ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ความหมายคือมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากว่า 10% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งผ่านมา 19 ปี ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society) นั่นคือไทยเรามีผู้มีอายุ 60 ปีมากกว่า 20%ของประชากรหรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
จำนวนผู้สูงวัยในไทยมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลล่าสุดประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 13.64 ล้านคน คิดเป็น 19.5% ของประชากรทั้งหมด นั่นแปลว่าอีกไม่นาน ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดสังคมสูงวัยจากสัดส่วนของประชากรอายุ 60 – 65 ปีขึ้นไป แบ่งตามลำดับดังนี้
สิ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆคือ เมื่อประเทศเต็มไปด้วยคนสูงวัย ในขณะที่เด็กเกิดใหม่น้อยลงผลที่ตามมาคือ จำนวนแรงงานหนุ่มสาวก็จะหายไป แรงงานไทยอาจขาดแคลนในอนาคตได้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน แต่อีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญต่อประเทศก็คือ “ความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น” จากการที่รัฐจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการให้ผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับการจัดเก็บรายได้ที่น้อยลง จากเศรษฐกิจไม่สู้ดี การเก็บรายได้จากภาษีต่างๆน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เรื่อง โครงสร้างประชากรเปลี่ยน..เสี่ยงต่อภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น พบว่า รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ทั้งเงินที่ต้องจ่ายให้หลังเกษียณ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6% ต่อปี จากปี 2014 อยู่ที่ 478,474 ล้านบาท ปี2024 นี้เพิ่มขึ้นเป็น 853,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ภาครัฐมีการปรับรูปแบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยกเลิกการจ่ายแบบขั้นบันไดมาเป็นจ่าย 1,000 บาทเท่ากันทุกช่วงวัย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ และอยู่ระหว่างรอเสนอครม. เพื่อพิจารณา ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคาดว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากในปี 2024 ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ราว 9.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2029 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด รายจ่ายส่วนนี้อาจไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท
ซึ่งปี 2014 งบประมาณส่วนนี้ของรัฐอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ในปี 2024 โดยส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่ราว 2.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 62% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกตามการดูแลรักษาพยาบาลที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย อีกทั้ง ปัจจุบันประชาชนยังสามารถยื่นใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ทั่วประเทศ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 และโรคอุบัติใหม่ ก็อาจทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากรายได้ที่เก็บจากกลุ่มคนวัยทำงานในระบบประกันสังคม ไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับรายจ่ายรวมของกองทุนประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเงินที่จ่ายหลังเกษียณและสวัสดิการด้านสุขภาพต่างๆ สะท้อนจากในช่วงปี 2014-2023 รายจ่ายรวมขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่ รายรับรวมขยายตัวเฉลี่ยเพียงแค่ 3% ต่อปีเท่านั้น สอดคล้องกับงานศึกษาเรื่อง ทางออกของประกันสังคมเพื่อลูกหลานไทยในอนาคต ของธนาคารแห่งประเทศไทย (เผยแพร่เมื่อ พ.ย. 2021) ที่ระบุว่ากองทุน 2 กรณี (ชราภาพ สงเคราะห์บุตร) เงินกองทุนอาจหมดลงในปี 2055 ขณะที่ กองทุน 4 กรณี (เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย) เงินกองทุนอาจหมดลงในปี 2070
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินนโยบายการคลังให้สอดคล้องกับสภาพโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปจะช่วยให้คนที่สามารถพึ่งพาตนเองยามเกษียณมีจำนวนมากขึ้นและกลายเป็นภาระทางการคลังของภาครัฐในระยะยาวน้อยลง
1.ขยายอายุเกษียณ และส่งเสริมการจ้างงานแรงงานสูงอายุ
เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพมีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันอายุเกษียณเฉลี่ยไทยอยู่ที่ 58 ปี ขณะที่ คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อายุเกษียณกลับไม่เปลี่ยนตั้งแต่ปี 1951 ซึ่งการขยายอายุเกษียณเป็นหนึ่งทางเลือกที่รัฐบาลในหลายประเทศที่ประสบปัญหาสังคมสูงวัยเลือกใช้ เช่น ฝรั่งเศสที่ปัจจุบันอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี และจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 64 ปี ภายในปี 2032 เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีการขยายอายุเกษียณ รัฐต้องคำนึงถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งควรบอกล่วงหน้าหรือต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ทั้งภาคธุรกิจและแรงงานเตรียมความพร้อมหากต้องอยู่ในตลาดแรงงานนานขึ้น รวมถึงควรพิจารณาความเหมาะสม/เป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใกล้เกษียณ
นอกจากนี้รัฐควรสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นผ่านการให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจมากกว่าการลดหย่อนภาษีที่ทำอยู่แล้ว โดยปัจจุบันสถานประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป) สามารถใช้สิทธิในการหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของจำนวนที่ได้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุไปจริง แต่ไม่เกินจำนวน 15,000 บาท ดังนั้น สถานประกอบการมีสิทธิหักรายจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้สูงสุดถึง 30,000 บาท
อีกหนึ่งวิธีคือการสนับสนุนให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีการพัฒนาทักษะเพื่อให้แรงงานที่ถึงวัยเกษียณสามารถทำงานในตลาดแรงงานต่อได้ เช่น สิงคโปร์ มีโครงการ Skills Future Level-up เพื่อส่งเสริมคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในการ Upskill/Reskill ทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาด ญี่ปุ่น มีโครงการฝึกงานเพื่อพัฒนาแรงงานวัยกลางคนเป็น Tech Talent สำหรับผู้มีอายุ 40-50 ปี ที่อาจไม่ได้ทำงานในด้านเทคโนโลยีมาก่อนสามารถเข้ามาฝึกฝนทักษะและหาความรู้ในด้านเทคโนโลยีได้
2.จัดสรรกองทุนประกันสังคมทั้งด้านรายรับและรายจ่ายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป
มาตรการระยะยาว
3.เพิ่มจำนวนคนที่พึ่งพาตนเองได้ให้โตเร็วกว่าภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ทั้งในมิติของการเพิ่มเงินออมเพื่อเกษียณ และการมีสุขภาพที่ดี
โครงสร้างประชากรคือองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนของโลกสังคมสูงวัย ในไทยหากไม่เตรียมพร้อมรับมือ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้ในอนาคต
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย