นักเศรษฐศาสตร์ มอง กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อไปในการประชุมวันที่ 21 สิงหาคม 2567 นี้ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจถูกรัฐบาลชุดใหม่กดดันให้ลดดอกเบี้ยต่อในอนาคตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อนาคตของนโยบายการคลังอย่างดิจิทัลวอลเล็ตยังอยู่ในความไม่แน่นอน
ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามวัฏจักร โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 พบว่าเศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัว 2.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดใน 5 ไตรมาส จากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลที่ขยายตัว 0.3% การส่งออกที่ขยายตัว 1.9% และภาคบริการที่ขยายตัว 19.8% จากการท่องเที่ยว
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ระบุไว้ในวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือนก.ค. ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 มีทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสก่อน และการส่งออกสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมที่ดีขึ้น
ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่กำลังจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) น่าจะมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ดังเดิม เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยยังเป็นไปตามคาด
จากสำรวจของบลูมเบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก 23 คน เห็นตรงกันว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน และมีนักเศรษฐศาสตร์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ย 25 bps เป็น 2.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคม
ด้าน น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับ “SPOTLIGHT” ว่า กรุงศรี คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ กนง.ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้ง มองว่าในมุมของธปท. ธนาคารกลางอาจต้องการเก็บกระสุนดอกเบี้ยนโยบายไว้หากเกิดวิกฤตในอนาคต ขณะที่กระสุนทางการคลังเหลือน้อย นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้ต่อยอดความมั่งคั่ง สะสมความเปราะบางในระบบหากดอกเบี้ยต่ำเกินไป
ด้าน นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ "SPOTLIGHT" ว่า กนง. อาจมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6-1 หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 2.50% ตามเดิม เนื่องจากคณะกรรมการส่วนใหญ่ และมองว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันยังมีความเหมาะสมต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี นาย พูน มองว่า ควรจับตามุมมองของทาง กนง. ต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยล่าสุดว่าจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีกระแสข่าวว่า โครงการ Digital Wallet อาจจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถประเมินโอกาสที่ กนง. จะหันมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น (ลดดอกเบี้ยนโยบาย) ได้เร็วกว่าที่เราประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2025
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ ในรายการ SPOTLIGHT Live talk คาดการณ์ผลการประชุม กนง.ในวันที่ 21 ส.ค. 67 ว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 2.50% ด้วย 2 เหตุผล คือ
1. เศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัว
ดร.พิพัฒน์ มองว่า กนง.จะให้ความสำคัญกับตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยหากมองว่าเศรษฐกิจยังพอไปได้แม้ว่าจะฟื้นตัวได้แบบชะลอลงบ้าง กนง. ก็น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม โดยในสถานการณ์นี้กนง.กังวลเรื่องของเสถียรภาพของระบบการเงิน คือหนี้ครัวเรือนมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้มีสัญญาณหรือข้อมูลที่ทําให้กนง.เปลี่ยนการประเมินภาพเศรษฐกิจ เช่น ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของไทยออกมาแย่กว่าที่คาด ดอก้เบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ในระดับเดิม
2. รอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล เก็บกระสุนดอกเบี้ยไว้ก่อน
หากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีหรือคุณภาพสินทรัพย์ NPL เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน อาจทำให้ กนง.เปลี่ยนใจได้ แต่คาดว่า ขณะนี้ กนง.เองอาจจะว่า ยังไม่ลดดอกเบี้ย ถ้ามีดิจิทัลวอลเล็ตหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กําลังจะมาอยู่แล้ว จึงอาจจะเก็บกระสุนดอกเบี้ยไว้ใช้ในสถานการณ์อื่นที่จำเป็นต่อไป
“ ที่ผ่านมา กนง.ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนมากว่า ถ้าไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงกว่าที่คาดเยอะๆหรือเสถียรภาพของระบบการเงินมาเกี่ยวข้อง หรือไม่มีการล่าช้าของการกระตุ้น เศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังแบบยาวๆการประชุมครั้งนี้ยังคิดว่าไม่น่าที่จะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในครั้งนี้” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ส่วน GDP ไทยปีนี้ KKP ประเมินว่า จะขยายตัวได้ประมาณ 2.6% ใกล้เคียงกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวตามคาด รัฐบาลชุดใหม่นำโดย “อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” จะยังคงกดดันให้ กนง. ลดดอกเบี้ยต่อเพื่อให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับนโยบายคลัง และอาจกดดันมากขึ้นหากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกพับไป
โดย Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia & New Zealand Banking Group Ltd. มองว่า หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกยกเลิก และรัฐบาลไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ มาทดแทน แรงกดดันอาจจะตกไปอยู่กับธปท. แทน เพราะรัฐบาลจะมองว่า หากไม่มีมาตรการคลัง ธปท. ก็ต้องใช้นโยบายการเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแทน
นอกจากนี้ Tamara Henderson นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ยังมองว่า รัฐบาลชุดใหม่ นำโดยพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลใหม่สูง เพราะผู้นำหรือนักการเมืองระดับสูงของพรรค คือ อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน, ทักษิณ ชินวัตร, และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้วนแต่มีประวัติมีความเห็นต่างกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด
โดยในปี 2544 ระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี นาย ทักษิณ ก็เคยมีความคิดเห็นแตกต่างกับ ‘หม่อมเต่า' หรือ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นผู้ว่าการธปท. ในขณะนั้น ในเรื่องการดำเนินนโยบายด้านดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม จนสุดท้ายหม่อมเต่าถูกปลดออกจากตำแหน่ง มาแล้ว
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเคยออกปากวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ธปท. บนเวทีปราศรัยหาเสียงเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่า ความเป็นอิสระของ ธปท. เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้มีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะกดดันให้ธปท. ดำเนินนโนบายการเงินตามที่ต้องการ
ที่มา: Bloomberg