เหตุการณ์ใหญ่ที่ทุกคนจับตามองขณะนี้ คงหนีไม่พ้นสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส กลุ่มกำลังติดอาวุธของปาเลสไตน์ ที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อและชีวิตและเศรษฐกิจของคนในพื้นที่
ทั้งชาวอิสราเอลที่เสียชีวิตในการโจมตีครั้งแรก 1,500 คน และชาวปาเลสไตน์ในเขตกาซาที่เสียชีวิตแล้วถึง 2,700 คน บาดเจ็บเกือบ 9,700 คน จากการโจมตีด้วยมิสไซล์ของอิสราเอล ซึ่งส่วนมากเป็นพลเรือน และ 25% เป็นเด็ก
ถึงแม้ข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลจะดำเนินยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 100 ปี แล้ว หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุของความขัดแย้งนี้ และยังไม่รู้จัก ‘ดินแดนปาเลสไตน์’ ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวปาเลสไตน์ภายใต้อาณาจักรออตโตมันมาเป็นเวลากว่า 350 ปี ก่อนจะถูกอังกฤษที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในปี 1917 ประกาศให้เป็นดินแดนของชาวยิว ทำให้เกิดการอพยพเข้ามาของชาวยิว และการต่อสู้แย่งดินแดนกันอย่างเข้มข้น จนในปัจจุบันชาวปาเลสไตน์ที่ตั้งรกรากในพื้นที่มาเป็นเวลาหลายร้อยปี เหลือเพียงผืนดินสองผืนคือ ‘กาซา’ และ ‘เวสต์แบงก์’ (West Bank) เป็นที่อยู่อาศั
ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนไปรู้จักเศรษฐกิจใน ‘รัฐปาเลสไตน์’ กันว่ามีความเป็นมาอย่างไร ชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบันพยายามดำเนินชีวิต ดำเนินเศรษฐกิจ และเอาตัวรอดอย่างไรท่ามกลางความขัดแย้ง และการปกครองของอิสราเอล รวมไปถึงหากไม่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับอิสราเอล ปาเลสไตน์ จะสามารถพัฒนาไปอย่างไรได้บ้างด้วยทรัพยากรที่มีในปัจจุบัน
‘ปาเลสไตน์’ แหล่งแรงงานราคาถูก และตลาดส่งออกสินค้าของอิสราเอล
แม้จะเป็นชนชาติที่ตั้งรกรากในพื้นที่มาก่อน ปัจจุบัน ‘ดินแดนปาเลสไตน์’ หรือเขตแดนของชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ประกอบไปด้วย 2 พื้นที่ด้วยกันคือ พื้นที่ ‘เวสต์แบงก์’ ขนาด 5,860 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ติดกับเขตแดนของประเทศจอร์แดน และ ‘กาซา’ ขนาด 365 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติของปาเลสไตน์ ในปี 2022 มีชาวปาเลสไตน์กว่า 14.3 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วโลก โดยแบ่งเป็นประชากรในเวสต์แบงก์ทั้งหมด 3.19 ล้านคน และ ในกาซาทั้งหมด 2.17 ล้านคน ทำให้ในปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมดประมาณ 5.36 ล้านคน
ในด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ปาเลสไตน์มีการติดต่อค้าขายกับหลายประเทศ เช่น อิสราเอล ตุรกี และซาอุดีอาระเบีย โดยในปี 2021 สินค้าส่งออกสามอันดับแรกของปาเลสไตน์คือ หินก่อสร้าง เศษเหล็ก และฝาพลาสติก ขณะที่สินค้านำเข้าสามอันดับแรกคือ ไฟฟ้า ปิโตรเลียมกลั่น และอาหารสัตว์
โดยประเทศที่กินสัดส่วนการค้าของปาเลสไตน์สูงที่สุดก็คือ ‘อิสราเอล’ ที่เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งของปาเลสไตน์ ซึ่งในปีเดียวกันนำเข้าสินค้ามูลค่าทั้งหมด 1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่งออกสินค้าไปปาเลสไตน์ถึง 4.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทิ้งห่างอันดับสองอย่างตุรกีที่ส่งออกสินค้าไปปาเลสไตน์ได้เพียง 444 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลนี้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของปาเลสไตน์ต้องพึ่งพาอิสราเอลเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือมีการขาดดุลทางการค้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะอิสราเอลเป็นผู้ควบคุมเมืองท่าและเส้นทางการค้าของปาเลสไตน์ ทำให้สินค้าส่วนมากของปาเลสไตน์ถูกส่งออกให้กับอิสราเอล ขณะที่ปาเลสไตน์ต้องทำหน้าที่เป็นตลาดรองรับสินค้าของอิสราเอลโดยแทบไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ทำให้ปาเลสไตน์ขาดดุลการค้ากับอิสราเอลมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
นอกจากนี้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในปาเลสไตน์ยังพัฒนาไปไม่ทันรองรับจำนวนประชากร แถมยังต้องเจอกับเหตุความไม่สงบอยู่เรื่อยๆ ปาเลสไตน์จึงมีอัตราการว่างงานสูง โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติปาเลสไตน์ เพียง 1 ใน 4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในเวสต์แบงก์และกาซาเท่านั้นที่จะมีงานทำ และในปี 2022 อัตราการว่างงานในเวสต์แบงก์นั้นสูงถึง 13% ในขณะที่อัตราการว่างงานในกาซาที่ต้องเจอเหตุความไม่สงบอยู่เสมอนั้นสูงถึง 45% และหนึ่งในสถานที่ที่คนปาเลสไตน์นิยมเข้าไปทำงานมากที่สุดก็คืออิสราเอล เพราะอยู่ใกล้ และเดินทางสะดวก
จากรายงานล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มีชาวปาเลสไตน์ที่อายุมากกว่า 15 ปีประมาณถึง 87,000 คน หรือประมาณ 10% ของประชากรของปาเลสไตน์ทั้งหมดที่มีงานทำ และเข้าไปทำงานในอิสราเอล ทั้งในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิต และการเกษตร ซึ่งจากการสำรวจของสหภาพแรงงานของปาเลสไตน์ มีรายงานว่ามีการกดขี่ มีการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และถึง 65% เผยว่าเคยต้องสัมผัสกับสารอันตรายในระหว่างทำงาน
สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้ประชากรปาเลสไตน์ส่วนมากอยู่ในความยากจน และต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากนานาชาติหรือเงินช่วยเหลือจากญาติซึ่งเป็นผู้อพยพในประเทศอื่นๆ ในการดำรงชีวิต โดยมี GDP ต่อหัวเพียง 3,663.97 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศใกล้เคียงอย่างอิสราเอลมี GDP ต่อหัวสูงถึง 52,170.71 ดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกับราวฟ้ากับเหวของอิสราเอลและปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ไม่ได้เป็นเพราะคนปาเลสไตน์ไม่มีความพยายาม ไม่มีความสามารถ หรือไม่มีศักยภาพในการพัฒนา แต่เป็นเพราะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เจอมาตรการกีดกันทางการค้า และความรุนแรงขัดขวางไม่ให้เกิดการพัฒนาที่ราบรื่น ซึ่งจากหลักฐานในสื่อ รายงาน การวิจัย หรือบันทึกในหน่วยงานระดับโลกต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่มาจากประเทศใกล้เคียงอย่าง ‘อิสราเอล’
จากรายงานของธนาคารโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปาเลสไตน์ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้เท่าที่ควรมาจากการที่อิสราเอลออกมาตรการกีดกันไม่ให้ปาเลสไตน์ส่งออกสินค้า หรือนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่อิสราเอล นอกจากนี้ยังมีการกั้นเขตแดน ตั้งจุดตรวจจุดสกัดแม้แต่ในพื้นที่ของปาเลสไตน์เอง ทำให้การทำธุรกิจหรือทำงานในพื้นที่เป็นไปอย่างยากลำบาก มีการบังคับให้เกษตรกรสมัครทำบัตรผ่านในการเข้าไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งส่วนมากจะถูกปฏิเสธ
โดยจากการประมาณการณ์ของธนาคารโลก การปิดกั้นไม่ให้มีการเดินทางไปทำงานอย่างสะดวกในเวสต์แบงก์ที่เดียวก็สร้างความเสียหายให้ปาเลสไตน์แล้วถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 35% ของ GDP
ดินแดนปาเลสไตน์ อดีตเมืองท่าที่ถูกความขัดแย้งปิดตาย
ในช่วงก่อนการปกครองของอังกฤษในปี 1917 ไปจนถึงการสิ้นสุดการปกครองในปี 1948 พื้นที่ที่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของดินแดนปาเลสไตน์และอิสราเอลแห่งนี้คือเมืองท่าที่กำลังเจริญเติบโตของอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับประเทศในยุโรปและตะวันออกกลางผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ปาเลสไตน์ในสมัยนั้นมีท่าการค้าสำคัญ 2 แห่งคือที่ Yaffa และ Haifa และมีสินค้าส่งออกสำคัญคือส้มและผลไม้ตระกูลส้มอื่นๆ โดยในช่วงปี 1930s พบว่ามีการตั้งธนาคาร บริษัทขนส่งสินค้าทางทะเล รวมไปถึงบริษัทส่งออกนำเข้ามากมายเพื่อรองรับกิจกรรมทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในพื้นที่นี้ก็ถูกความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับและชาวยิวรบกวนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่อังกฤษเข้ามายึดครองพื้นที่ปาเลสไตน์หลังอาณาจักรออตโตมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ไปในปี 1917 และมีการประกาศใน Belfour Declaration ว่าปาเลสไตน์เป็นดินแดนของชาวยิว หรือ ‘ดินแดนคานาอัน’ (Canaan) อันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวยิวเชื่อว่าพระเจ้าสัญญาว่าจะมอบให้
ประกาศนี้ทำให้ชาวยิวจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ จนมีความขัดแย้งกับชาวอาหรับหรือชาวปาเลสไตน์ที่มีการตั้งรกรากอยู่ก่อน และทำให้เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอาหรับขึ้นในช่วงปี 1936-1939 และอีกหลายความรุนแรงในครั้งต่อๆ มา จนในปี 1947 องค์การสหประชาชาชาติหรือ UN ตั้งตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย และแบ่งแยกพื้นที่ปาเลสไตน์ออกเป็นพื้นที่ของชาวยิว ซึ่งประกาศเอกราชในปี 1948 และพื้นที่ของชาวอาหรับคือบริเวณกาซาซึ่งต่อมาถูกปกครองโดยอียิปต์ และเวสต์แบงก์ซึ่งปกครองโดยจอร์แดน
ตั้งแต่นั้นมา เศรษฐกิจของปาเลสไตน์ทั้งในเขตกาซาและเวสต์แบงก์ซึ่งพึ่งพาการเกษตรและภาคการบริการอยู่ในขณะนั้น ก็เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนในทั้งสองพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงเมืองท่าสำคัญคือ Yaffa และ Haifa ซึ่งหลังจากปี 1947 กลายเป็นพื้นที่ของอิสราเอลได้ ทำให้ไม่มีช่องทางส่งออกสินค้า หรือติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยไม่ผ่านอิสราเอล ชาวอาหรับเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองท่าก็ถูกไล่ออกมากลายเป็นผู้อพยพ ซึ่งบ้างหลบหนีออกนอกประเทศ หรือเข้าไปอาศัยในกาซาและเวสต์แบงก์
และการที่พื้นที่กาซาและเวสต์แบงก์ถูกตัดขาดออกเส้นทางการค้านี้เอง ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียเปรียบชาวอิสราเอลเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่มีเงินทุนและการสนับสนุนจากนานาชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ยังไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจหรือทำการค้าขายใดๆ ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากฝั่งที่เป็นศัตรูอย่างอิสราเอล
แน่นอนว่าเมื่อได้อำนาจในการบีบบังคับชาวปาเลสไตน์มาเช่นนี้แล้ว อิสราเอลก็ใช้ความได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์ เพราะเห็นว่าในช่วงศึกสงคราม สิ่งที่ทำร้ายและบ่อนทำลายปาเลสไตน์ได้มากที่สุดก็คือการกีดกันทางการค้า และการตัดตอนการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ให้ประชาชนหรือรัฐบาลของชาวปาเลสไตน์มีรายได้หรืออำนาจทางเศรษฐกิจมากพอขึ้นมาแข็งข้อกับอิสราเอลได้
ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม บ่อเกิดการกดขี่ และความยากจน
อย่างที่ได้อธิบายไว้ในส่วนแรก ปัจจุบันปาเลสไตน์กลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากนานาประเทศ และกลายเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกและแหล่งส่งออกสินค้าสำคัญของอิสราเอล ทำให้มีการขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมากกับอิสราเอล และมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถเป็นภาคส่วนหลักในการพัฒนาสังคมให้กับชาวปาเลสไตน์ได้
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ด้อยพัฒนานี้ไม่ใช่ผลจากการขาดความสามารถ หรือขาดความพยายามของชาวปาเลสไตน์ แต่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้ามากมายของอิสราเอล ที่ออกแบบมาให้การพัฒนาเศรษฐกิจของปาเลสไตน์ทำได้ยากมากที่สุด
มาตรการเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ปี 1947 ที่อิสราเอลได้เป็นผู้ควบคุมเส้นทางทางการค้าของดินแดนปาเลสไตน์เดิม ทำให้ประชาชนในกาซาและเวสต์แบงก์ไม่สามารถติดต่อกับคู่ค้าเก่าอย่างยุโรปหรือประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ได้ ซึ่งบีบบังคับกลายๆ ให้ปาเลสไตน์มีคู่ค้าเดียวคืออิสราเอล ที่หลังการเข้าไปยึดครองในปี 1967 สามารถจะออกมาตรการอะไรออกมากีดกันชาวปาเลสไตน์ก็ได้
มาตรการทั้งหลายรวมไปถึงการกีดกันไม่ให้มีการส่งออกสินค้าจากปาเลสไตน์ไปยังอิสราเอลและประเทศอื่นๆ ด้วยกำแพงข้อกำหนดต่างๆ รวมไปถึงด้านคุณภาพ และการเปิดให้มีการส่งออกสินค้าอย่างเต็มที่จากอิสราเอลไปปาเลสไตน์ ซึ่งในขณะนั้นมีรายได้หลักเป็นจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ขณะที่กีดกันไม่ให้มีปาเลสไตน์นำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี หรือการใช้กำลังทหารห้ามไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าโดยตรง
หลังการยึดครองในปี 1967 กาซาซึ่งเคยส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปยุโรปได้ ก็ถูกบังคับให้ส่งออกสินค้าได้ผ่านทาง Citrus Marketing Board ของอิสราเอลเท่านั้น ทำให้เกษตรกรเสียรายได้จากการส่งออกไป นอกจากนี้ ยังมีการกีดกันไม่ให้มีการส่งออกสินค้าการเกษตรไปอิสราเอล ขณะที่อิสราเอลส่งออกสินค้ามาปาเลสไตน์ได้อย่างอิสระ ทำให้ปาเลสไตน์ขาดดุลการค้าอย่างหนักกับอิสราเอลตั้งแต่นั้นมา
โดยในปี 1984 การค้าในเวสต์แบงก์กับอิสราเอลคิดเป็นถึง 80% และสินค้านำเข้าจากอิสราเอลคิดเป็น 90% ของสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าในพื้นที่ ทำให้เรียกได้ว่าตั้งแต่นั้นมาปาเลสไตน์ก็กลายเป็นแหล่งรายได้ บ่อเงินบ่อทองหนึ่งของอิสราเอล ขณะที่ชาวปาเลสไตน์แทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากความสัมพันธ์ทางการค้านี้เลย
ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมนี้ทำให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ตกอยู่ในความยากจน และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยที่ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ และถึงแม้จะมีการลงนามใน Oslo Accords ระหว่างอิสราเอลและ “องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์” หรือ PLO ในปี 1993 เพื่อแก้ไขความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม โดยการเปิดให้มีการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศอย่างเสรี รวมไปถึงเปิดให้ชาวปาเลสไตน์ใช้โครงสร้างพื้นฐานในการทำการค้าและส่งออกเช่นท่าเรือได้ สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น
โดยถึงแม้หลังมีการลงนามใน Oslo Accords จะมีการเปิดให้ชาวปาเลสไตน์ส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นจริง แต่สุดท้ายสินค้าของปาเลสไตน์ก็ยังถูกกีดกันด้วยกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่อิสราเอลเป็นผู้กำหนด ทำให้ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างล่าช้า และมีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้สินค้าของปาเลสไตน์มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกน้อยลง อีกทั้งยังมีการตั้งจุดตรวจของขึ้นมาอยู่ตลอดทั้งในชายแดน และภายในพื้นที่ของปาเลสไตน์ ทำให้การขนย้ายของเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
นอกจากนี้ อีกปัญหาสำคัญที่รัฐบาลปาเลสไตน์เจอในขณะนี้ก็คือการที่อิสราเอลมักจะใช้การ “ริบ” ไม่ส่งต่อเงินภาษีที่รวบรวมได้จากด่านศุลกากรจากประเทศอื่นที่ส่งออกสินค้ามายังปาเลสไตน์ เพื่อเป็นการโต้ตอบทางการเมือง เพราะตามที่ตกลงกันไว้ใน Oslo Accords รัฐบาลอิสราเอลจะเป็นผู้รวบรวมเงินภาษีก้อนนี้จากท่าการค้าต่างๆ แล้วส่งต่อให้กับปาเลสไตน์เป็นรายเดือน ทำให้รัฐบาลปาเลสไตน์เสี่ยงเสียรายได้ก้อนใหญ่ที่อาจจะนำมาพัฒนาความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อยู่เสมอ หากมีเหตุการณ์ใดที่ทำให้รัฐบาลอิสราเอลไม่พอใจ
โดยนับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา หนึ่งในตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่อิสราเอลใช้มาตรการนี้เพื่อลงโทษปาเลสไตน์คือ ในปี 2012 ที่ปาเลสไตน์ ขอสถานะ ‘รัฐ’ non-member observer state จาก องค์การสหประชาชาติได้สำเร็จ ทำให้อิสราเอลตัดสินใจยึดภาษีก้อนนี้ไว้กับตัว และทำให้ปาเลสไตน์สูญรายได้ถึงประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารากของความยากจนและความยากลำบากของคนในพื้นที่ปาเลสไตน์ล้วนแต่เกิดจากการใช้อำนาจทางการเมือง และทางเศรษฐกิจของอิสราเอลเพื่อบีบให้ชาวปาเลสไตน์ต้องจำยอมอยู่ภายใต้สถานะที่ด้อยกว่าอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ทำให้หากในวันใดที่ปาเลสไตน์ได้รับสถานะที่เท่าเทียม และมีโอกาสทำการค้าอย่างเสรีกับนานาประเทศ ปาเลสไตน์ก็มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อในน่านน้ำและพื้นที่ของปาเลสไตน์และอิสราเอลมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่
ทรัพยากรน้ำมัน ความหวังการพัฒนาเศรษฐกิจปาเลสไตน์
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางธรณีวิทยาได้พิสูจน์แล้วว่า ในน่านน้ำและพื้นที่ของปาเลสไตน์และอิสราเอลมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ โดยพบใน Area C ของเวสต์แบงก์ และชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของกาซา โดยเฉพาะในพื้นที่ Levant Basin ที่พบว่าก๊าซธรรมชาติอยู่ถึง 122 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่าถึง 4.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และน้ำมันดิบถึง 1.7 พันล้านบาร์เรล มูลค่าถึง 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ประชาชนปาเลสไตน์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้เป็นเพราะอิสราเอลยังควบคุมเศรษฐกิจของปาเลสไตน์อยู่ และถ้าหากจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้จะต้องขออนุญาตจากอิสราเอล
ดังนั้น จึงมีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้อิสราเอลเปิดให้ชาวปาเลสไตน์สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้ ซึ่งรายได้จากการส่งออกเชื้อเพลิงพลังงานเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาพลังงานของปาเลสไตน์ และจะช่วยสร้างรายได้ที่จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของปาเลสไตน์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวปาเลสไตน์ได้อย่างมหาศาล
อีกทั้งยังเรียกร้องให้อิสราเอลรักษากฎหมายระหว่างประเทศ และร่วมหาแนวทางในการใช้ทรัพยากรนี้ร่วมกับปาเลสไตน์อย่างเป็นธรรม ไม่นำทรัพยากรเหล่านี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองเพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ทรัพยากรนี้เป็นทรัพยากรที่เป็นสมบัติร่วมของทั้งชาวปาเลสไตน์ที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อน และทั้งชาวอิสราเอลที่เข้ามาตั้งพื้นที่อยู่อาศัยทีหลัง
