จีนน่าเป็นห่วง! ยอดสินเชื่อธนาคารหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 ปีในเดือนกรกฎาคม สะท้อนเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว และความเชื่อมั่นของประชาชนที่ตกต่ำ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซ้ำรอย ‘the lost decades’ ของ ‘ญี่ปุ่น’
ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนยังคงซบเซาต่อเนื่อง หลังในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขมูลค่าสินเชื่อที่ธนาคารจีนปล่อย ให้ทั้งธุรกิจและประชาชน ลดลงถึง 7.7 หมื่นล้านหยวน จากเดือนก่อนหน้า หดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 หรือเกือบ 20 ปี สะท้อนว่าทั้งประชาชนและธุรกิจไม่เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายและบริษัทเอกชนกู้ยืมเงินไปขยายธุรกิจน้อยลง
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ประชากรจีนยังเลือกที่จะเก็บเงินเคลียร์หนี้สิน หรือเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากมากกว่าเอาไปลงทุนหรือใช้จ่าย โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะมองว่าผลตอบแทนจากการลงทุนลดต่ำลง ขณะที่ต้นทุนในการกู้ยืมยังอยู่ในระดับที่สูงและเสี่ยงเกินไปในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
โดยจากข้อมูลของธนาคารกลางจีน ในเดือนกรกฎาคม ลูกหนี้จีนจ่ายหนี้คืนถึง 2.22 แสนล้านหยวน ขณะที่บริษัทนอกภาคการเงินกู้ยืมเงินเพิ่มเพียง 1.52 แสนล้านหยวน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2019
ยอดสินเชื่อที่ลดลงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้นักวิเคราะห์เกิดความกังวล เพราะสภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะที่คล้ายคลึงกับ เศรษฐกิจญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะ ‘balance-sheet recession’ ซึ่งหมายถึง ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจากการที่ผู้บริโภคในประเทศไม่กล้าใช้จ่ายจากภาวะเศรษฐกิจ และหนี้ที่มีสูง ทำให้ผู้บริโภคหันไปให้ความสำคัญกับการจ่ายหนี้ เคลียร์งบดุล หรือการเคลียร์ ‘balance sheet’ มากกว่าที่จะใช้จ่าย
โดยในญี่ปุ่น ภาวะ balance-sheet recession เกิดขึ้นในช่วงปี 1990s หลังจากเกิดภาวะฟองสบู่แตก ทำให้ประชาชนและธุรกิจมีหนี้สินจำนวนมาก และทำให้ในช่วงปี 1991-2003 เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเพียง 1.14% ต่อปี และในช่วง 2000-2010 โตเพียง 1% ต่อปี ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทำให้นักวิเคราะห์เรียกช่วงปีที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตตกต่ำนี้ว่า ‘the lost decades’
ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองว่าหากรัฐบาลจีนไม่สามารถหามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ เรียกความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคเอกชน และเพิ่มการบริโภคได้ทัน เศรษฐกิจจีนก็อาจจะเข้าสู่ภาวะซบเซาในระยะยาวได้เช่นกัน
เพราะถ้าหากผู้บริโภคจีนขาดความเชื่อมั่นหนัก และปักใจไม่ยอมใช้จ่ายไปแล้ว แม้รัฐบาลจะออกอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การให้เงินอัดฉีด ลดดอกเบี้ย หรือลดภาษี มาตรการเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้ผล เพราะคนจะเลือกเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่ตนมีก่อน หรือเลือกที่จะเก็บไว้ในบัญชี แทนที่จะเอาไปใช้จ่ายกับสินค้าและบริการอย่างที่รัฐบาลต้องการ
คาดตัวเลขค้าปลีกร่วง ลดดอกเบี้ยก็ยังไม่ได้ผล
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการมากมาย ทั้งการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ การเร่งขายพันธบัตรรัฐบาล และการลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระยะยาวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ก็ยังไม่ได้ผล เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ การใช้จ่าย และยอดค้าปลีก ยังชี้ว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ
โดนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา core inflation หรือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ซึ่งเป้นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าทั่วประเทศลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการลดลงที่ยาวที่สุดตั้งแต่ปี 1999
นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกที่กำลังจะออกมาในวันพฤหัสบดีที่จะถึงก็มีแนวโน้มที่จะออกมาตกต่ำเช่นเดียวกัน แม้ฐานในเดือนก่อนหน้าจะต่ำ และจีนจะเพิ่งผ่านช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นเทศกาลใช้จ่ายมา โดยนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กมองว่าน่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2% ในเดือนมิถุนายน แต่ยังต่ำเมื่อเทียบกับ 8% ในช่วงก่อนโควิด-19
ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองว่า หากรัฐบาลจีนต้องการให้เศรษฐกิจจีนโตถึง 5% ตามเป้า และหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลก็ควรออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะนโยบายการคลังที่รัฐบาลยังมีพื้นที่ในการดำเนินนโนบายอยู่
ที่มา: Bloomberg 1, Bloomberg 2, Reuters