Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่ม 2.3 แสนคน หางานทำไม่ได้  เปิดทางรอดแรงงานไทย
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่ม 2.3 แสนคน หางานทำไม่ได้ เปิดทางรอดแรงงานไทย

28 พ.ย. 67
15:58 น.
|
154
แชร์

ข่าวการปลดแรงงานในปี 2567 ออกมาสั่นคลอนขวัญกำลังใจของมนุษย์ทำงานหลายคน ไม่เว้นแม่แต่ผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอย่างเด็กจบใหม่ก็อาจจะเริ่มกังวลมากขึ้นเพราะการหางานทำในยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ด้วยโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบการจ้างงาน ลักษณะการทำงาน ถูกเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก 

บทความนี้นำข้อมูลสถานการณ์แรงงานไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 จากรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตีแผ่เพื่อให้เห็นถึงปัญหาและทางรอดของแรงงานไทยในอนาคต ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะเด็กจบใหม่ที่กำลังหางานทำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมนุษย์ทำงานทุกคนที่ควรรู้ว่า ทักษะจำเป็นที่เราต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรักษางานที่เรารักนั้นไว้มีอะไรบ้าง  

สถานการณ์แรงงานไทยไตรมาส 3/2567  เด็กจบใหม่หางานทำได้ยากขึ้น  

สศช.รายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3/2567 ระบุถึงตลาดแรงงานไทยว่า มีกำลังแรงงานทั้งหมด 40.5 ล้านคน หากเทียบกับไตรมาส 3 ปี2566 ลดลง 0.1% ในจำนวนกำลังแรงงานทั้งหมดนี้แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 40  ล้านคน ลดลง  0.1% เป็นผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน  เพิ่มขึ้น 3.2%  คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.02 %   ขณะที่คนไทยมีชั่วโมงการทำงาน  43.3 ชม / สัปดาห์ และมีค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับแรงงานในระบบ  15,718 บาท/เดือน ส่วนแรงงานอิสระ อยู่ที่ 16,007 บาท/เดือน

ทั้งนี้ผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาจากสัดส่วนของผู้ว่างงานที่เคยมีงานทำมาก่อน 180,000 คน ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.8 % ส่วนใหญ่ออกมาจากสาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในช่วงปีนี้ ที่มีข่าวโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิตปิดตัวมากขึ้น 

ขณะที่กลุ่มคนว่างงาน ซึ่งไม่เคยทำงานก่อน หมายรวมถึงเด็กจบใหม่มีจำนวน 230,000 คน เพิ่มขึ้น 3.5% ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดในระดับอุดมศึกษา มัธยมปลาย และมัธยมต้น นอกจากจำนวนผู้ว่างงานจะสูงขึ้นแล้วจากรายงานยังพบว่า คนไทยว่างงานนานขึ้นโดยมีผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อถึงร้อยละ 16.2 หรือมี 8.1 หมื่นคน โดย 65.0%  ระบุสาเหตุว่าหางานทำไม่ได้  และ 71.3%  ไม่เคยทำงานมาก่อน  โดยเกือบ 3 ใน 4 ช่วงอายุ 20 – 29 ปี

สถานการณ์แรงงานไทย ไตรมาส 3/2567

แม้จำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทยจะสูงขึ้น แต่หากเปรียบเทียบอัตราการว่างงานโดยรวมของไทยที่ระดับ 1.02% ถือว่า อยู่ในระดับต่ำมาก สาเหตุเพราะเกณฑ์การวัดว่าเป็นผู้มีงานทำ ระบุไว้ว่าบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะทำงานตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไป และได้รับค่าจ้าง หรือ ทำงานตั้งแต่ 1 ชั่วโมง แม้ไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่ยังมีงานหรือมีธุรกิจจะกลับไปทำก็ถือว่า เป็นผู้มีงานทำแล้ว  

ดังนั้นในสถานการณ์จริงเราอาจรู้สึกว่าคนว่างงานมีมากกว่าตัวเลขที่เห็นจากทางการ ขณะเดียวกันแนวโน้มที่เด็กจบใหม่จะมีงานทำมีความยากลำบากมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่กำลังเจอกับมรสุมทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าหลายด้านทั้งจากปัจจัยในประเทศ และปัจจัยต่างประเทศที่เข้ามากระทบ 

ทางรอดของแรงงานไทยในอนาคต

สิ่งที่แรงงานไทยจะต้องปรับตัว การมีทักษะและความรู้ใหม่ๆที่ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สศช.ได้สรุปแนวที่แรงงานไทยควรต้องให้ความสำคัญ  ดังนี้ 

1. การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิมไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานในสาขาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง ที่รองรับแรงงานไว้ประมาณ 4.6 แสนคนกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้รถยนต์ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์สันดาปของสถานประกอบการในไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยยอดการผลิตในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน ปี 2567 ลดลงร้อยละ 28.34 จากปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ด้านการจ้างงานพบว่าเริ่มมีการปลดคนงานออก โดยผลการสำรวจผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ จากภาวะเศรษฐกิจและการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ EV ของชมรมผู้บริหารบุคคลธุรกิจอุตสาหกรรม (MAC+)5 พบว่า ในเดือนสิงหาคม 2567 สถานประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

และการประกอบรถยนต์ จำนวน 83 แห่ง มีจำนวนพนักงานลดลงจากเดือนมกราคม 2567 ประมาณ 3.5 พันคน อีกทั้งสถานประกอบการมากกว่าครึ่งมีการงดการทำงานล่วงเวลา (OT) ตลอดจนมีการใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง และการเปิดโครงการสมัครใจลาออก/เกษียณอายุก่อน 60 ปี (Early Retirement) สำหรับพนักงานประจำ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อสถานะการจ้างงานของแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาจต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการส่งเสริมการปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบบใหม่หรือส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตอื่น ตลอดจนมีแนวทางในการ upskill และ reskill ให้แก่แรงงาน เพื่อให้สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้

2.การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่

จากการเปิดเผยข้อมูล การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งมีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย อาทิ กิจการดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจร การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การผลิตเครื่องจักรความแม่นยำสูง การผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอาจมีการจ้างแรงงานไทยประมาณ 1.7 แสนคน อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัล ปี 2566 ของ IMD สะท้อนให้เห็นว่า บุคลากรของไทยยังมีจุดอ่อนและยังต้องพึ่งพาแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติ ดังนั้น เพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวตลอดจนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงและใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นในอนาคต ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ด้านกำลังคนต้องเร่งการผลิตและพัฒนาทักษะของแรงงานไทยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้าน STEM ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

3. ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 

สถานการณ์ อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 7.7 แสนไร่ใน 53 จังหวัด ได้รับความเสียหาย ทั้งจากการถูกน้ำท่วมและดินโคลนทับถมและส่งผลต่อความสามารถในการเพาะปลูกของที่ดิน ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณลดลงโดยเฉพาะที่เป็นพืชระยะสั้น ซึ่งในระยะถัดไปอาจกระทบต่อค่าครองชีพ เนื่องจากต้นทุนของวัตถุดิบอาจสูงขึ้นจากการขาดแคลน โดยกระทรวงพาณิชย์ควรตรวจสอบราคาสินค้าไม่ให้มีการปรับเพิ่มสูงจนเกินไปและกลายเป็นการซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมโดยตรง 

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แชร์

เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่ม 2.3 แสนคน หางานทำไม่ได้  เปิดทางรอดแรงงานไทย