ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 32.59 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากราคาปิดตลาดเมื่อวานที่ระดับ 32.84 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจัยการอ่อนค่าลงของค่าดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 98.7 ในเดือนก.ย. จากระดับ 105.6 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104.0
โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลง 6.9 จุดในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2564 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน รวมทั้งแนวโน้มธุรกิจและรายได้ในอนาคต ขณะที่ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง
แบงก์ชาติจับตาค่าเงินบาทใกล้ชิด พร้อมเข้าดูแล หากพบความผิดปกติ กระทบต่อภาคธุรกิจ
นางสาวพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม รวมถึงราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์ สรอ. ต่อออนซ์
กรุงศรีชี้ เงินบาทแข็งค่าสุดเช้านี้ 32.56 ระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่ 4 มีนาคม 65
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้กับ “SPOTLIGHT” ค่าแข็งค่าสุดเช้านี้ 32.56 เป็นระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่ 4 มีนาคม 65 โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากมีผลกระทบต่ออัตราการทำกำไรของผู้ส่งออกในกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก
สำหรับภาพรวมของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น อาจจะช่วยลดต้นทุนนำเข้าของไทย อย่างไรก็ตาม การเติบโตของภาคส่งออกไม่ได้มีปัจจัยเรื่องค่าเงินเพียงอย่างเดียว โดยประเด็นที่มีน้ำหนักมากกว่าคือความต้องการสินค้าหรือรายได้ประเทศคู่ค้า