‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยถูกนำเสนอว่าจะใช้ระบบ ‘บล็อกเชน’ เป็นกลไกในการช่วยยืนยัน และกระจายเงินสู่มือพี่น้องประชาชน แต่จากแถลงการณ์ล่าสุดของนายกเศรษฐา ดูเหมือนว่าจะหันไปใช้ แอปปเป๋าตังเป็นตัวกลางหลัก โดยยังไม่มีความชัดเจนนักว่า แล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนจะยังถูกนำมาใช้หรือไม่ และอย่างไร
งาน Blockchain Genesis, Thailand Blockchain Week 2023 ที่ผ่านมาได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษา ผ่านมุมมองของกูรู 3 ท่าน ได้แก่ น.ต. ศิธา ทิวารี ประธานกรรมการบริษัท BLESS ASSET GROUP อดีตสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย, นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และนายสิทธิพล พรรณวิไล ผู้ก่อตั้ง Apetimism ซึ่งมาร่วมแลกเปลี่ยนถึงความเป็นไปได้ รวมถีงความเหมาะสมทั้งในแง่ของนโยบายภาครัฐ เศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยี
น.ต. ศิธาให้ความเห็นถึงนโยบายเงินดิจิทัลว่า รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่า ผลลัพธ์ รวมถึงที่จะเกิดขึ้นให้รอบคอบ ในแง่ของเสถียรภาพทางการเงินของรัฐที่อาจต้องกู้เงิน 5 แสนล้านมาเพื่อสร้าง ‘พายุหมุนทางเศรษฐกิจ’ แต่มีความเสี่ยงที่จะไม่เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจดังที่คาดหวัง และสร้างหนี้มูลค่ามหาศาลให้กับประเทศ
รวมถึงแง่ของการเลือกใช้เทคโนโลยีที่กลุ่มประชนที่จะได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง และกลุ่มรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักจะต้องเข้าถึงได้โดยง่าย หากนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้จริงก็ควรใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีอย่างสูงสุด เช่น ใช้เป็นกลไกในการควบคุมให้เงินหมุนอยู่ในมือของคนระดับกลางและล่างก่อนในระยะแรกๆ ก่อนจะไปสู่ปลายทางห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจอย่างพ่อค้ารายใหญ่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
“บล็อกเชนไม่ได้มีขีดความสามารถแค่การกำหนดระยะทางว่า 4 กม. รอบบ้าน แต่สามารถกำหนดได้ว่าคนที่เราจะไปอุดหนุนเป็นกลุ่มไหน ถ้าต้องการให้เงินหมุนในระบบได้นาน กลุ่มที่รับเงินก็ไม่ควรตกอยู่เฉพาะกับพ่อค้ารายใหญ่สมมติวงเงิน 5 แสนล้าน แต่พบว่า 2.5 แสนล้านไปอยู่ที่พ่อค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า มันไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชน ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ”
“ผมไม่เห็นด้วยกับการนำ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ กับ ‘วางรากฐานทางการเงิน’ มาใช้เทคโนโลยีเดียวกัน โดยที่เทคโนโลยีอาจยังไม่เหมาะสมกับโครงการแบบนี้
ข้อเสียของบล็อกเชนคือ ทำงานช้า ถ้าจะลองทำ น่าจะเริ่มกับการซื้อของออนไลน์ ที่ไม่จำเป็นต้องยืนยันกันทันทีเหมือนการซื้อก๋วยเตี๋ยว รอ 15 นาที หรือ 1 ชม. ได้”
ด้านนายปกรณ์วุฒิย้ำถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่พึงเกิดขึ้นหากเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ โดยเทียบกับประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ว่า ผลลัพธ์การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงโควิดนั้นให้ผลลัพธ์เป็นครึ่งหนึ่งของเงินที่ใส่เข้าไป พร้อมสะท้อนกลับมายังไทยว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่การอุปโภคบริโภคฟื้นตัวแล้วอย่างในปัจจุบัน อาจไม่ถูกที่ถูกเวลา และทำให้ไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร
พร้อมชี้ให้เห็นว่าหากนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาให้เพื่อการนี้โดยเฉพาะนั้นจะติดปัญหาเรื่องความล่าช้าจากการยืนยันตัวตน (Validation) ของระบบ หากจะนำมาใช่เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินของไทย ควรใช้กับระบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การซื้อขายแบบต้องจ่ายเงินทันที เช่น ระบบ E-Commerce ซึ่งมีช่วงเวลาในการทำธุรกรรมยาวกว่า เหมาะสมมากกว่าในระยะเริ่มต้น
มุมมองจาหนายสิทธิพล หรือหนูเนย ผู้คร่ำหวอดในวงหารเทคโนโลยีระดับโลกชวนคิดถึงหลักคิดสำคัญในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อไม่ให้เกิดการ “Over-engineer” นำเทคโนโลยีที่เกินความจำเป็นมาใช้ เสียทั้งเวลาในการสร้าง การทำงาน และได้ผลลัพธ์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ตกหลุมพรางการนำ ‘เทคโนโลยีที่อยากใช้’ มาเป็นหัวใจของการออกแบบ แทนที่จะยึด ‘ปัญหาของงาน หรือธุรกิจ’ เป็นหลัก แล้วค่อยเลือกว่าเทคโนโลยีตัวไหนจะเหมาะสม
โดยนายสิทธิพลมอง 4 กรณีที่เป็นไปได้หากรัฐต้องการนำบล็อกเชนมาใช้จริงๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินให้กับประเทศไปในตัวด้วย
“จริงๆ การนำบล็อกเชนมาใช้แจกเงินดิจิทัล มีหลายเคสที่เป็นไปได้1. ใช้เป็นตัวกลางการจ่ายเงิน
2. ใช้เก็บข้อมูลจากแอปเป๋าตัง เพื่อความโปร่งใส ให้คนไทยเห็นว่าเงินก้อนนี้ไปกองที่ไหน
3. ใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แล้วให้คนอื่นมาปลั๊กอิน สร้างเครือข่ายระบบการเงินของประเทศ
4. ใช้เฉพาะในโครงการนี้ แต่เอาองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาต่อแต่ที่รับไม่ได้เลยคือ ใช้บล็อกเชนเพื่อให้ดูเท่ จบโครงการแล้วโยนทิ้ง แบบนี้ไม่เอา
มันเป็นการใช้ ‘เทคโนโลยี’ นำ ไม่ใช่ ‘ปัญหาของธุรกิจ’ นำ”