Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อุตสาหกรรมทูน่าไทยยังโต แนะทำประมงเป็นธรรม - พัฒนาทูน่ากระป๋องพรีเมียม
โดย : วาณิชชา สายเสมา

อุตสาหกรรมทูน่าไทยยังโต แนะทำประมงเป็นธรรม - พัฒนาทูน่ากระป๋องพรีเมียม

31 ธ.ค. 67
11:34 น.
|
247
แชร์

ปัจจุบัน ไทยคือผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก เฉพาะในปี 2566 ที่ผ่านมา ทูน่ากระป๋องของไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกรวม 1,924.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ ‘ทูน่ากระป๋อง’ เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างงานและรายได้มหาศาลให้กับไทย

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB EIC ระบุว่าภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2567 เติบโตได้ค่อนข้างดี โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี (เดือนมกราคมถึงตุลาคม) มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องขยายตัว 24.60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกที่เติบโตสูงถึง 35.20%

ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยในปี 2567 จะสามารถฟื้นกลับไปอยู่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดได้อีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากภาพรวมการบริโภคในตลาดโลก และประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกันปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องที่เพิ่มขึ้น ยังได้รับอานิสงส์จากอุปทานปลาทูน่าจับได้ (Tuna Catch) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝูงปลาทูน่าย้ายถิ่นฐาน หรือ Tuna Migration ซึ่งเป็นการที่ฝูงปลาทูน่าว่ายหนีคลื่นน้ำอุ่นไปรวมตัวกัน ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่งของมหาสมุทรมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลดีต่อการทำประมงในบริเวณนั้น

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2568 SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะขยายตัวที่ 6.20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน สอดคล้องกับภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้าทูน่ากระป๋องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทย

ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน หลายประเทศจึงต้องการสต็อกสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง ปัจจัยนี้จึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2568 เช่นกัน

แม้มีหลายปัจจัยสนับสนุน แต่ในระยะข้างหน้าก็ยังมีความท้าทายที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าของไทยต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTBs ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาส และแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด

ขณะเดียวกันเทรนด์ของโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับ Sustainable Fishing หรือการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะ Carbon-Neutral Tuna Products ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

นอกเหนือจากการดำเนินการด้านความยั่งยืนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมทูน่าไทย คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ขณะเดียวกันกระแสความนิยมอาหารทะเลพรีเมียมในสหรัฐฯ ก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การใช้ทูน่าสายพันธุ์พรีเมียมอย่าง Yellow Fin การปรับเปลี่ยนมาใช้เกลือหิมาลายันสีชมพูที่มีแร่ธาตุสูง หรือเพิ่มส่วนผสมสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ทูน่าผสมคอลลาเจน เป็นต้น

SCB EIC

แชร์
อุตสาหกรรมทูน่าไทยยังโต แนะทำประมงเป็นธรรม - พัฒนาทูน่ากระป๋องพรีเมียม