ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะถึงในปีนี้ นโยบายหนึ่งของตัวแทนผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ทั่วโลกจับตามอง ก็คือ “นโยบายเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้า” เพราะความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการค้า (decoupling) สร้างความเปลี่ยนแปลงในซัพพลายเชน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งโลก
แต่รู้หรือไม่? ก่อนจะมาเป็นศัตรูกันในปัจจุบัน สองประเทศนี้เคยเป็นมิตร และคู่ค้าที่ดีต่อกันมาก่อน และความขัดแย้งทางการค้าที่เราเห็นนี้เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนี้เอง
ในวันนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนย้อนไปดูความเป็นมาของสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ กันว่าอะไรคือปมความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศ และความขัดแย้งนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจของทั้งโลก
ก่อนที่จะกลายมาเป็นคู่แข่งทางการค้าแบบในปัจจุบัน สหรัฐฯ และจีน เคยเป็นมิตร และคู่ค้าที่สำคัญของกันและกันมาก่อน ก่อนที่จะเริ่มมีความขัดแย้งในเวทีโลกในช่วงต้นปี 2000s เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนเริ่มเติบโตจนส่งผลกระทบต่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศมหาอำนาจ
โดยในช่วงเวลา 30 ปีแรกหลังจากมีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาในปี 1949 สหรัฐฯ และจีน ไม่มีการติดต่อทำการค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากันเลย เพราะในขณะนั้น จีนถูกปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ตัดความสัมพันธ์กับจีน
ทั้งนี้ หลังจากจีนล้มเหลวในการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ จีนภายใต้การปกครองของเติ้งเสี่ยวผิงก็เริ่มปฏิวัติเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงปี 1970s และมีความพยายามที่จะกลับเข้าสู่เวทีการค้าโลก ด้วยการขอเข้าร่วมองค์กรการค้าระหว่างประเทศ และเริ่มติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ รวมถึงประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ และจีน เริ่มกลับมามีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าอีกครั้งในปี 1979
ในปี 1986 จีนสมัครขอกลับเข้าไปเป็นสมาชิกของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือแกตต์ (GATT) ซึ่งภายหลังพัฒนาไปเป็น องค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และได้เข้าเป็นสมาชิกของแกตต์ในปี 2001 หลังจากการเจรจาพูดคุยยาวนานกับสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกอื่นๆ
จีนเข้าเป็นสมาชิกของแกตต์ภายใต้เงื่อนไขว่าจีนจะต้องทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีมาตรการฐานการค้าเท่าเทียมกับประเทศอื่นทั่วโลก ทั้งการลดภาษีนำเข้าสินค้า พัฒนาระบบปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการค้าให้มีความโปร่งใส ได้มาตรฐานขององค์กร
รัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลานั้น มองว่าการสร้างความสัมพันธ์การค้ากับจีน และสนับสนุนให้จีนเข้าร่วมระบบการค้าโลก จะทำให้จีนค่อยๆ เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีน เพราะความสัมพันธ์นี้จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ส่งออกสินค้า รวมถึงตั้งฐานการผลิตในจีน ซึ่งเป็นทั้งแหล่งผู้บริโภคขนาดใหญ่ และแหล่งแรงงานราคาถูก
ซึ่งในช่วงกว่า 20 ปี ที่ผ่านมานี้ สหรัฐฯ และจีน ก็ได้ประโยชน์ร่วมกันจริงๆ จากความสัมพันธ์นี้ เพราะทำให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถสร้างรายได้มากขึ้นจากการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคจีน และได้ลดต้นทุนในการผลิตสินค้าในจีน ทำให้บริษัทของสหรัฐฯ มีกำไรในการขายสินค้ามากขึ้น ขณะที่คนสหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์ด้วยการได้บริโภคสินค้าในราคาที่ถูกลง
โดยหลังจากจีนเข้าร่วมกับแกตต์ในปี 2001 สหรัฐฯ สามารถส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 8 เท่า จาก 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2001 ไปเป็น 1.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 ขณะที่ สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าที่ผลิตในจีนเพิ่มขึ้นถึงประมาณสี่เท่า จาก 1.06 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในปี 2001 มาเป็น 4.48 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในปี 2023 โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและเครื่องใช้ต่างๆ
การนำเข้าสินค้าราคาถูกจากสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ขณะที่การส่งออกสินค้าไปจีนทำให้บริษัทสหรัฐฯ มีรายได้หลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจากยอดขายในจีน และมีกำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล รวมถึงสร้างงานมากกว่า 1 ล้านตำแหน่งให้แก่ประชาชนสหรัฐฯ และทำให้อำนาจการซื้อเฉลี่ยต่อครัวเรือนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี 2000-2007
ส่วนด้านเศรษฐกิจของจีนก็เติบโตขึ้นมามากกว่า 5 เท่าจากปี 2001 โดน GDP ของจีนเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1,200% จาก 1.339 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2001 มาเป็น 17.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 จากการกลับเข้ามาทำการค้ากับชาติตะวันตกในระบบการค้าเสรี
อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์เหล่านี้ก็แลกมากับผลเสียและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำหรับฝั่งสหรัฐฯ เพราะการย้ายฐานการผลิตไปจีน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตภายในสหรัฐฯ ต้องปิดตัว ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของประชากร และในขณะเดียวกันก็ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด และสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นในการผลิตสินค้า
นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และอุตสาหกรรมการผลิตจีน ยังทำให้รัฐบาลจีนเริ่มมีเงินทุนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ทั้งการผลิตพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีสีเขียว เช่น รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ ทำให้สินค้าจีนมีประโยชน์เหนือสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นในแง่ราคา และทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สหรัฐฯ รวมถึงชาติพันธมิตรอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เริ่มแสดงความกังวลและเคลื่อนไหวเพื่อต้านจีน
โดยปี 2004 เป็นปีแรกที่สหรัฐฯ เริ่มยื่นเรื่องร้องเรียนกับ WTO เพื่อประท้วงวิธีทำการค้าของจีนที่สหรัฐฯ มองว่าไม่เป็นธรรมกับประเทศอื่น ปิดฉากความสัมพันธ์ฉันท์มิตรทางการค้าที่เคยทำประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศอย่างมหาศาล
หากสรุปจากพัฒนาการความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจกล่าวได้ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสองประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักและที่มาอาจแบ่งออกได้เป็นหลายประเด็น ดังนี้
ภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สหรัฐฯ มีปัญหาขาดดุลทางการค้ากับจีน คือสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออกไปยังจีน นี่ทำให้สหรัฐฯ มองว่าจีนใช้ประโยชน์จากระบบการค้าโลกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของตน โดยไม่เปิดโอกาสให้สินค้าจากสหรัฐฯ เข้าถึงตลาดจีนในระดับที่เท่าเทียมกัน
โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนครั้งแรกในปี 1985 โดยสหรัฐฯ มีการขาดดุลประมาณ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2023 โดยมีมูลค่าการขาดดุลสูงสุดในปี 2018 ที่ประมาณ 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2023 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนประมาณ 279.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากการนำเข้าจากจีนลดลง
สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของของประเทศอื่น โดยเฉพาะบริษัทในสหรัฐฯ ทั้งด้วยการจารกรรมทางไซเบอร์ โดยสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนสนับสนุนให้มีการจารกรรมทางไซเบอร์เพื่อขโมยข้อมูลทางเทคโนโลยีและความลับทางการค้าของประเทศอื่น และปล่อยปละละเลยให้มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ของสหรัฐฯ ในตลาดจีน
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังกล่าวหาว่าจีนบังคับให้บริษัทต่างชาติที่ต้องการลงทุนในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับพันธมิตรในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมของตนในหลายๆ ด้านอย่างมากเกินไป ซึ่งสร้างความได้เปรียบโดยเฉพาะในด้านราคา ที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศอื่นในตลาดโลก
โดยสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนให้เงินอุดหนุนโดยตรงแก่บริษัทของรัฐและบริษัทเอกชน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เทคโนโลยีขั้นสูงและพลังงานสะอาด อุดหนุนต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบและพลังงาน ให้ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อให้สินค้าจีนมีราคาถูกกว่าในตลาดโลก และจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือการให้เงื่อนไขทางการเงินที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทในประเทศ
นอกจากประเด็นทางการค้าแล้ว สงครามการค้ายังเกิดจากการที่สหรัฐฯ พยายามจำกัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารของจีน ที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตร
โดยสหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติในหลายด้าน ทั้งจากการจารกรรมทางไซเบอร์ โดยจีนถูกกล่าวหาว่าใช้การจารกรรมทางไซเบอร์เพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญ เช่น ความลับทางทหารและเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐฯ และใช้เงินที่ได้จากการขายสินค้ามาสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหาร ขยายอิทธิพลทางการเมืองและทหารในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
ความกังวลเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นต่อจีน รวมถึงการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังจีนและการสร้างความร่วมมือทางทหารกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อตอบโต้การขยายอิทธิพลของจีน
ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มออกมาตรการกีดกันสินค้าจีน เริ่มตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี จอร์จ บุช จนมาถึงปัจจุบัน
เริ่มตั้งแต่ปี 2004 ‘รัฐบาล จอร์จ บุช’ (2001-2009) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อจีนใน WTO หลายกรณี โดยเน้นไปที่การอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ การละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายภาษีของจีนที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลบุชยังได้เรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสินค้านำเข้าจากจีน เช่น เหล็กและสิ่งทอ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปั่นค่าเงินของจีน หรือการรักษาค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อเพิ่มการส่งออก
ต่อมา ใน ‘รัฐบาล บารัก โอบามา’ (2009-2017) สหรัฐฯ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนหลายกรณีต่อจีนใน WTO เพื่อประท้วงการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน และยังมีการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้านำเข้าจากจีน เช่น ยางรถยนต์และแผงโซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ รัฐบาลโอบามาได้กดดันให้จีนปรับค่าสกุลเงินหยวนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยให้มีค่าเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนมีความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงส่งเสริมข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยไม่รวมจีน เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง และลดอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้
ในสมัยของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (2017-2021) รัฐบาลทรัมป์ได้เรียกเก็บภาษีสินค้าจากจีน เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และเครื่องจักร เป็นมูลค่ากว่า 360 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับจีน อีกทั้งยังกล่าวหาจีนว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีและคว่ำบาตรบริษัทจีน เช่น Huawei โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ และห้ามบริษัทสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับบริษัทเหล่านี้
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังถอนสหรัฐฯ จาก Trans-Pacific Partnership (TPP) และในปี 2019 ได้ประกาศให้จีนเป็นประเทศที่มีการปั่นค่าเงิน โดยกล่าวหาว่าจีนลดค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบในการค้า
ต่อมา ในสมัยของ ‘โจ ไบเดน’ (2021-2024) รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงรักษากำแพงภาษีที่มีต่อสินค้าจากจีนที่ทรัมป์ได้กำหนดไว้ รวมถึงเพิ่มกำแพงภาษีเพิ่มเติมในสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าจาก 25% เป็นกว่า 100% และกำหนดข้อจำกัดในการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เพื่อจำกัดไม่ให้บริษัทและรัฐบาลจีนเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูงของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ไบเดนยังเชื่อมโยงนโยบายการค้ากับประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยมีมาตรการเช่น กฎหมายป้องกันการใช้แรงงานบังคับอุยกูร์ เพื่อจำกัดการนำเข้าจากเขตซินเจียง และมุ่งเน้นลดการพึ่งพาการผลิตของจีน โดยส่งเสริมการผลิตในประเทศและเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และเภสัชกรรม
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจของทั้งโลก เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีน เป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรกในโลก และมีบทบาทสำคัญในการค้าโลก
โดยสำหรับ ‘เศรษฐกิจสหรัฐ’ การศึกษาจาก International School of Beijing ชี้ว่า การเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนจำกัดการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภค และทำให้ระดับราคาสินค้าทั่วไปในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ตามการวิจัยจาก NBER (สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ) รายได้ที่แท้จริงของประชากรสหรัฐฯ ลดลงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณ ทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีกำลังผลิตสินค้ามากขึ้น และสามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นจริง ซึ่งทำให้ทั้งรายได้และการจ้างงานภายในสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหรัฐขาดดุลดารค้าลดลงจาก 6.2 แสนล้านดอลลาร์เป็น 6.16 แสนล้านดอลลาร์จากปี 2018 ถึง 2019 ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตของ GDP ของสหรัฐฯ
สำหรับ ‘เศรษฐกิจจีน’ สงครามทำให้ผู้ส่งออกจีนมีความสามารถในการทำกำไรลดลง และมีอัตราการว่างงานภายในประเทศมากขึ้น โดยจากการศึกษาของสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ส่งผลให้กำไรของบริษัทส่งออกของจีนลดลง โดยการเพิ่มขึ้นทุก 1% ของราคาสินค้าส่งออกรวมภาษี จะส่งผลให้กำไรของบริษัทส่งออกจีนลดลง 0.35% การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง 4.16% โดยเฉลี่ย ขณะที่การส่งออกทั้งหมดของจีนโดยรวมของจีนลดลง 0.83%
ทั้งนี้ ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่มีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยในการวิจัย จาก UCLA, Yale, UC Berkeley, และธนาคารโลก ชี้ว่า ประเทศที่เป็นกลางและไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะสามารถเพิ่มการการส่งออกสินค้าได้มากขึ้นเฉลี่ย 6.7% เพราะผู้นำเข้าทั้งในสหรัฐฯ และจีนจะเลือกนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันมากยิ่งขึ้น
ในช่วงที่สงครามการค้ามีความรุนแรง ประเทศบางประเทศเช่น เวียดนาม ไทย เกาหลีใต้ และเม็กซิโกสามารถเพิ่มการส่งออกได้อย่างมาก เพราะล้วนแต่เป็นประเทศที่สินค้าส่งออกไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการมาตรการกีดกันการค้าจากทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่เป็นฐานผลิตของสินค้าหลายประเภท
โดยในหมู่ผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด ‘เวียดนาม’ เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากสงครามการค้า เพราะเวียดนามสามารถเพิ่มการส่งออกยางรถยนต์ เสื้อสเวตเตอร์ และเครื่องดูดฝุ่นไปยังทั้งสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ได้จากการที่ผู้นำเข้าในประเทศตะวันตกต้องการหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าจากจีน
อ้างอิง: Council on Foreign Relations, UCLA Anderson Review, SCMP, วิจัย To what extent did US-China trade war affect the global economy, SCCEI