Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สภาพัฒน์ฯ วอนหามาตรการอื่น หากยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคาด GDP ปีนี้โต 2.5%
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

สภาพัฒน์ฯ วอนหามาตรการอื่น หากยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคาด GDP ปีนี้โต 2.5%

19 ส.ค. 67
17:06 น.
|
299
แชร์

 

ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายเรือธงของรัฐบาลชุดนี้ คือ โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยง

แต่เมื่อขณะนี้โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ยังอยู่ในช่วงเปิดรับลงทะเบียน เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2567 เป็นอย่างไร SPOTLIGHT จะพามาดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ของไทย ที่สภาพัฒน์ ได้ประกาศในวันนี้ ว่าเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรกันบ้าง?

ล่าสุด สภาพัฒน์ได้ปรับเป้า จีดีพีไทยปีนี้โต 2.3-2.8% จากเดิม 2.0-3.0% ห่วงหนี้ครัวเรือน และSME ขาดสภาพคล่อง แนะหากไม่มีดิจิทัล วอลเล็ต ควรมีนโยบายอื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ 

สภาพัฒน์ฯ วอนหามาตรการอื่น หากยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคาด GDP ปีนี้โต 2.5%

ในวันนี้ (19 ส.ค.67) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงข่าว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจาก 1.6% ในไตรมาส 1/67 และเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 67 ขยายตัวได้ที่ 1.9% ซึ่งคาดการณ์ GDP ปีนี้ ขยายตัว  2.3-2.8 % ซึ่งค่ากลาง คือ 2.5% จากเดิมคาดโต 2.0-3.0% 

สภาพัฒน์ฯ วอนหามาตรการอื่น หากยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคาด GDP ปีนี้โต 2.5%

ปัจจัยหลักมาจากการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวได้ 4.5% และ 0.3% ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปของดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี อยู่ในช่วง 0.4-0.9% ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 2,600 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.3% ต่อ GDP ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.67 อยู่ที่ 224,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.67 อยู่ที่ 11.54 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 63.5% ต่อ GDP

สภาพัฒน์ฯ วอนหามาตรการอื่น หากยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคาด GDP ปีนี้โต 2.5%

โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 โดยในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการอุปโภคบริโภคภาครัฐบาล การส่งออกสินค้าและบริการ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวจากสาขาอุตสาหกรรม สาขาบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาขนส่ง สาขาการค้า

ขณะที่การลงทุนรวม ลดลง 6.2% จากการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง 6.8% และการลงทุนภาครัฐที่ลดลง 4.3% นอกจากนี้ ภาคการก่อสร้าง ยังปรับตัวลดลง 5.5% เป็นผลมาจากงบลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่หดตัว

สำหรับช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมองว่าการเบิกจ่ายมีแนวโน้มดีขึ้นจากสัญญาผูกกันงบประมาณที่ผ่านมา และการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงุทนของรัฐบาลที่ดีขึ้นตั้งแต่เริ่มครึ่งปีหลัง ซึ่งเติบโตมากกว่าเดิม ประกอบกับจะมีเม็ดเงินงบประมาณรายจ่าย ปี 68 ที่จะเริ่มออกมาในเดือนต.ค.67 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/57 มีเม็ดเงินเบิกจ่ายลงทุนมากขึ้นด้วย

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ได้แก่

  • ภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง และหนี้เสีย หรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงิน เพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อชะลอลง
  • ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติ จนนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม และทำให้ผลผลิตทางเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
  • ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การปรับทิศทางกาดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายประเทศสำคัญที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ความตั้งใจ คือ ต้องการให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากไม่เกิดขึ้นจริงๆ มองว่า รัฐบาลควรมีนโยบายอื่นๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้

สภาพัฒน์ฯ วอนหามาตรการอื่น หากยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคาด GDP ปีนี้โต 2.5%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ดังนี้

  1. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น ประกอบกับมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวไทย
  2. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายในหมวดบริการ และสินค้าไม่คงทน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง โดยอัตราการว่างงานล่าสุดยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ 1.07% ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับสูง
  3. การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนเร่งตัวขึ้น และแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่าย ปี 2568 ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกรอบเวลาปกติ
  4. การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ทั้งภาคการผลิตและบริการในหลายประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก และแนวโน้มวัฎจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น ไทยต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งตอนนี้ ก็มีการดำเนินการผ่าน BOI ในการชักชวนนักลงทุนต่างประเทศจากหลายสาขาเข้ามา เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล...รวมทั้งต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามามากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณภาพต่ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งกำกับดูแล และตรวจสอบให้มีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นในการดูแลการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้เข้ามาในประเทศ หรือการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME

สภาพัฒน์ ยังเห็นว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้

  1. การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการงบประมาณ เพื่อให้การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน
  2. การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย การเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญให้เป็นไปตามแผน การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น ที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา และมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด และข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
  3. การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้น 1) การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ 2)การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ สินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น และ 3) การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือหลบเลี่ยงภาษี
  4. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ และลดการอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบ ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
  5. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยมุ่งเน้นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก
  6. การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฎการณ์ลานีญา อันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี และปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากภัยแล้งในช่วงปีหน้า โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการเตือนภัย
  7. การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ในช่วงปลายปี และยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป
  8. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบ และใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ ความรุนแรงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก
แชร์
สภาพัฒน์ฯ วอนหามาตรการอื่น หากยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคาด GDP ปีนี้โต 2.5%