เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเดินหน้าต่อไปได้ จากแรงขับเคลื่อนหลัก คือ การท่องเที่ยวไทย ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยจำนวนมาก ซึ่งภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยกันดูแลและผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าออกไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ รวมถึงผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชนที่ นักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอดูสถานการณ์การในประเทศ จะมีการชุมนุมประท่วงหรือไม่
จากผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นกังวลที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง 2566” มองว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2566 และทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
รวมถึง หากการชุมนุมประท้วงของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ตอนนี้เราต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านปัจจัยภายนอกประเทศ ส.อ.ท. ยังคงกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อและอัตาดอกเบี้ย
“ คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบในทุกระดับ โดยเฉพาะวิธีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth) และเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของ SMEs และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ลดภาระผู้ประกอบการรายเล็ก และช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องด้านการเงินในระบบเศรษฐกิจไทย” นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย
โดยในมุมมองของ ดร.กอบศักดิ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ประเมินว่า เรื่องของกระบวนการทางการเมืองให้เดินตามกระบวนการที่ตั้งไว้ ส่วนหัวใจที่สำคัญระหว่างทางขณะนี้ คือ การประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ หนึ่งในนั้นก็ คือ เรื่องของการท่องเที่ยว ถ้าเราสามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้ดีให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาล
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีงบประมาณเพียงพอในการเดินหน้าในเรื่องนี้ ส่วนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เข้ามาช่วยเรื่องของการกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น เช่น เรื่องของการขอวีซ่า
ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีก 1 เครื่องยนต์ ด้วยของการใช้งบประมาณเบิกใช้จ่ายตามกรอบงบประมาณเดิมไปก่อน ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จนถึงต้นปีหน้า
จากโจทย์ของประเทศไทยที่ว่า เมื่อการเมืองต้องใช้เวลา เราก็ต้องคิดว่าจะอยู่อย่างมีเสถียรภาพ โชคดีที่ไทยอยู่ในเขตเศรษฐกิจอาเซียนที่เศรษฐกิจยังเติบโตไปได้ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป
ดร.กอบศักดิ์ “ ขณะนี้เราทุกฝ่ายต้องพยายามให้กำลังใจให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทิศทางที่เหมาะสม ทุกคนรับได้ ประเทศชาติไปต่อได้ เรารอดูว่า ทางการเมืองจะคลี่คลายปัญหาไปอย่างไร ไทยในเรื่องของเศรษฐกิจมหภาคเรายังไปได้ อัตราเงินเฟ้อเรายังต่ำ 0.23% ต่ำที่สุดของโลก รองจากจีน ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในฐานะที่เหมาะสม ค่าเงินบาทก็ไม่ผันผวนมากอยู่ในเกณฑ์ทืมีเสถียรภาพพอสมควร ภาคแบงก์ยังเข้มแข็งมีกำไรเพียงพอที่จะดูแลผลกระทบและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ เป็นกำลังสำคัญที่ดูแลภาคเอกชน และลูกค้าได้ ภาคธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไทยก็เข้มแข็ง เวลาเกิดมรสุมจากภายนอกไทยสามารถเดินหน้าไปได้”
ขณะที่เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศ มองว่า นักลงทุนคงรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ ขณะเดียวกันทำให้เงินทุนไหลออกต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักทุนได้เริ่มนำเงินไปลงทุนสินทรัพย์ที่ให้อัตราตอบแทนสูงกว่าในต่างประเทศ เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกผลตอบแทนของตลาดหุ้นแนสแดกเกือบ 40% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ดัชนีดาวโจนส์ ขยายตัวได้ดี ตลาดคริปโตปรับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ปรับตลาดหุ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ไทยเป็นหลุมหลบภัยที่ดีเมื่อปีที่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เงินทุนไหลเข้าภาพจึงออกมาไม่ดี
คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “คาดหวังรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ยึดเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพี ผู้นำรัฐบาลให้ความสำคัญกับปากท้องทำให้เศรษฐกิจดี เศรษฐกิจสะอาด มีเทคโนโลยี สร้างความยั่งยืน และไม่เอาเศรษฐกิจที่เป็๋นมลพิษ”
รัฐบาลมีความล่าช้าส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนหรือไม่ คุณวิกรม กล่าวว่า “วันนี้ลูกค้าของอมตะที่จะตัดสินใจ พอมาเห็นโหงวเฮ้งในเมืองไทย จะเข้ามาลงทุนในอมตะก็หยุดเลย บอกรอเดี๋ยว เดิมที่จะสรุปตัดสินใจ เพราะไม่มั่นใจถึงความขัดแย้งจะมีลงถนนไหม เพราะช่วง 9-10 ปีก่อนโน้นมีประสบการณ์ ประเทศไทยถ้ามีรัฐประหารเดี๋ยวเดียวก็จบ แต่ถ้าเป็นความขัดแย้งของคนยืดยาว นำไปสู่การทำร้ายกัน ที่ผ่านมาเราเสียชีวิตกันเป็น 100 คน เขากำลังกลัว กลัวสิ่งเหล่านี้จะกลับมาอีก นี่เป็นสิ่งที่ทำให้แม้กระทั่ง อมตะเองยังประสบปัญหา และถ้ามันยืดเยื้อไปเรื่อยๆ ละ เดิมที่เขาจะมาเมืองไทย เขาก็ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียแทน หากไม่มีเม็ดเงินการลงทุนเศรษฐกิจไทยก็จะแย่”
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ประเด็นการตั้งรัฐบาลล่าช้ามองว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริโภคไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทั้งกลุ่มแพคเกจจิ้งและเคมิคอลส์ ขณะที่กลุ่มซีเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ เป็นกลุ่มที่คาดว่าได้รับผลกระทบหากตั้งรัฐบาลลากยาวไป ทำให้โครงการลงทุนใหม่ไม่ได้อนุมัติ