โดยหากอิสราเอลไม่เปิดโอกาสให้ปาเลสไตน์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนี้ ปาเลสไตน์จะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในระดับหมื่นไปจนถึงแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังเสี่ยงทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสองชนชาติมากขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าหากเกิดความรุนแรงหรือสงครามขึ้นแล้วก็จะต้องเจอความเสียหายย่อยยับทั้งสองฝ่าย และจะไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์จากทรัพยากรนี้เลย
โอกาสเกิดสันติภาพ ระหว่าง อิสราเอล - ปาเลสไตน์
เมื่อดูจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่าคิดว่าการเน้นใช้กำลังทั้งทางการทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ กดขี่อีกฝ่ายให้ไม่มีทางสู้นั้นเป็นวิธีที่ดีจริงหรือไม่ เพราะอย่างไรสุดท้ายหากรังแกกันไปในอนาคตก็ต้องมีฝ่ายที่ไม่พอใจจนทนไม่ไหว ต้องเปิดฉากความรุนแรงขึ้นก่อน และแม้จะมีฝ่ายแพ้ในการต่อสู้ครั้งนี้ ในครั้งหน้าก็ต้องมีการต่อสู้ครั้งใหม่เพื่อแก้แค้นหรือเรียกร้องความยุติธรรมให้กับฝั่งตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แม้การระงับความขัดแย้งและสร้างความสงบสุขระหว่างสองประเทศจะเป็นสิ่งที่ต้องทำ แน่นอนว่าหนทางสู่สันติภาพของทั้งฝั่งคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะถึงแม้ในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากได้พยายามเป็นตัวกลางให้ทั้งสองประเทศประนีประนอม พูดคุย ปรับความสัมพันธ์มาโดยตลอด เช่น Oslo Accords ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับให้สถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น อย่างไรก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นเรื่อยมา เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนของตัวเองมากที่สุด และเลือกที่จะไม่ประนีประนอม
นอกจากนี้ นานาชาติยังมองอีกว่าความหวังที่จะสร้าง “two-state solution” หรือแม้แต่ “one-state solution” หรือการที่มีสองรัฐหรือสองชนชาติอยู่ร่วมกันในรัฐเดียวอาจจะหมดไปแล้ว เพราะความรุนแรงของทั้งสองชาติรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความบาดหมางคงไม่หมดไปง่ายๆ ถึงแม้จะมีความตกลงที่ให้ความเท่าเทียมของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นมาอีก นอกจากนี้ผู้นำของทั้งสองฝั่งยังมีท่าทีแข็งกร้าวต่อกัน ปลุกปั่นให้ประชาชนโกรธแค้น ทำให้เรื่องยิ่งบานปลาย
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงอาจไม่ใช่การใช้กำลังกำจัดคู่ต่อสู้ให้สิ้นซาก แต่เป็นการหันหน้าเข้าหากันเพื่อพูดคุยหาข้อตกลง และหาทางที่ทั้งสองชนชาติจะเติบโต และพบกับความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันก็ได้
บทบาทสำคัญจึงตกอยู่ที่องค์กรนานาชาติและผู้นำของทั้งสองประเทศที่ต้องพยายามเจรจาหาความสงบก่อนเพื่อระงับความเสียหาย ก่อนเริ่มพูดคุยเพื่อสร้างความตกลงที่ให้ความเป็นธรรมและเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งแม้การหาจุดสมดุลระหว่างสองฝั่งนี้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย และล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นว่าตัวเองมีสิทธิอย่างชอบธรรมในพื้นที่พิพาท แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำเพราะในโลกที่เศรษฐกิจของทุกประเทศเชื่อมโยงกัน ความขัดแย้งของทั้งสองฝั่งหากลุกลามจะส่งผลกระทบกับทั้งโลกแน่นอน
อ้างอิง: PCBS, UNCTAD (1), UNCTAD (2), OEC, Reuters, World Bank