ข่าวเศรษฐกิจ

ย้อนรอย ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’ อดีตผู้บริหาร STARK กับมหากาพย์โกง 15,000 ล้าน

24 มิ.ย. 67
ย้อนรอย ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’ อดีตผู้บริหาร STARK กับมหากาพย์โกง 15,000 ล้าน

คดีหุ้น STARK กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังหนึ่งในผู้ต้องคดีและอดีตประธานกรรมการบริษัทของ STARK อย่าง "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" ถูกคุมตัวกลับมาดำเนินคดีที่ไทย หลังหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศดูไบ โดยทางฝ่ายไทยได้รับการประสานจากทางการสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า ได้เข้าควบคุมตัวนายชนินทร์ตามการร้องขอของรัฐบาลไทยไว้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2567

การกลับมาของนายชนินทร์จุดความหวังให้กับผู้เสียหายทั้งผู้ถือหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นรายย่อยที่บางส่วนยังไม่ได้รับเงินชดเชย และกำลังยืนฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และเอาผิดกับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่ร่วมกันตกแต่งงบการเงิน และยักยอกทรัพย์ของบริษัทจนมีนักลงทุนเสียหายรวมหลายหมื่นล้านบาท

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปย้อนรอยดูคดีหุ้น STARK กันว่ามีความเป็นมาอย่างไร สร้างความเสียหายเท่าไหร่ และนาย ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’ ในฐานะอดีตประธานกรรมการบริษัท STARK เข้าไปมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับมหากาพย์ฉ้อโกงในครั้งนี้

จากบริษัทมูลค่า 7.3 หมื่นล้าน สู่ 0 บาท จากการตกแต่งบัญชี

ก่อนที่จะเกิดคดีอื้อฉาวจนล้มละลายในปัจจุบัน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “STARK” เคยเป็นบริษัทดาวรุ่งของตลาดหุ้นไทยมาก่อน โดยทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟและสายเคเบิ้ล เคยมีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์สูงสุดถึง 73,000 ล้านบาท และเคยถูกจัดให้อยู่ในดัชนี SET 100 หรือดัชนีบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย 100 อันดับแรก 

โดยในช่วงปี 2562-2565 บริษัท STARK ก็ดูเหมือนจะมีผลประกอบการที่ดีมาตลอด โดยจากรายงานผลประกอบการก่อนที่จะมีการสืบสวน ในปี 2562 บริษัทมีกำไร 124 ล้านบาท ก่อนในปี 2563 จะพุ่งไปที่ 1,600 ล้านบาท และในปี 2564 จะเพิ่มไปอีกที่ 2,780 ล้านบาท ทำให้บริษัทเหมือนจะมีผลประกอบการที่ดี ดึงดูดให้นักลงทุนเข้าไปซื้อหุ้นของ STARK เป็นจำนวนมาก ทำให้มีมูลค่าบริษัทหลายหมื่นล้านดังกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2565 บริษัทยังมีแผนในการขยายธุรกิจ ด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินหลายแห่ง คิดเป็นมูลค่า 5,580 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อบริษัท LEONI Kabel และ LEONIsche ผลิตสายไฟฟ้ารถยนต์ EV และสายไฟฟ้าที่ใช้ในสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในประเทศเยอรมนี ซึ่งแน่นอนว่ามีศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม การเสนอหุ้นเพิ่มทุนนี้เองกลับเป็น “ปม” ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มสงสัยถึงการดำเนินงานของ STARK เพราะหลังจากระดมทุนครบ  5,580 ล้านบาทแล้ว ในช่วงปลายปี 2565 บริษัท STARK กลับออกมาแจ้งยกเลิกแผนการลงทุนใน 2 บริษัทดังกล่าวอย่างกะทันหัน โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน พร้อมระบุว่าจะนำเงินเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาทไปใช้กับโครงการอื่น หรืออาจชำระหนี้ระยะสั้นแทน

ต่อมาในช่วงต้นปี 2566 นักลงทุนก็ต้องเจอกับเหตุการณ์สะเทือนความมั่นใจอีกหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลถึงราคาหุ้น ทั้งการลาออกชุดใหญ่ของทีมผู้บริหาร เริ่มตั้งแต่การลาออกของประธานเจ้าหน้าที่บริหารในวันที่ 10 ก.พ. 2566 มาถึงวันที่ 19 เม.ย. 2566 ที่นาย “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท พร้อมกรรมการบริษัทรวม 7 คน แจ้งลาออกกับตลาดหลักทรัพย์ และการที่บริษัทขอเลื่อนส่งงบการเงินปี 2565 ในวันเดียวกัน (19 เม.ย.)

เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเหล่านี้ ทำให้ราคาหุ้นของ STARK ร่วงลงอย่างรวดเร็ว และถูกติดเครื่องหมาย C ในวันที่ 18 พ.ค. ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริง และสั่งให้มีการตรวจสอบการเงินเป็นกรณีพิเศษ (special audit)

และจากการตรวจสอบกรณีพิเศษนี้เอง มหากาพย์กลโกงของเหล่าผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK ก็ถูกเปิดเผย โดยจากรายงานของตลท. และ ก.ล.ต. พบว่า STARK ได้มีการปรับปรุงข้อมูลทางบัญชี ทำให้ STARK เกิดความเสียหายทางบัญชีมูลค่ารวมกว่า 2.15 หมื่นล้านบาท โดยได้มีการตกแต่งบัญชีใน 5 เรื่อง ได้แก่

  1. การสร้างยอดขายและรายได้เท็จจากลูกหนี้การค้าที่สูงเกินความจริงตั้งแต่ก่อนปี 64 ถึงปี 65 รวม 7.76 พันล้านบาท
  2. การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากยอดขายเท็จ รวม 670 ล้านบาท
  3. การสร้างรายจ่ายปลอม ด้วยการซื้อวัตถุดิบ และการสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.65 รวม 1.04 หมื่นล้านบาท
  4. การตั้งค่าเผื่อลูกหนี้การค้าจากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องในปี 64-65 รวม 794 ล้านบาท
  5. การขาดทุนจากสินค้าคงเหลือหายในปี 65 รวม 1.79 พันล้านบาท

ผลจากการตรวจสอบบัญชีทำให้บริษัทต้องมีการปรับปรุงงบการเงินและรายงานผลประกอบการในแต่ละปีใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง โดยหลังจากมีการปรับปรุงแล้วพบว่าจากที่มีกำไรหลายพันล้านบาท บริษัท STARK กลับขาดทุนมาแล้วหลายปี เริ่มตั้งแต่ปีที่ 2564 ที่แท้จริงแล้วขาดทุน 5,689 ล้านบาท จากตอนแรกที่แจ้งว่ามีกำไร 2,795 ล้านบาท มาถึงปี 2465 ที่บริษัทขาดทุนถึง 6,651 ล้านบาท

และส่งผลให้ในวันที่ 6 ก.ค. สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษบริษัท STARK กรรมการ อดีตกรรมการ และอดีตผู้บริหารของ STARK ต่อดีเอสไอ 10 ราย รวมถึง นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ในข้อหาร่วมกันกระทำ หรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารในช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงให้นักลงทุนในเข้ามาลงทุน 

โดยภายในวันเดียวกัน (6 ก.ค.) ดีเอสไอ ได้ออกหมายจับนายชนินทร์ หลังพบข่าวรายงานว่านายชนินทร์ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขณะที่ ก.ล.ต. มีคำสั่งมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน ก่อนที่ภายหลังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะเผยว่านายชนินทร์ได้โยกย้ายเงินไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษถึงประมาณ 8,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (23 มิ.ย. 2567) นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี ทนายความของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่สนามบินสุวรรณภูมิว่า นายชนินทร์ ไม่ได้ต้องการหลบหนี และอยากกลับประเทศไทยเพื่อมาสู้คดี และปฏิเสธกระแสข่าวว่ามีการส่งเงิน 8,000 ล้านบาทไปที่อังกฤษ ว่าไม่เป็นความจริง

 

กรณีหุ้น STARK สร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง?

การจงใจบิดเบือนข้อมูลการเงินนี้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักลงทุนทั้งในหุ้นและหุ้นกู้ของ STARK ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจลงทุนของบริษัท STARK ถือเป็นการจงใจฉ้อโกงเอาเงินจากประชาชนโดยอาศัยช่องโหว่ในการตรวจสอบดูแล ซึ่งสะเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อทั้งหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทย และหน่วยงานกำกับดูแลของไทยเป็นอย่างมาก

จากการสืบสวนของดีเอสไอ กรณี STARK มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย และสร้างมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายจากการผิดนัดการชำระหนี้หุ้นกู้มากกว่า 9.1 พันล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมถึงผู้เสียหายที่เป็นนักลงทุนรายย่อยที่ต้องขาดทุนจากการถือหุ้น STARK จำนวนผู้เสียหายจากมหากาพย์ฉ้อโกงนี้จะเพิ่มไปถึงระดับหลายหมื่นคนเลยทีเดียว เพราะจากข้อมูลของกลุ่มนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 20,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากกรณี STARK รวมเป็นมูลอีกหลายหมื่นล้านบาท

ในปัจจุบัน นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะทางดีเอสไอมองว่าผู้ลงทุนในหุ้นสามัญของ STARK ไม่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่า STARK กับพวกได้ทรัพย์สินจากผู้ลงทุนหุ้น STARK จริง 

นอกจากนี้ ส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ ปปง. และกรมบังคับคดียังมองว่าผู้ลงทุนในตลาดหุ้นนั้นไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหาย เพราะต้องรู้อยู่แล้วว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ทำให้หากผิดพลาดขึ้นมาต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนเอง ซึ่งกลุ่มนักลงทุนมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะความเสียหายนี้ไม่ได้เกิดจากการที่นักลงทุนผิดพลาด แต่เกิดจากการจงใจฉ้อโกงบิดเบือนข้อมูลของบริษัท STARK และกลุ่มผู้บริหาร 

โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาตัวแทนของกลุ่มนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ตกเป็นเหยื่อเสียหายจากหุ้น STARK เพิ่งได้เข้าพบรมว.ยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้อำนวยความยุติธรรมคืนให้ผู้ลงทุน โดยขอให้นับเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิจ่ายชดใช้

นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียหายจากการถือหุ้นกู้ยังได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งกับ บมจ. สตาร์ค และพวกรวม 24 ราย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่ม และเอาผิดผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งล่าสุดศาลแพ่งกรุงเทพได้รับคำร้องและเริ่มพิจารณาคดีแล้ว 





advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT