หลังจากเหตุการณ์ของ Luna ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนจำนวนมาก และทำให้มูลตลาดคริปโทเคอร์เรนซีถูกลากลงมาอยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ และมูลค่าบิทคอยน์ต่ำกว่า 30000 ดอลลาร์นั้น
ดูเหมือนกับว่านักลงทุนเริ่มจะหมดความสนใจในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีไปเรื่อยๆ และยกตัวอย่างเคสของ Luna ไปทั่วทุกการสนทนาในหมู่นักลงทุนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ หรือในกลุ่มคนที่เฝ้ามองตลาดจากข้างนอก
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกสิ่งที่เคยเกิดในอดีตของประวัติศาสตร์ของคริปโทเคอร์เรนซี ช่วงปี 2014 ของ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ชื่อ "Mt.GOX"
MT.Gox เป็น Exchange ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในช่วงปี 2014 มีการเทรดบิทคอยน์มากมายถึงระวังหลายแสน BTC ถือว่าเป็นช่วงที่โลกได้รู้จัก BTC พอสมควร และเกิดการเก็งกำไรอย่างหนาแน่น
อยู่มาวันหนึ่ง MT.GOX ก็ปิดการถอนบิทคอยน์จากระบบของตน แต่ยังทำให้ทำการเทรดต่อไป โดยอ้างว่าเป็นการอัพเกรดระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่จนแล้วจนรอด 2 สัปดาห์ก็ยังเป็นแบบเดิม ทำให้นักลงทุนไปรวมตัวประท้วงที่บริษัท
สุดท้าย แพลทฟอร์มก็ออกมาแจ้งล้มละลาย และบอกว่าบิทคอยน์กว่า 650,000 BTC บนแพลทฟอร์ม ถูกแฮกเกอร์ขโมยไป
ท่ามกลางความกลัวที่เกิดขึ้นในระหว่างทางที่แพลตฟอร์มไม่มีคำตอบให้ บิทคอยน์ราคาร่วงไปกว่า 36%
หลังจากที่ Mt.gox ปิดตัวลงและถูกฟ้องร้อง ราคาบิทคอยน์ร่วงจาก ATH ในช่วงปี 2013 ที่ $1200 ไปสู่ประมาณ $200 คิดเป็นการลงกว่า 80% ผู้คนต่างหวาดกลัวสิ่งที่เรียกว่าคริปโทเคอร์เรนซี และเริ่มละทิ้งออกจากตลาด
ท่ามกลางตลาดที่ซบเซาลงหลังเหตุการณ์ Mt.GOX ผู้คนต่างหมดความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ประเภทนี้ การซื้อขายมีปริมาณลดลง การพูดถึงบิทคอยน์คือสิ่งที่ไม่มีใครฟัง คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเพียงสิ่งที่ผู้ที่เป็นนักคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่สนใจ
จนกระทั่งเกิดการมาถึงของสิ่งที่เรียกว่า Halving ในปี 2016
Halving คือกลไกการลดปริมาณการให้รางวัลแก่นักขุดบิทคอยน์หลังจากผ่านไปช่วงระยะเวลาประมาณ 4 ปีส่งผลให้ Supply ลดลงอย่างกระทันหัน
ประกอบกับการมาของ Ethereum เหรียญที่อนุญาติให้ไม่ต้องสร้างบล๊อกเชนขึ้นมาใหม่ ก็สามารถสร้างโทเคนที่อยู่บน Ethereum ให้สามารถใช้งานได้ เกิดเป็นฟองสบู่การระดมทุนที่เรียกว่า ICO
ราคาบิทคอยน์ก็กลับมาสูจุดที่เป็น All-time high ใหม่อีกรอบที่ประมาณ $20,000
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ Luna สะท้อนความแตกต่างที่เหมือนกันของวงจรของตลาด และวงจรของนักลงทุน
การมาของ DeFi ในปีที่ผ่านมาสร้างผลกำไรมหาศาลให้กับนักลงทุน แต่ก็สร้างฟองสบู่ที่ใหญ่มากในสินทรัพย์ประเภทนี้
ผู้คนต่างใช้การ Leverage หรือการใช้เงินลงทุนมากกว่าทรัพย์สินที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะทำโดยการกู้ชีวิตจริง หรือกู้ในระบบ Defi แต่นั้นทำให้เมื่อความเป็นจริงมาถึง สภาพคล่องขาดหายไป ก็ถูกแรงกดดันให้ต้องขายสินทรัพย์เพื่อมาชดใช้เงินที่กู้มา
เมื่อน้ำลด เราถึงจะเห็นว่าใครล่อนจ้อนอยู่ในน้ำ
สิ่งที่ผมจะสื่อคือ เราควรจะเข้ามาในตลาดนี้ด้วย mindset ว่าต้องเป็นเงินเย็นที่ไม่จำเป็นต้องนำออกมาใช้ยามฉุกเฉินจริงๆ และเป็นเงินที่อาจเป็น 0 ได้ เพราะด้วยเงื่อนไขตลาดที่ขึ้นลงรุนแรง มักจะเกิดการบีบให้ต้องถูกล้างพอร์ตเสมอ
และอีกสิ่งหนึ่งที่จะสื่อคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นคล้ายๆเดิมเสมอ คือ เมื่อฟองสบู่แตก วันใดวันหนึ่ง บิทคอยน์จะกลับมาด้วยความแข็งแกร่งที่มากกว่าเดิม เมื่อมันหลุดออกจากมือของคนที่ไม่สามารถอดทนถือมันไปได้
ดังนั้น อยากให้ทุกคนที่เข้ามาในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีได้ลองย้อนดูประวัติศาสตร์ และเรียนรู้ที่จะไม่ซ้ำรอยสิ่งที่เกิดขึ้นครับ
อดีตนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และ CEO and Founder at Bitcast