หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมในหลายประเทศ พยายามสร้างSpotlight ให้ฉายกลับมาที่ไทยและพยายามชักจูงให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง เกิดทำถามว่า ความน่าสนใจของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนอย่างเช่นเวียดนามเป็นอย่างไร ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟัง ณ ที่นี้ ก่อนที่จะลงในรายละเอียดถึงบทบาทไทยในเวทีโลกผู้เขียนขออนุญาตเล่าความจริงด้านเศรษฐกิจไทยเทียบกับเอเชียและอาเซียน 3ประการ คือ
หากพิจารณาเมื่อเทียบกับเอเชียแล้วการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) ของเราอยู่ในระดับต่ำมากโดยเติบโตเฉลี่ย 1.9% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นระดับเดียวกับญี่ปุ่น (0.6%) ฮ่องกง (1.2%) และเกาหลีใต้ (2.6%) แต่ทั้งสามประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าไทย (ที่อยู่ที่ประมาณ 7,100ดอลลาร์ต่อคนต่อปี) ถึง 5-7 เท่า หรือกล่าวโดยง่ายคือ ประเทศไทย จนแต่ไม่โตเร็วเหมือนเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม (10 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ย6.0%) ฟิลิปปินส์ (5.0%) มาเลเซีย (4.2%) อินโดนีเซีย (4.3%) อินเดีย(5.9%) และจีน (6.2%)
ไทยมีระดับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติหดตัวโดยเฉลี่ย-6.0% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเมียนมาที่หดตัว -7.4% ขณะที่สิงคโปร์มีอัตราการเติบโตของ FDI ปีละประมาณ 7% ส่วนเวียดนามทรงขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 6.7% ฟิลิปปินส์ (7.4% ต่อปี)และ กัมพูชา (6.9% ต่อปี) อาเซียน 4% ขณะที่ มาเลเซีย และอินโดนิเซีย การลงทุนโดยตรงชะลอตัวลงโดยเฉลี่ยปีละ 1-3%
คนไทยคือคนวัยกลางคน โดยอายุเฉลี่ย (Median age) ของคนไทย อยู่ประมาณ 39.7 ปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับจีน (39 ปี) ญี่ปุ่น (49.1 ปี) สิงคโปร์ (42.8 ปี) แต่แก่กว่าเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม (32.8ปี) ฟิลิปปินส์ (25 ปี) อินเดีย (28.2 ปี) และอินโดนิเซีย (30 ปี)และหากพิจารณามาตรชี้วัดด้านประชากรศาสตร์ต่าง ๆ เช่นอัตราเจริญพันธุ์ของสุภาพสตรี พีระมิดประชากรวมถึงการคาดการณ์จำนวนผู้ที่ต้องพึ่งพา (Dependency ratio) ต่าง ๆมาตรเหล่านี้ของไทยจะอยู่ระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้นซึ่งภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่าทั้งจำนวนแรงงานและกำลังซื้อของไทยจะลดลงในระยะต่อไปขณะที่เพื่อนบ้านจะเติบโตมากขึ้น
ทั้งสามความจริงนี้บ่งชี้ว่าเรากำลังถูกลดความสำคัญลงในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคท่ามกลางกระแสโลกและไทยที่กำลังเปลี่ยนไปใน 4 กระแสหลัก
โดยหากพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสังคมโลกเผชิญกับทั้งวิกฤตสาธารณสุขขนาดใหญ่ในรอบ 100 ปี วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากการ Lockdown (และอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในปีหน้า)
เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้นฃตามมาด้วยความอดอยากและวิกฤตอาหารในประเทศกำลังพัฒนาการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ การล้มละลายของสถาบันการเงินที่สำคัญในประเทศเจริญแล้ว สงครามขนาดใหญ่ถึง2 สงครามที่เกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี (และเป็นสงครามที่ยังไม่เห็นจุดจบโดยง่าย)
ความขัดแย้งและการประท้วงในหลายประเทศทั่วโลก และที่สำคัญที่สุด ได้แก่วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่นำไปสู่สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว (Extreme weather) เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกรุนเเรง น้ำท่วมหนักภัยเเล้ง เเละไฟป่า
กระแสสงครามเย็นระหว่างชาติตะวันตกกับจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแส Deglobalization หรือการลดระดับของกระแสโลกาภิวัฒน์ลง โดยประเด็น China derisking นี้ นำมาสู่การที่ชาติตะวันตกลดบทบาทและความสัมพันธ์กับจีนลง ทั้งในด้านการค้า การลงทุนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษี
การที่บริษัทขนาดใหญ่ลดการลงทุน-ถอนการลงทุนในจีน รวมถึงประเด็นด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น จำกัดการส่งสินค้าไฮเทคไปสู่จีนโดยเฉพาะชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพในการคำนวณสูง
โดยในรูปแบบการค้า เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบเศรษฐกิจแบบ “Factory Asiamodel” ที่ ทำให้เอเชียมีรายได้มากขึ้นและหันกลับมาค้าขายกันเองภายในทวีป (Intra-Asian Trade) มากขึ้นจาก 46%ในปี 1990 เป็น 58% ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลทั้งจากกระแสสังคมเมือง(urbanization) ในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นและรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของการลงทุนในเอเชีย หลังเกิดกระแส China derisking ที่ทำให้การลงทุนไหลออกจากจีนทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้จะย้ายฐานไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ที่นิตยสาร TheEconomist เรียกว่า "ห่วงโซ่อุปทานทางเลือกของเอเชีย" หรือ Alternate Asia หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Altasia (อัลเทเชีย) ไล่เลียงตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ ไปจนถึงอินเดีย
ซึ่งกระแสนี้นอกจากจะเกิดขึ้นทั้งกับผู้ผลิตจากชาติตะวันตกแล้วผู้ผลิตในเอเชียด้วยกันเอง ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงผู้ผลิตในจีนเองก็หันมาย้ายฐานการลงทุนในเอเชียเพิ่มมากขึ้น
ผ่านการบูรณาการของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Internet of Thing AI รถยนต์ไฟฟ้า (EV) วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะให้ความหวังในผลผลิตและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และในทางกลับกันก็เป็นแหล่งรายได้ของประเทศผู้ผลิตเช่นกัน กระแสปฎิวัติอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ประเทศในเอเชียจับกระแสดังกล่าว และเพื่อตั้งต้นเองเป็นแชมเปี้ยนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเหล่านั้นโดยในสิงคโปร์ พยายามจับอุตสาหกรรมการเงินและเทคโนโลยี โดยธนาคารขนาดใหญ่ เช่น OCBC และ UOB ตั้งใจที่จะเป็นสถาบันการเงินของภูมิภาค ขณะที่ล่าสุดบริษัทในเครือ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปสำคัญของไต้หวัน กำลังวางแผนที่จะลงทุนขนาดใหญ่ในสิงคโปร์
ในเวียดนาม จุดเด่นด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเป็นฐานการผลิตสำคัญให้กับซัมซุง ในมาเลเซียเน้นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IT และดิจิทัลโดยสามารถส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ได้มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนและมีดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์สูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากไต้หวัน
ขณะที่อินโดนีเซีย ได้เน้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลักในอนาคตโดยได้ประโยชน์จาก แหล่งแร่ธาตุหายาก โดยเฉพาะนิกเกิลและโคบอลต์จำนวนมากโดยรัฐบาลมีการจัดตั้ง Morowali industrial parkที่เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิกเกิลเป็นหลักรวมถึงเป็นผู้ผลิตนิกเกิลชั้นนำของโลก
ในส่วนของไทยนั้น ภาพของกระแสโลกที่เปลี่ยนไปท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่หลุดจากสายตาของนักธุรกิจและลงทุนโลกนั้นเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยยุคปัจจุบันอย่างยิ่งในการที่จะดึงความสนใจของภาคธุรกิจระดับโลกกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กลยุทธเบื้องต้นที่ได้เห็นจากนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เช่น ประเด็นด้านการลงทุนและการเปิดตลาดใหม่ๆ นายกฯพยายามจะดึงให้บริษัทขนาดใหญ่มาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่งสัญญาณว่าประเทศไทย Open for business และมีจุดแข็งหลายอย่าง (รวมถึงมีโรงเรียนนานาชาติดี และระบบการรักษาสุขภาพดี) และพยายามเน้นทั้งสองทางโดยไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง เช่น เน้นให้ทั้งจีนและสหรัฐเข้ามาลงทุนและหลีกเลี่ยงประเด็น Geopolitics และเน้นประเด็นที่เห็นร่วม เช่น Sustainable development goal carbon neutrality, green bond รวมถึงเน้นทั้งพัฒนารถ EV และรถเครื่องยนต์สันดาปและเน้นทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆและการพัฒนาด้านเกษตรและระบบชลประทาน นับว่าเป็นความพยายามที่ดี
แต่แม้ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจดีผู้เขียนยังกังวลจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ เช่น โครงการระยะสั้นโดยเฉพาะ Digital Wallet ที่ค่อนข้างยากในเชิงปฏิบัติโดยเฉพาะประเด็นแหล่งเงินทุน ขณะที่โครงการระยะยาวจะมีประเด็นด้านความสำคัญและงบประมาณเช่นกัน เช่น ระหว่างระบบชลประทานและการคมนาคมขนส่ง การเลือกส่งเสริมระหว่างรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถ EV และสุดท้ายประเด็นเสียงต่อต้านจากกลุ่มต่าง ๆ ในนโยบายที่มีหลายส่วนได้เสีย เช่น การเปิดเสรี FTA โครงการประชานิยมที่ขัดกับแนวคิดของนักวิชาการ รวมถึงประเด็นความขัดแย้งเชิงสังคมต่าง ๆ
ด้วยงานที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเช่นนี้ความพยายามที่จะให้ไทยมีSpotlight ฉายแสงในเวทีโลกได้นั้น ก็ยังอีกยาวไกล