ข่าวเศรษฐกิจ

ตลาดจับตาการจัดตั้งรัฐบาล ล่าช้าหรือไม่? อาจส่งผลต่อ จัดงบประมาณปี 68

20 ส.ค. 67
ตลาดจับตาการจัดตั้งรัฐบาล ล่าช้าหรือไม่? อาจส่งผลต่อ จัดงบประมาณปี 68
ไฮไลท์ Highlight

"ตลาดจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดทัพครม.ต่อไป ถือว่าการได้ผู้นำใหม่ค่อนข้างเร็ว ช่วยลดความไม่แน่นอนหรือช่วงสูญญากาศได้ในระดับหนึ่ง"

 

Exclusive : เมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย และในวันเดียวกันได้มีการแถลงข่าวเดินหน้าประเทศไทย และได้กล่าวคนมั่นว่า อยากเห็นปากท้องของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และมีความตั้งใจที่จะผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ในมุมมองของนักลงทุนทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน มีมุมองในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

SPOTLIGHT ได้สัมภาษณ์มุมมองในเรื่องนี้กับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย และน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 

โดยนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT ว่า จับตาการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีใหม่จะมีความล่าช้า จนส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึง การจัดทำงบประมาณปี 2568 หรือไม่? เนื่องจากจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอาจส่งผลต่อมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินได้

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคาร ได้ให้กับ “SPOTLIGHT” ว่า มองว่าขณะตลาดจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดทัพครม.ต่อไป ถือว่าการได้ผู้นำใหม่ค่อนข้างเร็ว ช่วยลดความไม่แน่นอนหรือช่วงสูญญากาศได้ในระดับหนึ่ง

โดยตลาดยังจะให้ความสนใจกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของไทย ซึ่งกรุงศรี คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ กนง.ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจฟื้นตัวตามวัฎจักร

อีกทั้ง ยังมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุด ดังนั้น จึงมองว่าในมุมของธปท. อาจต้องการเก็บกระสุนดอกเบี้ยนโยบายไว้หากเกิดวิกฤติในอนาคต ขณะที่กระสุนทางการคลังเหลือน้อย นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้ต่อยอดความมั่งคั่ง สะสมความเปราะบางในระบบหากดอกเบี้ยต่ำเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงานสัมมนาวิชาการที่เมือง Jackson Hole ซึ่งเฟดเป็นเจ้าภาพและมักใช้เวทีนี้สื่อสารกับตลาดเรื่องทิศทางดอกเบี้ย

[กรุงศรีมองกรอบค่าเงินบาท 34.50-35.35 ในสัปดาห์นี้]

น.ส.รุ่ง ยังได้คาดการณ์ว่า ในเดือนนี้เงินบาทแข็งค่าเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่มีสัญญาณบ่งชี้มากขึ้นว่าเฟดใกล้ลดดอกเบี้ยท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวและอัตราการว่างงานสูงขึ้น โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้าพันธบัตรไทยแต่ในสัปดาห์ล่าสุดเงินไหลออกไปแล้วบางส่วน อนึ่ง คาดว่าเมื่อคืนวันศุกร์ผู้ค้าทองคำในประเทศอาจส่งออกทองคำ (ปัจจัยบาทแข็ง) ขณะที่ราคาทองตลาดโลกทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

[กรุงไทยคาดเงินบาทแนวรับใหม่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ]

นายพูน มองว่า ในระยะสั้น ประเมินโซนแนวรับเงินบาทใหม่แถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ภายหลังเงินบาทแข็งค่าหลุดโซน 34.85 บาทต่อดอลลาร์ ที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า ซึ่งจะมีโซนแนวรับถัดไป 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะมีโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านถัดไป

[กรุงไทยชี้เงินบาทแข็งระยะสั้น จากปัจจัยการเมืองในประเทศ]

ส่วนค่าเงินบาทในระยะสั้น ปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าจะมาจากประเด็นการเมืองในประเทศที่ความไม่แน่นอนทยอยคลี่คลายลง (แต่ยังคงต้องติดตามการจัดคณะรัฐมนตรีและการจัดทำงบประมาณปี 2568 อย่างใกล้ชิด) ขณะที่ ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาจมาจากการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด

โดยในกรณีดังกล่าว อาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง พร้อมกดดันให้ราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลดลง หลังจากทำจุดสูงสุดใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

[จับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง]

นายพูน ยังได้กล่าวอีกว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจกลับมาทวีความร้อนแรง จนกดดันให้ตลาดการเงินผันผวนได้อีกครั้ง แต่ แม้ว่าในกรณีความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น จนทำให้ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบอาจผันผวนสูงขึ้น ซึ่งดูจะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง แต่เรามองว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก หรืออาจเพียงแค่แกว่งตัว sideways ถ้าราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT