กองทุนประกันสังคม กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อนาคตจะถังแตก หรือ มีปัญหาสภาพคล่องทำให้เสี่ยงล้มละลายได้ “ต้องย้ำว่า!นี่คือการคาดการณ์ในอนาคต!”เพราะปัจจุบัน สภาพคล่องของกองทุนประกันสังคมยังอยู่ในสถานะปกติดี
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ มีสาเหตุุมาจากการที่สังคมไทยกำลังมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดน้อยลงไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ผู้ประกันตนหน้าใหม่ๆที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมกำลังลดน้อยลง ส่วนฝั่งรายจ่ายที่กองทุนประกันสังคมต้องดูแลผู้สูงอายุในรูปเงินบำนาญกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่จึงกลายเป็นเหมือนระเบิดเวลา ที่อาจทำให้กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย
สำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาชี้แจง ยืนยันชัดเจนว่า ขณะนี้เงินสถานะของกองทุนประกันสังคมยังแข็งแรงดี ‘ไม่มีทางล้มละลาย’ โดยปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,271,818 ล้านบาท และในปี 2566 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,345,347 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.24 % เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2565 และจากการประมาณการสถานะกองทุนประกันสังคม ในปี 2570 คาดว่าจะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนทั้ง 2 ด้าน SPOTLIGHT จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมมาสรุปแบบง่ายๆ ดังนี้
ประเด็นความเสี่ยงที่กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย ไม่ได้เป็นข้อมูลใหม่อะไร ที่บรรดา ส.ส.อภิปรายกันในสภาฯเป็นการนำข้อมูลจาก ILO (International Labour Organization) หรือ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานระดับสากลที่ถูกตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บทบาทหลักคือ ผลักดันให้เกิดสิทธมนุษยชนกับแรงงานในด้านต่างๆ ซึ่ง ILO ได้เคยประเมินกองทุนประกันสังคมของประเทศไทยไว้ว่า มีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่อง หรือล้มละลายได้ในปี พ.ศ.2597 หรือ ค.ศ.2054 อีก31 ปีข้างหน้า เพราะเหตุผลหลักสำคัญคือ โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไป ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้กองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายเงินบำนาญจำนวนมาก
ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคือมีประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุปีแรกคือ 2548 ตอนนั้นมีจำนวนผู้สูงอายุราว 10.3 % ของจำนวนประชากร 17 ปีต่อมา คือ 2565 ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือ มีมีผู้สูงอายุ 17.9 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือราว 12 ล้านคน จากนั้น 1 ปีถัดมาคือ ปีนี้ พ.ศ. 2566 ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านคน เป็น 13 ล้านคน
ขณะที่ฝั่งอัตราการเกิด พบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา อัตราการเกิดใหม่ของเด็กไทยต่ำกว่าอัตราการตาย ดังนั้น 10-15 ปีต่อจากนี้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ความหมายก็คือ เรามีจำนวนผู้สูงอายุประมาณเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร
นั่นจึงเท่ากับว่า จำนวนผู้ประกันตนในปัจจุบันราว 24 ล้านคน เพิ่มขึ้จะกลายเป็นคนสูงอายุส่วนหนึ่ง ในขณะนี้ผู้ประกันรายใหม่กลับตามไม่ทัน นี่จึงเป็นคำตอบว่า ภาระของเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมจะเพิ่มอีกมโหฬารขนาดไหน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูล SPOTLIGHT ว่า การที่กองทุนประกันสังจะล้มละลายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่อยากเคลียร์ให้ชัดว่า ส่วนที่มีความเสี่ยงล้มละลายมากที่สุดคือ ส่วนเงินสำหรับ “ชราภาพ”
ทั้งนี้เงินสมทบที่ถูกกองทุนส่งเข้ามาในประกันสังคมจะมีการนำมาจัดสรรสวัดิการ 7 ด้านด้วยกัน
1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2.กรณีทุพพลภาพ
3.กรณีเสียชีวิต
4.กรณีคลอดบุตร
5.กรณีสงเคราะห์บุตร
6.กรณีชราภาพ
7.กรณีว่างงาน
ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ประกันสังคมไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า รายรับของประกันสังคมรวมอยู่ที่ 234,084 ล้านบาท มากกว่า 55% มาจากการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ซึ่งรายรับยังมากกว่า รายจ่ายรวมที่ 138,663 ล้านบาท โดยรายจ่ายส่วนใหญ่เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 7กรณีข้างต้น
ความน่าสนใจคือ กรณีชราภาพ ในไตรมาส 3 ปี 2565 (ก.ค. – ก.ย.) มีผู้มารับบำเหน็จและบำนาญชราภาพรวม 546,080 คน (รับบำเหน็จรวม 56,904 คน รัีบบำนาญชราภาพ 489,176 คน) - เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา กรณีบำเหน็จชราภาพ มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 1,381 คน หรือเพิ่มขึ้น 2.49 % และกรณีบำนาญชราภาพ มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 21,532 คน หรือเพิ่มขึ้น 4.60 % หากเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน กรณีบำเหน็จ มีผู้ใช้บริการลดลง 17,744 คน หรือ ลดลง 23.77 % แต่กรณีบำนาญชราภาพ มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 98,226 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 25.12 %
วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า รูปแบบการบริหารจัดการของกองทุนประกันสังคมหลายส่วน ทำให้เป็นความเสี่ยงล้มละลายของกองทุนได้ในอนาคต
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รายรับและรายจ่ายที่ไม่สมดุลกัน โดยปัจจุบันผู้ประกันต้องถูกหักเงินเดือนเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน 5% สูงสุดคือ 750 บาท ร่วมกับนายจ้าง 5% คือ 750 บาท ส่วนรัฐ 2.5% คือ 375 บาท รวมต่อเดือนคือ 1,875 บาท โดยหากผู้ประกันตนส่งเงินเข้าประกันสังคมต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี เมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินบำนาญอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือนไปจนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งตัวอย่างนี้สะท้อนถึงโอกาสที่กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่องในอนาคต
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้ออกร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ…ซึ่งรอรัฐบาลใหม่มาอนุมัติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในต้นปี 2567 หลังจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมดังนี้
1.ปี 2567-2569 จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
2.ปี 2570-2572 จํานวนไม่ต่ํากว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
3.ปี 2573 เป็นต้นไป ไม่ต่ํากว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
เงินเดือนมากกว่า 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,150 บาท
นอกจากนี้ ก็จะมีการปรับเกณฑ์การเกษียณ ที่แต่เดิม 55 ปี ได้รับบำนาญเป็น 60 ปี นั่นหมายถึงยืดระยะเวลาให้ฝั่งรายจ่ายของกองทุนประกันจ่ายน้อยลง และผู้ประกันตนก็ต้องส่งเงินสมทบนานขึ้น อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ต่างๆของผู้ประกันตนก็มีการปรับใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดต่อได้ที่ลิงก์นี้
-ประกันสังคม ม.33 ต้องรู้ ! เตรียมปรับเงินสมทบใหม่ เริ่มปี 2567
บทสรุปของกองทุนประกันสังคมของไทย จะเป็นอย่างไรคงไมมีใครฟันธงได้อย่างชัดเจน ในที่สุดอาจจะไม่มีปัญหาเลยก็ได้ หากเสียงดังๆในวันนี้จากทุกภาคส่วนที่ส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการรับมือกับโครงสร้างประชากรสูงวัยของประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกันตนทุกคนในอนาคต
ที่มา
bba94fb29fcbeaf04519098846795546.pdf (sso.go.th)
https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/4fb11a9edf621dd33976e9c48b2bd9a2.pdf