ในที่สุดก็มีข่าวดีกับเขาบ้าง เมื่อ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประกาศว่าประเทศไทยติดกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงสุด 3 ปีติดต่อกัน โดยมีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) อยู่ที่ 0.8 ติดอันดับ 66 ของโลก อันดับ 4 ของอาเซียน โต 1.07% ใน 30 ปี
ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ HDI คือดัชนีประเมินและจัดอันดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จัดทำโดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ (UN)
โดย HDI จะวัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ใน 3 ด้านได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านคุณภาพชีวิต และจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 ยิ่งได้ตัวเลขสูงมากแปลว่ายิ่งมีการพัฒนาทั้ง 3 ด้านมากขึ้นเท่านั้น
ในรายงาน UNDP แบ่งประเทศออกเป็น 4 กลุ่มตามระดับการพัฒนาคือ กลุ่มที่มีการพัฒนาสูงมาก (ดัชนี 0.800-1.000), พัฒนาสูง (ดัชนี 0.700-0.799), พัฒนาระดับกลาง (ดัชนี 0.550-0.699) และ พัฒนาต่ำ (ดัชนี 0.350-0.549)
ในรายงานการพัฒนาของมนุษย์ (Human Development Report) ฉบับล่าสุดของปี 2021/2022 มีประเทศในอาเซียนติดกลุ่มที่มีการพัฒนา ‘สูงมาก’ 4 ประเทศด้วยกันคือ
ในกลุ่มที่มีการพัฒนา ‘สูง’ มี 2 ประเทศติดเข้าไปคือ อินโดนีเซีย (0.705) และ เวียดนาม (0.703) ส่วนในกลุ่มที่มีการพัฒนาระดับกลางมี 4 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ (0.699), ลาว (0.607), กัมพูชา (0.593) และพม่า (0.585)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศไทยจะมีดัชนีการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์อยู่ในระดับสูงมาก ข้อมูลจากรายงานเดียวกันก็บ่งชี้ว่าไทยมีปัญหาสำคัญคือ ‘มีความเหลื่อมล้ำสูง’
โดยเมื่อเอาปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำเข้ามาคิดด้วย ค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยจะลดลงจาก 0.800 ไปอยู่ที่ 0.686 ซึ่งจะตกอยู่ในกลุ่มพัฒนาระดับ "กลาง" ทันที
นอกจากนี้ยังมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมระหว่างมนุษย์ (Coefficient of Human Inequality) อยู่ที่ 14.2 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มเดียวกัน (กลุ่มประเทศพัฒนาสูงมาก) อยู่ที่ 9.9 และมีเปอร์เซนความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษาอยู่ที่ 16.8% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 6.3% บ่งบอกว่าถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้วประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษาระหว่างคนที่มีรายได้สูงกับคนที่มีรายได้ต่ำอยู่มาก
จึงเรียกได้ว่าถึงแม้ในภาพรวมประเทศไทยจะทำได้ดีในด้านการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ การพัฒนานั้นก็ยัง 'กระจุก' อยู่กับคนส่วนน้อยของประเทศ
ทำให้ถึงแม้ตัวเลขในระดับประเทศจะเพิ่ม และมีพัฒนาการดีมากแค่ไหนในรายงาน คนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตของตนดีขึ้นเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นในปต่ละปีนั้น เป็นผลมาจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนกลุ่มเล็กๆ เพียง 10% ของประเทศเท่านั้น
ที่มา: UNDP