แวดวงธุรกิจค้าปลีกในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC มีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ( Initial Public Offering (หุ้น IPO)) ของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BJC และนำหุ้นสามัญของ BRC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท BJC ได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของ BRC ซึ่งบริษัท BRC เป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของบริษัทในการดำเนินธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึง การพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และการค้าส่งของตัวเองด้วย
โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (หุ้น IPO) เป็นจำนวนไม่เกิน 29.98% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของ BRC หรือจำนวนหุ้น 3,729,999,999 หุ้น ภายหลังการเพิ่มทุนและการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี)
ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ BRC และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม ส่งผลกระทบให้สัดส่วนการถือหุ้นของ BJC ใน BRC ลดลง (Dilution) จากเดิม 100% ของทุนชำระแล้วของ BRC ไม่ต่ำกว่า 70.02% ของทุนชำระแล้วของ BRC ภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี)
ทั้งนี้ แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ BRC ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน
BRC มีทุนจดทะเบียน 124,435,026,790 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 12,443,502,679 หุ้น และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 87,135,026,800 บาท แบ่งเป็น หุ้นสามัญจำนวน 8,713,502,680 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยบริษัทถือหุ้น BRC ในสัดส่วนร้อยละ 100.00
สำหรับผลการดำเนินงานของ BRC ในปี 2564 มีรายได้รวม 111,107 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7,333 ล้านบาท และปี 2565 มีรายได้รวม 113,573 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6,757 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ BRC รวมถึงการชำระหนี้บางส่วนของ BRC และใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั้งนี้ BRC จะกำหนดรายละเอียดวัตถุประสงค์การใช้เงินไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ BRC ต่อไป
บริษัทคาดว่าการนำ BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ คือ
แต่งตั้ง ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล เป็น CEO หญิงคนแรกในรอบ 147 ปี
พร้อมกันนี้ BJC ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการประกาศแต่งตั้ง คุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BJC โดยคุณฐาปณี นับเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารหญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของ BJC ในรอบ 140 ปี มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน คุณฐาปณี ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร กรรมการการลงทุน และเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และกำกับดูแลกิจการ BJC รวมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัท ทีซีซี อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีซีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด อีกด้วย อีกทั้งคุณฐาปณี ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำกลุ่มบีเจซี และบิ๊กซี เข้าร่วมในกิจกรรมโครงการจิตอาสาพัฒนา 'เราทำความดี ด้วยหัวใจ' และได้รับรางวัลสตรีนักบริหารภาคเอกชนดีเด่น ประเภทสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ ประจำปี 2557 และ 2561
สำหรับประวัติด้านการศึกษา คุณฐาปณี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ซึ่งเดิมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BJC จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BJC ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ
BJC ประกาศแผน 5 ปี ลงทุน 6 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี (2565 - 2569) ของ BJC จะใช้งบลงทุน 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นประมาณ 12,000-14,000 ล้านบาท/ปี พร้อมวางเป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพื่อตอบแทนสังคมไทย
โดย BJC มีผลงานที่แข็งแกร่งในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงมีศักยภาพในการรองรับการ กระจายสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันกลุ่ม BJC มีจุดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 236,000 สาขา ทั่วภูมิภาคเอเชีย อาทิ เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม จีน สปป. ลาว และ กัมพูชา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม BJC ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีกลุ่มธุรกิจแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ (Packaging Supply Chain) กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค (Consumer Supply Chain) กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิค (Healthcare & Technical Supply Chain) ธุรกิจการค้าปลีกและการค้าส่ง (Modern Trade Supply Chain) และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ (Other business) โดยมีจำนวนพนักงานกว่า 54,000 คน ใน 6 ประเทศ ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566