ตั้งขายทันมั้ย? Bitcoin พุ่งให้ตายใจ แตะ 23,500 ETH พุ่งต่อเนื่องแล้ว 50% รอบสัปดาห์ รับข่าว ‘The Merge’ ดันมาร์เก็ตแคปผงาด 1 ล้านล้านอีกครั้ง
หลังราคาบิตคอยน์แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 18,000 - 22,000 ดอลลาร์/บิตคอยน์ ทำให้นักลงทุนนอนหลับไม่ค่อยสนิทมาเป็นเวลาแรมเดือน ในที่สุดเมื่อเวลาประมาณ 5 ทุ่มของเมื่อคืนนี้ที่ผ่านมา ราคาบิตคอยน์ได้ดีดตัวทะลุแนวต้าน ‘23,000 ดอลลาร์/บิตคอยน์’ ได้สำเร็จ และพุ่งมาติดเพดานแนวต้าน 23,500 ดอลลาร์/บิตคอยน์หลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา พุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 20% ในรอบ1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาบิตคอยน์ล่าสุด ณ เวลา 16.00 น. อยู่ที่ 23,364.77 ดอลลาร์/บิตคอยน์
เว็บไซต์ Cryptoslate มองปัจจัยที่ทำให้ราคาบิตคอยน์เคลื่อนไหวอย่างร้อนแรงในครั้งนี้ ว่าสอดคล้องกับการที่นักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-on) เพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นฝั่งยุโรปและสหรัฐ ที่เริ่มคึกคักมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ดัชนี Nasdaq สามารถฝ่าแนวต้าน 116,000 ได้แล้วในรอบ 1 เดือน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มการทิศทางของดอกเบี้ย สำหรับการประชุม Fed ที่จะเกิดขึ้น ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ Fed อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.75% น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขึ้น 1% ส่งผลเชิงบวกต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซีด้วย
ด้านเหรียญอันดับ 2 ของโลกคริปโท ‘อีเธอเรียม’ นอกจากปัจจัยบวกจากตลาดคริปโทที่สดใสมากขึ้นแล้ว ยังมีแรงหนุนจากข่าว ‘The Merge’ ซึ่งเป็นขั้นตอนการผสาน Ethereum Chain ดั้งเดิม กับ Beacon Chain ซึ่งสร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่ออัพเกรดระบบแบบเต็มสูบ สู่ ‘Ethereum 2.0’ ซึ่งใช้ระบบฉันทามติแบบ Proof-of-Stake ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2022 ที่จะถึงนี้
ข่าวดีดังกล่าวส่งผลให้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาของอีเธอเรียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดีดตัวแรงในบางจังหวะ โดยมีบางช่วง ราคาทะลุ 1,600 ดอลลาร์/อีเธอเรียม คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากราคาในสัปดาห์ก่อน ปัจจุบัน ราคาอีเธอเรียมอยู่ที่ 1,531.16 ดอลลาร์/อีเธอเรียม
สำหรับมาร์เก็ตแคปของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์มาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ปีนี้ ก็สามารถกลับมายืนเหนือ 1 ล้านล้านดอลลาร์ได้แล้วในรอบสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา สู่ระดับ 1.05 ล้านล้าน ณ เวลา 16.00 น. ของวันนี้
หลายฝ่ายมองว่า การเคลื่อนไหวของราคาคริปโทเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้นในรอบ 1-2 วันนี้จะเป็นแค่ข่าวดีระยะสั้น เพราะนักลงทุนยังขาดความมั่นใจในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล จากข่าวการยื่นขอล้มละลายต่อศาล ของ 3 แพลตฟอร์มคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ 3AC, Voyager และ Celsius ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และสภาพเศรษฐกิจของโลกตอนนี้ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง จนธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นดอกเบี้ยมาปราบเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกไม่คึกคักสักเท่าไร
เว็บไซต์ Cryptopotato เผยคาดการณ์ตลาดคริปโทที่จัดทำขึ้นโดย Grayscale Investments ผู้จัดการสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดของโลก ระบุว่า ‘ตลาดหมี’ ในวัฏจักรคริปโทครั้งนี้จะอยู่ไปอีก 250 วัน หรือประมาณ 8 เดือน แต่หากผ่านพ้นไปได้แล้ว ตลาดคริปโทจะแข็งแกร่งขึ้นในทุกๆ รอบวัฏจักร จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะเข้าเก็บสะสมสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่มีราคาถูก และถือรอจนกว่าตลาดกลับมาอีกครั้งใน 8 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ในช่วงสั้นนี้ถือว่านักลงทุนพอจะมีความหวังต่อตลาดคริปโท เพิ่มขึ้นบ้างแล้ว เห็นได้จาก ‘Crypto Fear and Greed Index’ หรือดัชนีชี้วัดความกลัว - ความโลภบนโลกคริปโท หนึ่งในเครื่องมือที่สะท้อนภาวะตลาดคริปโท ที่ปรับจาก ‘หวาดกลัวสุดขีด (Extreme Fear)’ กลับมาเป็น ‘กลัว (Fear)’ ครั้งแรกในรอบราว 2 เดือนครึ่ง สอดคล้องกับการดีดขึ้นของราคาบิตคอยน์ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Santiment แพลตฟอร์มวิเคราะห์ตลาดคริปโทเคอร์เรนซียังชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนระหว่างผู้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์ (long) กับผู้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์ (short) ของบิตคอยน์ พุ่งสู่จุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. สะท้อนความเชื่อมั่นในเชิงบวก ที่นักลงทุนมีต่อเหรียญอันดับหนึ่งอย่างบิตคอยน์ และตลาดคริปโทเคอร์เรนซี
และจากปัญหาแพลตฟอร์มคริปโทยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็น 'โดมิโน' ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) มีแผนที่จะยกเว้นให้บรรดาบริษัทด้านคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์บางฉบับ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมคริปโทฯ สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อดำเนินธุรกิจได้
โดยนาย นาย Gary Gensler ประธาน SEC ให้สัมภาษณ์กับ Yahoo Finance ว่า SEC ได้รับอำนาจจากสภาคองเกรส เพื่อให้การยกเว้นด้านกฎระเบียบกับธุรกิจคริปโทฯ และเพื่อปกป้องนักลงทุน จากบริษัทที่อาจล้มเป็นรายต่อไป
ที่มา : CoinTelegraph, Alternative, CoinMarketCap, CryptoSlate, YahooFinance