ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี โลกการของลงทุนพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ประเภทธุรกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกเศรษฐกิจและการลงทุน ที่ทั้งนักลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ รวมไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ต้องตามให้ทัน
ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหุ้นบริษัทจดทะเบียน กองทุน รวมถึงสองสินทรัพย์น้องใหม่อย่าง หุ้นบริษัท SMEs/Startups และสินทรัพย์ดิจิทัล ชนิดดิจิทัลโทเคน SET จึงต้องพัฒนากฎเกณฑ์การซื้อขายให้ เครื่องมือ และแพลตฟอร์มให้ทันโลกการลงทุนทั้งในและต่างประเทศตลอดเวลา Spotlight รวบรวมความเคลื่อนไหวของทั้ง 4 แพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ภายใต้ SET จากงานแถลงแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) มาให้นักลงทุนในทุกสินทรัพย์ ได้อัพเดตกัน
- พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
- ปรับเกณฑ์การกำหนดราคาเปิดและราคาปิด (Equilibrium Price) ซึ่งสอดคล้องกับระบบซื้อขายใหม่และแนวปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยราคาเปิดและราคาปิดอาจอยู่นอกกรอบราคาสูงสุด (Ceiling) และราคาต่ำสุด (Floor) ได้ 1 ช่วงราคา จากเดิมที่กำหนดให้อยู่ในกรอบราคาที่ไม่เกินกว่า Ceiling & Floor
- เพิ่มเครื่องหมาย P (Pause) สำหรับกรณีที่มีการใช้มาตรการกำกับการซื้อขายกับหลักทรัพย์ที่มีสภาพการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด แทนการใช้เครื่องหมาย SP (Suspension) กับกรณีดังกล่าวในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ลงทุน
- เพิ่มประเภทคำสั่งที่มีอายุข้ามวัน (Overnight Order) ซึ่งคำสั่งที่ยังไม่ถูกจับคู่ จะคงค้างอยู่ในระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกว่าจะถูกยกเลิก หรือจนกว่าจะถึงวันที่ผู้ส่งคำสั่งกำหนด สูงสุด 30 วัน
- เพิ่มข้อมูลจำนวน ‘Bid Offer’ จากเดิม 5 Bids - 5 Offers เป็น 10 Bid - 10 Offer
- จัดทำระบบประทับเวลา (Timestamp) ในระดับนาโนวินาที (Nanosecond) ระบบป้องกันการจับคู่การซื้อขายกันเอง
- ปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor ของหุ้น Foreign เป็นไม่เกิน 60% ของราคาอ้างอิงสำหรับทุกวิธีการซื้อขาย ด้วยปัจจุบันการซื้อขายหุ้น Foreign ด้วยวิธี Trade Report สำหรับธุรกรรมที่มีขนาดใหญ่ (คือจำนวนหลักทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านหน่วยขึ้นไปหรือมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป) มีค่า Ceiling & Floor ที่ไม่เกิน 30% ของราคาอ้างอิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับการซื้อขายหุ้น Foreign ด้วยวิธีการซื้อขายอื่น
- ปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและระบบซื้อขายใหม่
สำหรับความเคลื่อนไหวปี 2565 มีดังนี้
- ออก 2 ผลิตภัณฑ์ DRx ได้แก่ AAPL80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ และ TSLA80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท เทสล่า อิงค์ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อยให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะรายเล็กและยังเพิ่มโอกาสในการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
- TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 565,627 สัญญาต่อวัน (อันดับ 2 ในอาเซียน ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ณ เดือน พ.ย. 2565)
FundConnext (กองทุน)
ด้าน Fund Connext เป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายกองทุนโดย SET ความเคลื่อนไหวปี 2565 ที่ผ่านมา FundConnext มีธุรกรรมซื้อขายกองทุนรวม 31,400 รายการต่อวัน และมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 11 ราย (selling agent และบลจ. รวม 78 ราย คิดเป็น 73% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม
หนึ่งผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่ที่เพิ่มโอกาสการลงทุนให้กับทั้งนักลงทุน และธุรกิจของไทยคือ การลงทุนในหุ้น SMEs และ StartUps ผ่านกระดาน LiVE Exchange หรือ LiVEx ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากการเปิดให้ธุรกิจเข้ามาจดทะเบียน และเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเทรดนั้น ในปีที่ผ่านมา 3 หลักทรัพย์แรกเข้าจดทะเบียนใน LiVE Exchange (LiVEx) ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS22) บมจ. สิทรอน เพาเวอร์ (SITRON22) และ บมจ. สตอเรจ เอเชีย (ISTORE22)
โดย SET มุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่กระบวนการให้ข้อมูลและเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ และจะมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น
ด้านสินทรัพย์ชนิดใหม่อย่าง ‘สินทรัพย์ดิจิทัลเอง’ ตลาดหลักทรัพย์ก็ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เรียบแล้วแล้วในไตรมาส 1/2565 ที่ผ่านมา เตรียมเปิดให้บริการในชื่อ ‘Thailand Digital Assets Exchange หรือ TDX’ ในไตรมาส 3/2566
การซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนโทเคนดิจิทัลใน 2 รูปแบบ คือ 1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) และ 2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดยมิได้ให้บริการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี เช่น Bitcoin, Ethereum, Dogecoin ฯลฯ ปัจจุบัน มีความร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ICO Portal 3 ราย
เตรียมพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ กันซ้ำรอยกรณีหุ้น ‘MORE’
หลังกรณีที่เกิดขึ้นกับการซื้อขายหุ้น ‘MORE’ หรือ หุ้นของบริษัท มอร์ รีเทิร์น ในโค้งสุดท้ายของปี 2565 ที่ผ่านมา เกิดคำถามที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยว่า SET ได้มีการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ดังนี้
- พิจารณาปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ในแต่ละตลาด (SET, mai, LiVEx)
- พิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคา และการส่งมอบหลักทรัพย์
- พิจารณาปรับปรุงกระบวนการการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงแก้ไขกฎเกณฑ์การใช้ข้อมูลที่สำคัญ เช่น ข้อมูลการถือครองหุ้น และรวมศูนย์ข้อมูลการติดต่อกับ บล. ด้านต่างๆ
- พิจารณาปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานอื่นๆ
ซึ่งนายภากร ย้ำว่า การปรับปรุงเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กฎเกณฑ์ที่มีการแก้ไขแล้วนี้ ส่งผลกระทบกับบริษัทในตลาดรายอื่นๆ ที่ทำทุกต้องตามเกณฑ์ หรือไม่ได้เกิดการซื้อขายที่ผิดปกติ
เนื่องจากบทบาทของ SET คือการเป็นศูนย์ซื้อขาย จึงมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลตามที่หน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสวน หรือกำกับดูแลร้องขอ โดย SET จะทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติไว้แต่เนิ่นๆ สำหรับกรณีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต