ข่าวเศรษฐกิจ

ปธน.หนีออกนอกประเทศแล้ว! ประเทศจะไปยังไงต่อเมื่อไร้ผู้นำ?

13 ก.ค. 65
ปธน.หนีออกนอกประเทศแล้ว! ประเทศจะไปยังไงต่อเมื่อไร้ผู้นำ?

 

ทนแรงกดดันของประชาชนไม่ไหว ประธานาธิบดีศรีลังกาพร้อมภริยาบินออกนอกประเทศไปมัลดีฟร์แล้ว รัฐบาลเตรียมประชุมเรื่องผู้นำใหม่ศุกร์นี้ คาดอาจทำให้การขอเงินกู้ IMF ต้องล่าช้าอีก

นายโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา พร้อมด้วยภริยาและบอดีการ์ดอีก 2 คน ได้หลบหนีออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินทหารในช่วงเช้าวันนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากไม่สามารถทนแรงกดดันจากประชาชน โดยรายงานระบุว่าขณะนี้นายราชปักษาได้เดินทางถึงกรุงมาเล่ ประเทศมัลดีฟส์แล้ว

ก่อนหน้านี้ นายราชปักษายืนยันว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่งในวันนี้ หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปยังบ้านพักในทำเนียบประธานาธิบดี รวมทั้งยังได้จุดไฟเผาบ้านพักของนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห เนื่องจากไม่พอใจต่อการบริหารประเทศ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

ศรีลังกามีกฎหมายที่คุ้มครองประธานาธิบดีระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ โดยไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ ทำให้นายราชปักษาเดินทางออกนอกประเทศโดยที่ยังไม่ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ความผิดพลาดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน ไม่มีเงินสกุลต่างประเทศ (ดอลลาร์) เพียงพอที่จะนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมัน อาหาร ปุ๋ย และยารักษาโรค รัฐบาลต้องพิมพ์เงินรูปีเพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการ จนทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 54.6% ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งทะยานขึ้นถึง 128% และค่าอาหารพุ่งขึ้น 80% อันเป็นผลจากการขาดแคลนพืชผลและน้ำมันดิบ


ศรีลังกาจะไปยังไงต่อในวันที่ไร้ผู้นำ?

000_32e47k8_1

ตำแหน่งประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งได้ 5 ปี และเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน หากประธานาธิบดีลาออกหรือเสียชีวิต รัฐสภาจะต้องมีการสรรหาประธานาธิบดีใหม่ จากสมาชิกรัฐสภา โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้ผู้นำใหม่ นายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่แทนชั่วคราวไปก่อน

รัฐสภาศรีลังกาจะจัดการประชุมในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.นี้ เพื่อเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 19 ก.ค. ส่วนการลงคะแนนเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ค. โดยกลุ่มสมาชิกรัฐสภาของพรรค Samagi Jana Balawegaya เตรียมเสนอชื่อนายสาชิต เปรมทาส ผู้นำพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นทางเศรษฐกิจนั้นเป็นที่น่าจับตามากกว่ากระบวนการทางการเมือง โดยบลูมเบิร์กอ้างนักวิเคราะห์หลายฝ่ายว่า ภาวะสุญญากาศทางการเมืองอาจส่งผลให้กระบวนการขอเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้องล่าช้าออกไปอีก และอาจทำให้ศรีลังกาต้องหันไปใช้การเจรจาขอเงินกู้ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น หรือขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น กองทุนอาหารโลกของยูเอ็น เพื่อบรรเทาสถานการณ์ไปพลางแทน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะลาออกทั้งคู่ และไปทั้งคณะรัฐมนตรีด้วย ทำให้ IMF ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการก่อน โดยในระหว่างนี้ คาดว่าหัวเรือใหญ่ที่จะเป็นผู้เจรจาเงินกู้และดูแลแผนปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศในตอนนี้ คือ ผู้ว่าการธนาคารกลาง และบรรดาข้าราชการในกระทรวงการคลัง แต่ก็มีความเสี่ยงที่รัฐบาลชุดใหม่อาจปัดตกแผนเงินกู้เดิมด้วยเช่นกัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT