ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั้น เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ คือ มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ประกอบกับมีการส่งสัญญาณถึงการยุติอัตราดอกเบี้ยผ่านการยกเลิกประโยคที่เคยระบุในแถลงการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ที่ว่า คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่าการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม เพื่อให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟดที่ประกาศออกมาในช่วงเดือนมี.ค. ที่เป็นระดับเดียวกับกรอบอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันนั่นคือ 5.00-5.25% ซึ่งเท่ากับว่า หลังจากนี้จะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกแล้ว ทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยการแถลงผลการประชุมของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ที่ยังคงส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกในอนาคต หากจำเป็นต่อการนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ประกอบกับสถานการณ์ในภาคสถาบันการเงินมีทิศทางการที่ดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า และความคืบหน้าในการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ รวมไปถึงตลาดแรงงานสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง
นอกจากนั้น ประเด็นที่สำคัญอย่างภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงนับว่าเป็นภัยคุกคามของเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงเงินเฟ้อยังคงตัวอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 2% สอดคล้องกับความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดรายหลายที่ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพราะยังไม่เห็นสัญญาณการลดลงของเงินเฟ้อที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงเริ่มเพิ่มความเป็นไปได้ต่อการที่เฟดอาจยังเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก ราคาทองคำจึงถูกกดดันในช่วงสัปดาห์นี้
ถึงกระนั้น ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group ก็ยังระบุว่า นักลงทุนยังให้น้ำหนักราว 59.8% ต่อคาดการณ์ที่เฟดจะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย มากกว่าคาดการณ์ที่เฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. นี้
ที่มา: FedWatch Tool by CME Group
ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับมุมมองเชิงบวกที่เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายรายการที่ปรับลดลงมาจากการรายงานครั้งก่อนหน้า แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่เฟดจะลงความเห็นว่ายังไม่มากพอที่จะใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ขณะเดียวตัวเลขที่ออกมาดังกล่าวก็สามารถท้อนถึงภาวะเศรษญกิจที่จะถดถอยในอีกไม่ช้า
นอกจากนั้น สถานการณ์ในภาคสถาบันการเงินแม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาที่ตัวชี้วัดด้านสภาพคล่องอย่าง ยอดเงินฝาก จะพบว่า ยอดเงินฝากในระบบธนาคารสหรัฐนั้นได้ลดลงไปอยู่ในระดับต่ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในธนาคารระดับภูมิภาค ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติสภาพคล่อง
นอกจากนั้น หากประเมินสถานการณ์ผ่านงบดุลของเฟด จะพบว่า ธนาคารในสหรัฐยังคงมีการขอรับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากเฟดเพิ่มขึ้น โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลค่าการช่วยเหลือผ่านโครงการระดมทุนสำหรับธนาคาร (Bank Term Funding Program : BTFP) เพิ่มขึ้นราว 3.9 พันล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 8.31 หมื่นล้านดอลลาร์ และหากรวมกับเงินกู้ยิมระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ผ่านช่องทาง Discount window และความช่วยเหลือผ่านสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (FDIC) มูลค่ารวมจะอยู่ที่ราว 3.05 แสนล้านดอลลาร์ ตรงนี้จึงยังสะท้อนว่า ภาคธนาคารในสหรัฐยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติด้านสภาพคล่องเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น ยอดเงินฝากที่ลดลงในระบบยังมีผลต่อแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร เนื่องจากยอดเงินฝากที่ลดลงจะส่งผลให้ธนาคารจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่มีส่วนต่อการลดแรงจูงใจต่อการกู้เงินของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานแนวโน้มและภาวะสินเชื่อ ไตรมาส 1/2023 ของเฟด ที่มีการระบุถึงการปล่อยสินเชื่อที่หดตัวลง ตามความต้องการขอสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ลดลง อีกทั้งภาคธนาคารยังมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มงวดในมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ หลังเกิดเหตุการณ์การล้มลงของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ในช่วงเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา
สถานการณ์ข้างต้นบ่งชี้ถึงภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว และจากแนวโน้มเงินฝากในระบบที่ลดลง จึงถูกคาดการณ์ว่า ภาวะสินเชื่อจะยังคงตึงตัวต่อไปในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ ข้อมูลการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวนับว่าเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อีกทั้งในปัจจุบัน หลายฝ่ายเริ่มให้การจับตามมองตลาดที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของสหรัฐ เนื่องจากเป็นอีกภาคส่วนที่มีความเปราะบางต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ จะเห็นได้ว่าสหรัฐยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และหากพิจารณาตามคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของ The Conference Board จะพบว่า สหรัฐมีแนวโน้มเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical recession) ในช่วงหลังไตรมาส 3 ในปีนี้ เนื่องจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลงทั้งในไตรมาส 2 และไตรมาส 3
ขณะเดียวกัน จากรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของสมาคมผู้จัดการด้านสินเชื่อระหว่างประเทศ (International Association of Credit Portfolio Manager) ในช่วงกลางเดือนเม.ย. พบว่า มีการให้ความเป็นไปได้ถึง 84% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะถดถอยภายในปี 2023 นี้
ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงยังมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในการประชุมเดือนมิ.ย. เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรง ซึ่งหากมีการยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังที่ตลาดหวัง จะมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลถูกกดดันให้ปรับตัวลง ขณะที่ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนั้น การยุติอัตราดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้น จะยิ่งไปกระตุ้นให้ตลาดคาดการณ์ถึงแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยภายในปี 2023 ซึ่งก็จะยิ่งเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคาทองคำอาจดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 นี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด