ตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ เรียกว่าอยู่ในบรรยากาศสิ้นหวังอึมครึม หลังจากดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงแล้ว 136.79 จุด หรือ 9.5% จาก 1433.38 จุดในวันที่ 2 มกราคม 2024 มาอยู่ที่ 1296.59 จุด ในวันที่ 17 มิถุนายน 2024 จากแรงกดดันหลายด้านทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามคาด คดีฉ้อโกงที่ทำลายความเชื่อมั่นของของนักลงทุน และปัจจัยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีแต่อุตสาหกรรมเก่า
ล่าสุด ปัจจัยที่กดดันหุ้นไทยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นปัจจัยทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่กกต. ยื่นยุบพรรคก้าวไกล คดีสว. 40 คนยื่นวินิจฉัยถอดถอนนายกรัฐมนตรีหลังดำรงมาแหน่งมายังไม่ถึง 1 ปี กรณีกฎหมายเลือกสว. 4 มาตรา ขัดรัฐธรรมนูญ และกรณียื่นประกันนายทักษิณ ชินวัตร ในคดี 112
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดหุ้นที่มีมูลค่าลดลงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ดัชนีหุ้นของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันเพิ่มขึ้นสวนทางเรา ไม่ว่าจะเป็นดัชนี Straits Times Index ของสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้น 2.27%, Ho Chi Minh Stock Index ของเวียดนาม ที่เพิ่มขึ้น 13.5% และ FTSE Bursa Malaysia EMAS Index ของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น 14.6%
นับว่าเป็นภาพที่น่าใจหาย โดยเฉพาะเมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2018 แล้วพบว่าตลาดหุ้นไทยเคยคึกคักจนนักลงทุนออกมาคาดการณ์ว่าดัชนี SET Index จะขึ้นไปถึง 2,000 จุด
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนรอยดูสถิติตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กันว่าตลาดหุ้นไทยทำผลงานได้เป็นอย่างไร และมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังทรงๆ ทรุดๆ และยังวิ่งไปไม่ถึง 2,000 จุดอย่างที่หวัง
หากย้อนดู ดัชนี SET Index และข้อมูลการซื้อขายในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2014 ถึง ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นไทย มีการขึ้นลงมาตลอดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองทั้งภายในและภายนอก และมีมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดรวม หรือ Market Cap ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการ IPO และจำนวนบัญชีซื้อขายที่เพิ่มขึ้นจาก 1,098,731 บัญชีในช่วงปลายปี 2014 มาเป็น 5,922,252 บัญชีในเดือนเมษายนปี 2024 สะท้อนว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจซื้อขายหุ้นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
หากมองในระยะ 10 ปี หุ้นไทยทำผลงานได้ดีที่สุดในช่วงต้นปี 2018 ในวันที่ 24 มกราคมที่ ดัชนี SET Index ขึ้นไปสูงที่สุดที่ 1,838.96 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตได้ดี คาดการณ์ GDP ไตรมาส 4 ของปี 2017 ฟื้นตัวแข็งแกร่งจากตัวเลขส่งออกที่ในเดือนกันยายนปี 2017 เพิ่มขึ้นถึง 13.2% จากปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 55 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเสถียรภาพทางการเมืองหลังนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแผนเลือกตั้งในเดือนตุลาคมปี 2017 และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2018 ในเดือนธันวาคมปี 2017
ในทางกลับกัน หุ้นไทยทำผลงานได้แย่ที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 โดยตกลงไปอยู่ในจุดต่ำสุดใน 10 ปี ที่ 1,024.46 จุด ในวันที่ 23 มีนาคม หลังจากกระทรวงสาธารณสุขไทยยกระดับโควิด-19 เป็นโรคติตต่ออันตราย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการล็อกดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งจะส่งผลมากต่อเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยว จนต้องมีการใช้มาตรการ circuit breaker ถึง 3 ครั้ง และออกมาตรการปรับเกณฑ์ short sell และลดช่วง ceiling/ floor เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ แม้หลังจากช่วงปี 2020 ตลาดหุ้นไทยจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้เรื่อยๆ จนแตะระดับ 1,700 จุดได้อีกครั้ง ในปี 2022 หลังจากปี 2020 หุ้นไทยก็ไม่เคยขึ้นไปแตะระดับ 1,800 ได้อีกเลย แม้อุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่ของไทยอย่างภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว มิหนำซ้ำยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2023 มาถึงปัจจุบันในช่วงกลางปี 2024
โดยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีหุ้นไทยลดลงจาก 1,685.75 จุดในวันที่ 2 มกราคมปี 2023 มาอยู่ที่เพียง 1,296.59 จุดในวันที่ 17 มิถุนายน ขณะที่ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายรายเดือนลดลงต่อเนื่องจาก 3.48 แสนล้านหุ้น และ 1.43 ล้านล้านบาทในเดือนมกราคมปี 2023 มาอยู่ที่ 2.71 แสนล้านหุ้น และ 8.73 แสนล้านบาทในเดือนพฤษภาคมปี 2024
ข้อมูลนี้สะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนก็ยังไม่กลับมา และชี้ว่าในปัจจุบันอาจมีปัจจัยอื่นที่กดดันตลาดหุ้นไทยอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจในภาคส่วนเดิมๆ อาจไม่สามารถกู้ความเชื่อมั่น และดึงดูดให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในหุ้นไทยได้อีกแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้หุ้นไทยตกต่ำอยู่ในปัจจุบันมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ แต่หากดูจากการที่ตลาดหุ้นอื่นยังสามารถเติบโตได้สวนทางกับตลาดหุ้นไทย ปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายในจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติมากที่สุด ซึ่งก็มีทั้ง 1) โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแต่อุตสาหกรรมเก่าๆ ไม่ดึงดูด และ 2) สถานการณ์ทางเมืองที่วุ่นวาย ไม่มีเสถียรภาพ ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทยไม่มีทิศทางที่แน่นอน
หากดูจากโครงสร้างของธุรกิจในไทยและหลักทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ จะเห็นได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยมีปัญหาระดับโครงสร้าง เพราะบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในไทยมีแต่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเก่า เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการเงิน และการบริการ ซึ่งอาศัยทำรายได้และกำไรกับผู้บริโภคภายในประเทศหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ และถึงแม้ส่งออกได้ก็มีมูลค่าต่ำ ขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ถือเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูงยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
โดยหากอิงจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงเดือนมกราคมปี 2021 - พฤษภาคมปี 2024 อุตสาหกรรมที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดคือ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่มีปริมาณการซื้อขาย 1.25 พันล้านหุ้น หรือ 7.21% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคการบริการ ที่มีปริมาณการซื้อขาย 1 พันล้านหุ้น หรือ 6.01% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีปริมาณการซื้อขายเพียง 478 ล้านหุ้น หรือ 2.75% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งหมด
ทั้งนี้ หากดูที่การเติบโต ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นมูลค่าหดตัวทั้งหมด มีเพียงอุตสาหกรรมที่เติบโตคือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่เติบโตขึ้น 25.87% ในช่วงดังกล่าว สะท้อนว่า เช่นเดียวกับในตลาดหุ้นอื่นๆ นักลงทุนปัจจุบันให้ความสนใจกับธุรกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ เพราะมีศักยภาพในการเติบโตสูงในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล
ดังนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆ ได้ หากไม่ได้มีปัจจัยใดมาทำให้สินค้าและบริการของไทย ที่ส่วนมากยังเป็นสินค้าการเกษตร อาหาร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน ของไทยมีมูลค่าสูงขึ้น หรือบริษัทไทยสามารถคิดค้นสินค้าและบริการ หรือเปิดธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ ก็ยากที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจะมาลงเงินกับหุ้นไทย และดันให้ดัชนีหุ้นไทยขึ้นทะลุ 2,000 จุดได้สำเร็จ
นอกจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และไม่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาอย่างตรงจุดแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นตอของปัญหาข้างต้นคือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งสำคัญมากต่อการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และประสิทธิภาพของนโยบายนั้นๆ
ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย ไทยมีการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง มากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วเป็นจำนวน 11 ราย รวมเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 60 ปี จากช่วงเวลา 90 ปีหลังไทยได้ประชาธิปไตย
จำนวนการรัฐประหารที่มีจำนวนมากกว่าปกติสะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทย เพราะในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจะต้องมีการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยไม่ถูกแทรกแซงจากสถาบันอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การสืบทอดอำนาจและนโนบายเป็นไปอย่างราบรื่น “คาดการณ์ได้”
ดังนั้น เมื่อการเมืองไทยมีการผันผวนตลอดเวลา และยังมีการแบ่งขั้วรุนแรง จนทำให้การสืบทอดนโยบายเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอน คาดเดาไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนย่อมไม่ชอบ เพราะนักลงทุนชอบความมีเสถียรภาพและความชัดเจน และไม่มีใครอยากลงทุนในประเทศที่แนวทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของโลก ยังยึดติดอยู่กับอุตสาหกรรมเดิมๆ ไม่ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย ทำให้ในสายตานักลงทุน หุ้นไทยแม้จะยังไม่ตกต่ำเข้าขั้นวิกฤต เพราะมีภาคการท่องเที่ยวที่ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ไปได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลก แต่ก็ไม่มีอนาคตในการเติบโต
นอกจากนี้ ภาคการผลิตและส่งออกของไทยยังอยู่ในภาวะย่ำแย่ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสินค้าพื้นฐานไปเป็นสินค้าซับซ้อนมูลค่าสูงได้เหมือนประเทศรายได้สูงอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ทำให้ไม่มีจุดเด่น ไม่สามารถผลิตสินค้าระดับพื้นฐานแข่งกับประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า และในขณะเดียวกันก็ตามประเทศที่มีอุตสาหกรรมผลิตสินค้าระดับสูงไม่ทัน เพราะไม่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี และกำลังคน
โดยจากข้อมูลจากวิจัยของ KKP Research พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยหดตัวต่อเนื่องยาวนานกว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022 ถึงมีนาคม 2024 และมีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง นับตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024
นี่ทำให้นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว ไทยแทบจะไม่มีภาคส่วนอื่นใดมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนในหุ้นไทย เพราะภาคการท่องเที่ยวมีมูลค่าไม่สูง อีกทั้งยังอ่อนไหวกับปัจจัยภายนอกมาก เช่น เศรษฐกิจโลก โรคระบาด และสงคราม
จากปัจจัยที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าปัญหาของหุ้นไทยเป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องใช้ระยะเวลาแก้ไขยาวนาน ไม่ใช่เพียงปัญหาระยะสั้นๆ เช่น การที่นักลงทุนต่างชาติเทขาย ทำชอร์ตเซลล์ หรือใช้เครื่องมือในการเทรด ซึ่งเป็นปัญหาปลายเหตุ ที่เกิดมาจากการที่หุ้นไทยไม่น่าดึงดูด หลงยุค และดูไม่มีศักยภาพในการเติบโตในสภาพเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน
ดังนั้น ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานและวัฒนธรรมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ที่ให้มีประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ลดการแทรกแซงการเมืองเพื่อรักษาอำนาจและทรัพย์สินของตัวเอง หยุดการทุจริตคอร์รัปชั่น เห็นแก่ส่วนรวมไม่เห็นแก่ได้ และประชาชนต้องไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของตัวเอง ไม่ส่งต่อวัฒธรรมการเมืองน้ำเน่าให้แก่ลูกหลาน
และถ้าหากการเมืองมีเสถียรภาพ มีมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ทั้งภาคการผลิต ภาคการส่งออก หรือแม้แต่การบริโภคภายในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ออกมาสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะอยากเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็จะสามารถเป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อนให้ดัชนีหุ้นไทยมีทิศทางที่สดใสทัดเทียมกับตลาดหุ้นทั่วโลก