P สุดท้าย คือการเตรียมตัวเตรียมใจ… สำหรับความล้มเหลว
“ทุกคนต้องล้มก่อนถึงจะประสบความสำเร็จ”
“ใครล้มเหลวอยู่ คุณมาถูกทางแล้ว เพราะคุณกำลังจะประสบความสำเร็จ ถ้าใครไม่ล้มเหลว คุณไปผิดทางเพราะคุณทำสิ่งที่ง่ายเกินไป”
การก้าวขึ้นมาอยู่เบื้องหน้า แน่นอนว่าจะต้องเจอกับเสียงวิจารณ์จากรอบข้างอย่างแน่นอน ในช่วงแรกที่คุณกำลังฝึกฝน เพื่อพัฒนาทักษะ หาคาแรคเตอร์ที่ใช่ วางตำแหน่งตัวเองให้เหมาะสม อาจไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชม หรือเลวร้ายไปกว่านั้น อาจถูกล้อเลียน หรือดูแคลนให้เสียขวัญกำลังใจ ซึ่งดังคำพูดที่คุณท็อปกล่าวข้างต้น หากสิ่งนี้กำลังท้าทายความสามารถ ความแข็งแกร่งของหัวใจคุณ แสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว
ปัจจัยภายนอกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เสียงตอบรับจากลูกค้า หรือผู้ชม ก็อย่าได้ไปโฟกัสให้มาก แล้วปรับโฟกัสมาอยู่ที่การเตรียมตัว และเตรียมใจ ซึ่งคุณสามารถควบคุมได้แทน ในด้านการเตรียมตัว คุณสามารถเตรียมเนื้อหาให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่ผู้ฟังอยากรู้ ฝึกซ้อมการพรีเซนต์ของตัวเองให้คล่อง หมั่นฝึกฝนและพัฒนาทักษะการสื่อสารให้เก่งขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งสามสิ่งนี้จะช่วยทำให้คุณคุมเกมอยู่ในทุกการพรีเซนต์หรือการสนทนา ซึ่งจะนำมาซึ่งความมั่นใจ
ส่วนด้านการเตรียมใจ ‘การบริหารความคาดหวัง’ เป็นสิ่งสำคัญ โฟกัสไปที่เป้าหมายของการสื่อสาร คือการนำสารเข้าสู่ ‘หัวและใจ’ ของผู้ฟัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเขา ไม่ใช่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ทุกคนถูกใจคุณและเมื่อเจอกับคอมเมนต์ ก็นำคอมเมนต์เชิงสร้างสรรค์ ไปพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนอันไหนที่แวะมาวิจารณ์เพียงเพราะสนุกปาก หรือคึกคะนอง ก็ถือว่าช่วยทำบุญให้เขาผ่อนคลายความเครียดที่แบกไว้ให้บรรเทาเบาบางลง อย่าถือเป็นสาระสำคัญ