ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ได้เริ่มดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50 bps ในการประชุมเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นั่นทำให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.75-1.00%
.
นอกจากนี้ เฟดได้ประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุล(Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มต้นลดงบดุลในวันที่ 1 มิ.ย. ในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และการลดงบดุลจะเพิ่มขึ้นจนแตะระดับสูงสุดที่ 9.5หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนภายใน 3 เดือน ขณะที่รายงานการประชุมเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุชัดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค.
“อย่างไรก็ดี เส้นทางการคุมเข้มนโยบายการเงินหลังจากนั้นดูจะยังไม่แน่นอนมากขึ้น แม้ว่าเฟดจะแสดงว่าความพร้อมในการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่เริ่มมีการคาดการณ์มากขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจำเป็นต้องชะลอ (Slow)หรือระงับ(Pause)การคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปี เนื่องจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะนี้ส่วนใหญ่ล้วนออกมา “แย่เกินคาด” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเริ่มวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ”
ขณะที่สถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 1946 เฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 13 รอบ โดยที่ 10 ใน 13 รอบนั้นเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard Landing) ในเวลาเฉลี่ยราว 2 ปีต่อมา และมีเพียง 3 รอบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่านั้นที่เศรษฐกิจสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Soft Landing) ได้
ล่าสุดนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยแสดงความเห็นว่า สถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มักจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย ส่วน Wells Fargo ระบุว่า บริษัทได้ลดการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐ โดยสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ไม่รุนแรง(a mild U.S. recession)คือ กรณีพื้นฐานสำหรับสิ้นปี 2022 และต้นปี 2023 ด้าน CNBC Fed Survey พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจ 57% คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อในรอบนี้จะนำมาซึ่งภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ส่วนอีก 33% บอกว่าเศรษฐกิจจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้
“แน่นอนว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง หรือ หากเลวร้ายถึงขนาดเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย นั่นจะส่งผลให้เฟดต้องชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงิน หรือ กลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์ และหนุนราคาทองคำในที่สุด”
แต่เพราะสถิติบ่งชี้เช่นกันว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่ได้นำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเสมอไป เนื่องจากเฟดเคยประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหลีกเลี่ยงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Soft Landing) ได้ในรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 1963, 1994 และ 2015 ดังนั้น YLG แนะนำว่านักลงทุนควรประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพราะหากรอบนี้เฟดประสบความเร็จในการ Soft landing นี่จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนทองคำต้องระมัดระวัง
กดลิงค์นี้ อ่านบทความทั้งหมดจาก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด