ข่าวเศรษฐกิจ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำธปท. ดูแลเงินบาทใกล้ชิด ยันไทยไม่เจอเงินฝืด ปรับดอกเบี้ยขอดูข้อมูลรอบด้าน

28 ส.ค. 67
ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำธปท. ดูแลเงินบาทใกล้ชิด ยันไทยไม่เจอเงินฝืด ปรับดอกเบี้ยขอดูข้อมูลรอบด้าน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ย้ำธปท. ยังคงกำกับดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เผยเงินบาทแข็งค่ายังอยู่ในทิศทางเดียวกับค่าเงินอื่นในภูมิภาค และเกิดจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ด้านสภาวะเศรษฐกิจไทยมองว่ายังฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง ยันไม่เจอภาวะเงินฝืด

ในวันนี้ (28 ส.ค.) ค่าเงินบาทแข็งค่าหนัก กลับมาแตะ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อีกครั้ง เป็นผลมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่า ส่งผลให้หลายฝ่ายมีความกังวล โดยเฉพาะผู้ประกอบการนำเข้า และส่งออกของไทย เพราะค่าเงินที่แข็งค่าทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยถึง การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้ว่า สาเหตุที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น จากความความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น

"ค่าเงินบาทของไทยถือว่ายังอยู่ในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และหากเทียบกับต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับทรงตัว และแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว" ผู้ว่าธปท.กล่าว

amob7634

ชี้ดอกเบี้ยต้องดูยาวๆ ไม่ควรตื่นตูมข้อมูลระยะสั้น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน SET Thailand Focus “Adapting to a Changing World” ชี้ การดำเนินนโยบายการเงินต้องดูข้อมูลระยะยาวและรอบด้าน (outlook-dependent) ไม่สามารถปรับตามข้อมูลระยะสั้นได้ (data-dependent) เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และมีความไม่แน่นอนสูง 

ดร. เศรษฐพุฒิ ย้ำว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธปท. เป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณที่เปลี่ยนแปลง การดำเนินดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมจึงเป็นดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมกับหลายๆ สถานการณ์ ไม่ใช่สถานการณ์เดียว ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่น (resilience) และดำเนืนไปได้ทุกสถานการณ์

ดังนั้น นโนบายการเงินในปัจจุบันแม้อาจไม่ได้ตอบโจทย์สถานการณ์เศรษฐกิจได้ตรงจุด แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะมีพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนนโยบายและดูผลลัพธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 

  1. การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะโต 2.6% ในปีนี้ และ 3% ในปีหน้า ซึ่งถือว่าไม่สูง แต่สอดคล้องกับศักยภาพในการเติบโตระยะยาวของไทยที่ระดับ 3% บวกลบ
  2. เงินเฟ้อไทยที่ลดลง และกำลังกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปีหน้า ทำให้ไทยไม่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
  3. เสถียรภาพการเงินไทย ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาท้าทาย เพราะไทยกำลังประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี 

นอกจากนี้ ดร. เศรษฐพุฒิ ยังมองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถพึ่งพาแต่นโยบายการเงินได้ แต่ยังต้องพึ่งพานโยบายและมาตรการให้การจัดการการเงินของประชาชนด้วย เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เป็นต้น

โดยย้ำว่า ดอกเบี้ยนโยบาย นั้นเป็น blunt tool หรือเครื่องมือการเงินที่ให้ผลแบบหว่านแห หากปรับแล้วจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยได้ตรงจุด แต่จะต้องพึ่งพามาตรการอื่นๆ ด้วย 

ยันเศรษฐกิจไทยไม่เจอเงินฝืด ห่วงภาคการผลิตไม่ฟื้นจากทุนจีน

ในด้านสถานการณ์ และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และ 2568 ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า GDP ทั้งปี 2567 ของไทยจะยังเติบโตที่ 2.6% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานรัฐบาลอื่น และนักวิเคราะห์ และเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวต่อไปในครึ่งหลังของปี ส่วนเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับ 0.8% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% และมีแนวโน้มจะปิดปีที่ 0.6% ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมาย ธปท. ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด (deflationary cycle) เพราะปัจจุบันมีสินค้าเพียงบางรายการเท่านั้นที่มีราคาลดลง แต่ยังไม่ลดลงในวงกว้าง และผู้บริโภคไม่ได้หยุดใช้จ่ายเพื่อรอให้ราคาสินค้าลดลงไปอีก โดยข้อมูลระบุว่าคนไทยยังมีการใช้จ่ายอยู่ในระดับที่ดี 

ทั้งนี้ แม้การใช้จ่ายของคนไทยยังอยู่ในระดับดี การฟื้นตัวในด้านการใช้จ่ายนี้กลับไม่ได้นำไปสู่การผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น เพราะปัจจุบันภาคการผลิตของไทยประสบปัญหาจากการเข้ามาของสินค้าจีน ที่มีข้อได้เปรียบด้านราคา 

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจึงฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง เพราะขณะที่ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาคการผลิตของไทยกลับต้องประสบปัญหาทั้งปัญหาตามวัฏจักรเศรษฐกิจ และปัญหาโครงสร้างจากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจีน จากการที่จีนหันไปเพิ่มกำลังผลิตภายในประเทศ และส่งสินค้าออกมานอกประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ สินค้าปิโตรเคมี

ในด้านเสถียรภาพการเงินของไทย ที่กำลังสั่นคลอนจากอัตราหนี้ครัวเรือนที่สูง ดร. เศรษฐพุฒิ มองว่าเป็นความท้าทายใหญ่ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะหนึ่งในสามของหนี้ครัวเรือนไทยเป็นสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัย และส่วนมากเป็นสินเชื่อรถยนต์ที่มีมูลค่าลดลงตามเวลา ทำให้ทางแก้เดียวคือการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปได้ยาก จากการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างไม่ถั่วถึง และเศรษฐกิจไทยที่กำลังเจอปัญหาโครงสร้าง

นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านประชากร เพราะอัตราการเกิดของไทยเริ่มลดลง ทำให้จำนวนแรงงานลดลง และการที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าระดับนี้ มีทางเดียวคือการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี

โดยจากการคาดการณ์ของ ธปท. เศรษฐกิจไทยยังมีสิทธิเติบโตเต็มที่เพียง 3% เท่านั้นจากศักยภาพในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไปที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศได้ และหากต้องการให้ไทยมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้น ไทยต้องแก้ปัญหาโครงสร้าง นำเทคโนโลยี หรือมาตรการอื่นๆ มาช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตของเศรษฐกิจ

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT