Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนประวัติเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ความแตกต่างของสมัยเผด็จการ VS ประชาธิปไตย
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ย้อนประวัติเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ความแตกต่างของสมัยเผด็จการ VS ประชาธิปไตย

12 ธ.ค. 67
18:54 น.
|
88
แชร์

ค่ำคืนของวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2024 สถานการณ์การเมืองในเกาหลีใต้ได้กลายเป็นที่สนใจของสังคมโลก เมื่อประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Suk Yeol) ออกมาประกาศใช้กฎอัยการศึกกะทันหันกลางดึก และทำให้เกิดภาพที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพยายามปีนกำแพงเข้าไปยังรัฐสภา เพื่อร่วมกันโหวตคว่ำกฎอัยการศึก และดับการยึดอำนาจของประธานาธิบดียุนไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งเหตุการณ์นี้คือภาพหนึ่งที่ตอกย้ำให้โลกเห็นถึงความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่หลายคนเรียกว่า “พฤติกรรมของคนในประเทศพัฒนาแล้ว”

ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ (AFP PHOTO / SOUTH KOREAN PRESIDENTIAL OFFICE)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะทำให้เกาหลีใต้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกในฐานะของประเทศที่ยึดมั่นในเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และค่านิยมประชาธิปไตย แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตของเศรษฐศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ จะพบว่าระบอบการปกครองที่ผลักดันให้เกาหลีใต้กลายเป็น ‘ประเทศรายได้สูง’ หรือ ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ แบบในปัจจุบัน กลับเป็นระบอบเผด็จการทหาร โดยเฉพาะในช่วงปี 1960s ถึงปลายช่วงปี 1980s ที่ GDP ของเกาหลีใต้โตอย่างพรวดพราดในระดับเลข 2 หลัก

บทความนี้พาคุณผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ เพื่อเรียนรู้ว่าระบอบการเมืองส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโตได้มากในช่วงเผด็จการ และทำไมระบอบดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมอีกแล้วกับการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในยุคเผด็จการทหาร

ในสมัยระบอบเผด็จการตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถึง 1980 เกาหลีใต้มีประธานาธิบดี 2 คน ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากที่สุด นั่นก็คือประธานาธิบดี ปาร์ค จองฮี (Park Chung Hee) ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1963 - 1979 และประธานาธิบดี ชุน ดูฮวาน (Chun Doo Hwan) ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1980 - 1988

กลุ่มผู้ประท้วงชูภาพของประธานาธิบดี ปาร์ค จองฮี อดีตผู้นำเกาหลีใต้ (AFP PHOTO / KIM JAE-HWAN)

ช่วงเวลาดังกล่าว GDP ของเกาหลีใต้สูงขึ้นประมาณ 50 เท่า จากประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1963 ขึ้นมาเป็นเกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1988 ซึ่งการเติบโตนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี 3 ฉบับแรก ได้แก่

  1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีแรก (ปี 1962 - 1967) ที่มุ่งสร้างรากฐานอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกาหลีใต้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทดแทนการพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
  2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 2 (ปี 1967 - 1972) ที่เน้นพัฒนาภาคการส่งออก โดยการสร้างอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 3 (ปี 1972 - 1977) ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์ (HCI) เช่น ปิโตรเคมี เครื่องจักร และการต่อเรือ

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 ฉบับ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากอุตสาหกรรมง่าย ๆ ให้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าสูง โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาและการบังคับใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้ คืออำนาจของรัฐบาลในการควบคุมสถาบันการเงิน กลุ่มทุนเอกชน และแรงงานอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของเผด็จการทหาร ซึ่งความเป็นอิสระของการบริหาร ทำให้รัฐบาลสามารถมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาวได้ โดยไม่ถูกกดดันจากผลประโยชน์ระยะสั้นของภาคเอกชน

ทั้งนี้ ในสมัยของประธานาธิบดี ปาร์ค จองฮี รัฐบาลสามารถบังคับให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มทุนที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ รวมถึงการทำงานกับกลุ่มทุนใหญ่ หรือแชโบล ในการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจ

ซึ่งผลดีของการที่รัฐบาลมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างรวดเร็ว ก็คือการรับมือกับความท้าทายและวิกฤตเศรษฐกิจ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดี ชุน ดูฮวาน ซึ่งเกาหลีใต้ประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงจากวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลของประธานาธิบดีชุนได้ใช้นโยบายการคลังเข้มงวด เช่น ลดการใช้จ่ายของรัฐบาล การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และการลดเครดิต ซึ่งช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ และฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ประธานาธิบดี ชุน ดูฮวาน อดีตผู้นำเกาหลีใต้ (AFP PHOTO / CHOI WON SUK)

นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลของประธานาธิบดีชุนยังสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการลดการพึ่งพากลุ่มทุนแชโบล เน้นสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงตัดอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น การขนส่งทางเรือและการก่อสร้าง ผ่านการเลิกกิจการ การควบรวม หรือการบริหารจัดการใหม่ ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้อย่างรวดเร็ว

การเบ่งบานของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ก็เป็นดาบสองคมสำหรับระบอบอำนาจนิยม เพราะเมื่อประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้นและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชนชั้นกลางที่เกิดใหม่ในเกาหลีใต้ก็ต้องการอิสระและสิทธิในการใช้ชีวิตมากขึ้น นำมาสู่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกาหลีใต้ได้ประธานาธิบดีพลเรือนในปี 1987 ซึ่งนับเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในรอบหลายสิบปี

ระบอบประชาธิปไตยและการได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1988 ทำให้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลก ในฐานะประเทศโลกเสรีที่มีประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศต่าง ๆ และลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติตะวันตก แต่สำหรับเศรษฐกิจแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้กลับให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่าไรนักในช่วงแรก เพราะรัฐบาลต้องการเอาใจประชาชน จึงหันไปลงทุนกับสวัสดิการสังคมมากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดดุลการค้า และเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

ขณะเดียวกัน แรงงานของเกาหลีใต้ที่เริ่มตื่นตัวด้านสิทธิมากขึ้นก็เริ่มรวมตัวกันเป็นสหภาพ โดยหลังจากเป็นประชาธิปไตยแล้ว สหภาพแรงงานในเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการนัดหยุดงานบ่อยครั้ง รวมถึงการขึ้นค่าแรงที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ

โดยในระหว่างปี 1987-1989 ค่าแรงเฉลี่ยในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึง 46.6% เทียบกับ 0.1% ในสหรัฐฯ และ 9.8% ในญี่ปุ่น แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับลดลงจาก 11.5% ในปี 1988 เหลือเพียง 6.4% ในปี 1989

นอกจากนี้ การที่เกาหลีใต้เปิดรับเงินทุนต่างประเทศ รวมถึงอำนาจในการควบคุมสถาบันการเงิน กลุ่มทุนแชโบล และแรงงานของรัฐบาลที่น้อยลง ยังทำให้เกาหลีใต้พึ่งพาหนี้ต่างประเทศและเงินกู้ระยะสั้นมากขึ้น เมื่อประกอบกับการขาดระบบกำกับดูแลด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพ จึงนำพาประเทศไปสู่วิกฤตการเงินในปี 1997

เมื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น รัฐบาลจึงเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น แต่กลับส่งผลเสียในระยะยาว เนื่องจากการดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีได้เพียงสมัยเดียว เช่น สมัยของประธานาธิบดี คิม แดจุง (Kim Dae Jung) ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1998 – 2003 ที่ดำเนินนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเครดิตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนเกาหลีใต้มีปัญหาหนี้บัตรเครดิตรุนแรงในขณะนั้น

ความแตกต่างของ 2 ระบอบการปกครอง

จากสถิติตั้งแต่เปลี่ยนผ่านมาเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ไม่สามารถกลับมาเติบโตมากกว่า 10% ได้อีกเลย แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบอบเผด็จการจะเอื้อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบอบประชาธิปไตย เพราะโลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยประชาคมโลกหันมาให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพ รวมถึงความมั่นคงทางการเมืองที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและราบรื่นผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถมุ่งเน้นการใช้แรงงานราคาถูก เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมการผลิตได้อีกแล้ว แต่ต้องเน้นการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์อย่าง Soft Power ที่กำลังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ ระบอบเผด็จการในโลกยุคปัจจุบัน จึงมีแนวโน้มจะสร้างแรงต้านมากกว่าแรงส่งทางเศรษฐกิจ และการกดราคาสินค้าด้วยการกดค่าแรงของแรงงาน ก็มีแนวโน้มที่จะเจอแรงต้านด้วย เช่น จีน ซึ่งกำลังเผชิญกับข้อครหาด้านการใช้แรงงาน และการขายตัดราคาเพื่อเอาเปรียบประเทศอื่น ๆ

สิ่งหนึ่งที่เราอาจเรียนรู้ได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ก็คือการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องพิจารณาสภาพการเมือง ค่านิยมของทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการมองภาพระยะยาวเป็นหลัก เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่เน้นประชานิยมและผลลัพธ์ระยะสั้น ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้ปกครองต่างหาก

แชร์
ย้อนประวัติเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ความแตกต่างของสมัยเผด็จการ VS ประชาธิปไตย