Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ฟังมุมมอง ‘พิธา’ อะไรคือสาเหตุที่ไทย ยังตกขบวนเศรษฐกิจโลก
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ฟังมุมมอง ‘พิธา’ อะไรคือสาเหตุที่ไทย ยังตกขบวนเศรษฐกิจโลก

7 มิ.ย. 67
17:14 น.
|
1.4K
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

คุณค่าอยู่ที่ talent ไม่ใช่จากอาณาเขต ต้องไม่ปิดโอกาสให้คนที่อยากย้ายออกจากประเทศ แต่ให้มองว่าเป็นการกระจายศักยภาพของคนไทยสู่โลก จาก ‘Made in Thailand’ สู่ ‘Made WITH Thailand’

หนึ่งในประเด็นที่มักถูกพูดถึงในยุคนี้ คือ การพัฒนาทักษะ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การบริหาร หรือการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

SPOTLIGHT มีโอกาสเข้าร่วมงาน Creative Talk Conference 2024 หรือ #CTC2024 และเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ Essential Skills for the Future of Thailand โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทีได้พูดถึงทักษะที่ควรมีในยุคนี้ การบริหารงานของคนรุ่นใหม่ และอนาคตของการเมืองไทย

เปิด 30 อาชีพในอนาคค ผ่านแนวคิด ‘เศรษฐกิจ 3 สี’

ก่อนที่จะดูว่า ทักษะอะไรบ้างที่ควรมี และสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทย พิธา เผยว่า ประเทศไทยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน ผ่านการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของประเทศ การทำวิจัยผ่าน framework ต่างๆ เช่น SWOT Analysis ที่ต้องมองผ่านการใช้ความคิดและวิสัยทัศน์ที่แข็งแรง  

โดยพบว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเจออุปสรรคในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง ด้านสังคมสูงวัย ปัญหาผู้ป่วยติดเตียงสูงวัยที่อยู่คนเดียว และด้านปัญหาน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเล น้ำประปา ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญเช่นกัน

จากปัญหาทั้งหมดนี้ ประเทศไทยต้องนำจุดอ่อนและความท้าทาย เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และผลักดันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในหลายมิติ ตามกรณีศึกษา ‘เศรษฐกิจ 3 สี’ ที่พูดถึงทักษะใหม่และโอกาสในการทำงานในอนาคต ที่ต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ระดับชาติ

โดย 30 อาชีพในอนาคตนี้ มาจากทักษะที่ผ่านการวิเคราะห์จุดอ่อนและอุปสรรคต่างๆ ทั้งในด้านธรรมชาติ (Green) ด้านสังคมสูงวัย (Silver) และด้านน้ำ (Blue) ยกตัวอย่างเช่น Climate Resilience Officer ที่มาจากปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว หรือ Climate Change Psycholoist นักบำบัดจิตที่เข้าไปช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

ทั้งนี้ หนึ่งในประเทศที่สามารถนำจุดอ่อนมาแก้ปัญหาภายในได้ คือ ‘เกาหลีใต้’ ที่นำ AI Specialist ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์มาแก้ปัญหาด้านน้ำรั่ว โดยการใช้ AI และหุ่นยนต์มาตรวจพบพื้นที่ที่มีน้ำรั่ว ผ่านการใช้ระบบเสียงและแรงกดดัน ทำให้ล่าสุด เกาหลีใต้สามารถลดปัญหาน้ำรั่วเหลือเพียง 5%

นอกจากเศรษฐกิจ 3 สีแล้ว การนำ AI มาใช้อย่างถูกวิธีเพื่อแก้ปัญหา จะทำให้ประเทศไทยลดจุดอ่อนได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า AI อยู่รอบตัวทุกคนในทุกภูมิภาค ปัจจุบันมีการใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งการเขียนอีเมล ค้นคว้าวิจัย การดีไซน์ ซึ่งช่วยคนไทยได้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ความสามารถของ AI และวิธีการนำมาใช้ โดยเฉพาะในด้านการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ยังถือว่า ขาดแคลนมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะอาจตามโลกไม่ทัน ในวันที่โลกดิจิทัลไปเร็วมาก

เศรษฐกิจไทย ‘ตกขบวนมากพอสมควร’

สำหรับประเด็นประเทศไทยกำลังตามหลังโลกหรือไม่? พิธา มองว่า จากมุมมองด้านสถิติ เศรษฐกิจประเทศไทย ถือว่าตกขบวนโลกค่อนข้างมากพอสมควร ถ้าดูเลข GDP การส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ถึงแม้มีการเติบโตในทุกด้าน แต่ยังถือว่าช้าพอสมควร

ประเทศไทยต้องอย่าลืมเปรียบเทียบการเติบโตในอาเซียนด้วย ไม่ใช่แค่เทียบตัวเลขจากปีก่อน พบว่า ไทยกำลังตามหลังทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ถึงแม้ไทยจะเหนือกว่ากัมพูชาและลาวก็ตาม

สิ่งสำคัญ คือ ไทยมีบุคคลากรที่เพียงพอหรือไม่ คุณภาพดีแค่ไหน? รวมถึง ทักษะที่ยังขาดหายไป เพราะต้องยอมรับว่า ถึงแม้ไทยจะตกขบวนมากพอสมควร แต่ก็ยังมีโอกาสที่พัฒนาได้ และอย่าลืมดูด้วยว่า ไทยจะขึ้นขบวนไหน โบกี้ไหน แล้วจะขึ้นเมื่อไหร่?

หลักคิดของผู้นำอายุน้อย และการทำงานกับคนหลาย Gen

สกิลที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นผู้นำในยุคนี้ คือ ‘การบริหารจัดการความคาดหวัง’ (expectation management) ทั้งการบริหารจากล่างขึ้นบน และบนลงล่าง เช่น ผู้นำระดับกลางที่ต้องสื่อสารทั้งบุคคลากรระดับซีอีโอและพนักงานทั่วไป

กล่าวคือ ผู้นำที่อายุน้อยต้องมีสกิลในการบริหารทั้งสองฝั่ง เนื่องจากระดับซีอีโอและพนักงานทั่วไปแตกต่างกันมาก ทั้งแนวคิด พฤติกรรม การใช้ชีวิต ทำให้การสื่อสารเข้าหาเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่เนื้อหาที่พูด แต่วิธีการสื่อสารก็สำคัญเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องอาวุโส ในขณะที่หลายประเทศ ปล่อยผ่านเรื่องนี้แล้ว

ในอดีต ผู้บริหารไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ง่าย ไม่มี Google หรือ Wikipedia ทำให้การเข้าถึงข้อมูลและการรับรู้ต่างๆ เป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งในปัจจุบัน ChatGPT เป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิมมาก และรวดเร็วมากด้วย จึงอาจให้คนเจนก่อนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ยากกว่าเดิม

นอกจากนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ การมี hard skills และ soft skills อาจไม่พอแล้ว เพราะสกิลที่สำคัญมากๆ ในยุคนี้ คือ สกิลการวิเคราะห์ และการสื่อสาร ซึ่งเป็นสองสกิลที่ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ด้วย

พิธา ยังแนะนำ สำหรับใครที่ต้องการฝึกการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้การ ‘elevator pitch’ หรือเทคนิคการฝึกพูด อธิบายสั้นๆ ให้กระชับ ไม่ยืดยื้อ ภายในเวลาจำกัด เหมือนกับการพูดเสนอไอเดียระหว่างอยู่ในลิฟท์ให้ทัน ซึ่งต้องฝึกฝนบ่อยๆ และต้องมีความรู้จริงในเนื้อหาที่พูด

‘อนาคตพรรคก้าวไกล’ ในมุมมองพิธา

สำหรับการเมืองไทยในขณะนี้ พิธา เผยว่า ตั้งแต่อยู่ในแวดวงการเมือง 4-5 ปี คนมักจะชอบคิดว่า ไทยควรเป็นอย่างไร? แก้ปัญหาอะไร? แต่กลับไม่มีการคิดวิพากษ์ (critical thinking) หรือการพิจารณาที่สาเหตุว่าแก่นของปัญหาเกิดจากอะไร? ทำไมต้องทำแบบนี้? เพราะการคิดแบบเดิมๆ ไม่ได้มีผลประโยชน์เท่าเทียมกันทั้งประเทศ

ยกตัวอย่างคำพูดที่ว่า “จุดแข็งของประเทศไทย คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” พิธา ถามกลับว่า จุดแข็งในช่วงไหน? ใครได้ประโยชน์กันแน่? เพราะถ้าไปดูตัวเลขจะพบว่า 70% ของรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มาจากเพียง 5 จังหวัดในประเทศไทย ส่วน 30% ที่เหลือมาจาก 72 จังหวัดที่เหลือ

ส่วนประเด็นของพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่? พิธากล่าวว่า ‘ไม่มีใครรู้จะเกิดอะไรขึ้น’ แต่ตนได้ทำการวิเคราะห์วางแผนเหตุการณ์ (scenario analysis) หากเกิดเคสที่แย่หรือยากว่านี้ ตนได้เตรียมพร้อมแผนการที่จะทำต่อในอนาคตแล้ว

เพราะจากประสบการณ์ที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคไป ทำให้การยุบครั้งที่ 2 ในรอบ 5 ปี (หากเกิดขึ้นจริง) เป็นเรื่องที่ถนัดขึ้น ในระยะสั้นอาจจรู้สึกหวั่นไหว แต่ในระยะยาว ถือเป็นการติดเทอร์โบ เตรียมตัวสำหรับการตั้งพรรคใหม่

การมองถึงอนาคตและตั้งเป้าหมายในระยะยาวเป็นสิ่งที่พิธาทำ จากการตั้ง KPI ในสนามการเมือง ที่มองไปถึง 4 การเลือกตั้ง หรือ 16 ปี แทนที่จะตั้ง KPI รายไตรมาส โดยเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่พิธาได้ใช้ข้อมูลที่มีจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่คาดเสียงส่วนมากจากอีก 100 กว่าเขต

ดังนั้น การเลือกตั้งในครั้งหน้า มีโอกาสที่พิธาสามารถทำคะแนนได้อีก 251+ เสียงในรัฐสภา จากการเทียบบัญญัติไตรยางค์  ซึ่งต้องใช้สมองด้วย ไม่ใช่แค่ใจเท่านั้น รวมถึง การสู้ตามระบบ การสู้ต่อในแนวทางรัฐสภา และการสู้ในระบบการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพมาก

ประเด็นที่ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากไปทำงานต่างประเทศ

เรียนจบแล้ว อยากย้ายไปต่างประเทศดีกว่า? พิธา มองว่า เป็นสิทธิและเสรีของแต่ละคน แต่ขออย่างเดียว ‘อย่าลืมประเทศไทยบ้านเกิดเมืองนอน’

เพราะจากการเดินทางไปต่างประเทศในหลายครั้ง พิธา ได้เจอคนไทยที่เก่งและมีความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งตนไม่อยากให้ลืมไทย และถ่ายทอดให้กลับมาที่ประเทศมากขึ้น หรือเป็นทูตที่แสดงศักยภาพ ดึงโอกาสกลับมาที่ไทย

เพราะยุคนี้ คุณค่าอยู่ที่ talent ไม่ใช่จากอาณาเขต ต้องไม่ปิดโอกาสให้คนที่อยากย้ายออกจากประเทศ แต่ให้มองว่าเป็นการกระจายศักยภาพของคนไทยสู่โลก จาก ‘Made in Thailand’ สู่ ‘Made WITH Thailand’

สุดท้ายแล้ว ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เราต้องกลับมาตั้งคำถามถึงประชาธิปไตยในไทย เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย? ทำไมการคอรัปชั่นยังมีอยู่มากมาย?

รูปภาพทั้งหมด

ฟังมุมมอง ‘พิธา’ อะไรคือสาเหตุที่ไทย ยังตกขบวนเศรษฐกิจโลก
แชร์

ฟังมุมมอง ‘พิธา’ อะไรคือสาเหตุที่ไทย ยังตกขบวนเศรษฐกิจโลก