"หอการค้าไทย เชื่อว่ากระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยในทางรัฐสภาได้พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ หลังจากนี้ ทั้ง 8 พรรคร่วมฯ คงจะกลับไปทำความเข้าใจและเจรจาพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกันใหม่อีกครั้ง และคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด"
จากผลการลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น หอการค้าไทย ประเมินว่า ยังอยู่ในกรอบกระบวนการระบอบประชาธิปไตยในทางรัฐสภาได้พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เร่งอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็ว หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยและต่างชาติ
“หอการค้าไทย เชื่อว่ากระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยในทางรัฐสภาได้พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็น candidate ยังไม่สามารถผ่านการลงคะแนนได้ในครั้งแรก ซึ่งก็ยังมี Timeline ครั้งที่ 2 - 3 ตามที่มีกำหนดออกมาเบื้องต้นในวันที่ 19 และ 20 ก.ค.นี้ และหลังจากนี้ ทั้ง 8 พรรคร่วมฯ คงจะกลับไปทำความเข้าใจและเจรจาพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกันใหม่อีกครั้ง และคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด” นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว
หอการค้าไทย เชื่อว่า หลังจากนี้จะมีกระบวนการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน ในที่สุดทุกฝ่ายจะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ
พร้อมสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะหากได้รัฐบาลล่าช้าออกไป การจัดตั้งครม. และการประกาศนโยบายต่อรัฐสภาอาจจะเกิดขึ้นช่วง ส.ค.- ก.ย.2566 และกว่าจะจัดทำงบประมาณแล้วเสร็จอาจได้เริ่มใช้งบประมาณประเทศในไตรมาส 2 ปี 67
โดยหากล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเอกชนจึงอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่รวดเร็วที่สุด เพื่อเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนภายใต้กฎหมาย ที่สามารถทำได้ และเห็นว่าทุกฝ่ายต่างยอมรับและเคารพในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเชื่อว่า ในระยะสั้นการชุมนุมจะอยู่บนพื้นฐานของความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมองว่าสามารถเติบโตได้ทั้งปี 3 - 3.5 %