Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
4 บทเรียนทางการเงิน จากเหตุแผ่นดินไหว
โดย : ราชันย์ ตันติจินดา

4 บทเรียนทางการเงิน จากเหตุแผ่นดินไหว

11 เม.ย. 68
10:57 น.
แชร์

ผ่านมาได้สักระยะเวลาหนึ่งแล้ว กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายคนได้คิดและหันกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ปกติมักมองข้ามไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเงิน บทความนี้จึงขอนำ 4 บทเรียนการเงิน จากเหตุแผ่นดินไหว มาฝากไว้ให้กับผู้อ่านทุกท่านกัน

1.ประกันภัยบ้าน/คอนโด เป็นสิ่งจำเป็น

ทรัพย์สินมูลค่าสูงเมื่อเกิดความเสียหายย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง บางคนจึงเลือกทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เพราะรถยนต์เป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงที่อาจเสียหายจากการใช้สัญจรได้ง่าย ในขณะที่เลือกจะละเลยการทำประกันภัยบ้าน/คอนโด เพราะมองว่าเป็นทรัพย์สินที่อยู่นิ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียหายต่ำกว่ารถยนต์ทั้งที่เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงกว่ารถยนต์

ซึ่งหากบ้าน/คอนโดนั้นยังมีภาระผ่อนสินเชื่อกับธนาคาร แม้ถูกบังคับให้ต้องทำประกันภัยไว้แต่หลายคนมักเลือกซื้อแผนที่คุ้มครองขั้นต่ำตามที่ธนาคารกำหนด โดยไม่ได้เลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ฯลฯ ส่วนบ้าน/คอนโด ที่ปลอดภาระหนี้แล้ว ส่วนใหญ่ก็มักไม่ทำประกันภัยต่อ เพราะมองว่าเบี้ยประกันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม จากเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา หลายคนที่มีบ้าน/คอนโดเป็นของตนเอง โดยเฉพาะคนที่เพิ่งซื้อเป็นครั้งแรก ด้วยเงินเก็บและเงินผ่อนจากรายได้ของตนเอง หัวใจอาจแทบสลายที่บ้าน/คอนโดได้รับความเสียหายจากเหตุดังกล่าว แม้เป็นเพียงความเสี่ยงภายนอกไม่กระทบถึงโครงสร้างก็ตาม แต่ถ้าใครได้ทำประกันภัยไว้ ด้วยเบี้ยแค่ปีละหลักพักหรือหลักหมื่น อย่างน้อยก็ยังสบายใจได้ว่าจะมีเงินมาซ่อมแซม บ้าน/คอนโด นี้จนมีสภาพที่สามารถกลับมาใช้อยู่อาศัยได้ในเวลาไม่นาน

2.ประกันชีวิต/อุบัติเหตุ ไม่ควรมองข้าม

สำหรับคนที่ได้ผ่านประสบการณ์อพยพจากตึกสูง ไม่ว่าจะเป็น อาคารสำนักงานที่ทำงานหรือคอนโดที่กำลังพักอาศัย อยู่ ณ ตอนเกิดเหตุแผ่นดินไหว เชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่ที่แม้จะปลอดภัยจากเหตุดังกล่าว ก็น่าจะเห็นถึงความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับตนได้ทุกเมื่อ ซึ่งหากอนาคตเกิดเหตุที่ทำให้เราต้องจากไป เงินเก็บและทรัพย์ที่ตนมีจะเพียงพอให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังได้ใช้จ่ายอย่างไม่เดือดร้อนหรือไม่

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาหรือแบบคุ้มครองตลอดชีพที่มีทุนประกันสูงกรณีเสียชีวิต หรือประกันอุบัติเหตุที่มีทุนประกันกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเงิน ที่ช่วยสร้างเงินทุนก้อนโตให้กับครอบครัวหากเกิดเหตุไม่คาดฝันนั้นขึ้นกับตน อีกทั้งประกันอุบัติเหตุที่มีวงเงินค่ารักษาพยาบาลยังช่วยให้เราไม่ต้องจ่ายค่ารักษาเอง เมื่อบาดเจ็บจากเหตุปัจจัยภายนอก อย่างอุบัติเหตุจากเหตุแผ่นดินไหวด้วย

3.เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน สำคัญกับการดำรงชีวิต

ในวันที่เกิดแผ่นดินไหว ธนาคารพาณิชย์ได้ประกาศหยุดทำการ ส่งผลให้การทำธุรกรรมผ่านสาขาต้องหยุดชะงัก ซึ่งหากใครที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนโตในวันนั้น ไม่ว่าจะค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราว ค่าเดินทางออกนอกพื้นที่เสี่ยง ฯลฯ หากเงินส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในเงินฝากประจำ หรือเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่ได้ผูกกับ Debit Card หรือ Mobile Banking ก็อาจประสบอุปสรรคในการนำเงินออกมาใช้จ่ายได้ ประกอบกับภาคการลงทุน อย่างตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศปิดทำการในช่วงบ่าย และหลาย บลจ. ประกาศยกเลิกคำสั่งขายคืนในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว หรือถือว่าคำสั่งขายคืนดังกล่าวจะมีผลในวันทำการถัดไป ซึ่งเป็นช่วงติดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทำให้ผู้ที่บริหารสภาพคล่องไม่ดี อาจประสบปัญหาการใช้ถอนเงินมาใช้ในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวได้

การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินในรูปแบบของเงินฝากออมทรัพย์หรือ e-Savings จำนวนอย่างน้อย 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ที่สามารถถอนได้จากตู้ ATM ไม่ว่าจะถอนโดย Mobile Banking หรือ Debit Card ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ส่วนใครที่ต้องการมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่มากกว่านี้ เช่น 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ยังต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป นอกจากเงินฝาก e-Savings แล้ว ก็อาจเลือกสำรองส่วนที่เกิน 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ไว้ในเงินฝากประจำหรือกองทุนตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องสูง (T+1) ก็ได้

4.ต้องมีสติ รับมือกับภัยตรงหน้าและภัยแฝงที่มองไม่เห็น

ในสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ทำหลายสิ่งที่คล้ายกัน มักเป็นช่วงที่เหล่ามิจฉาชีพแทรกตัวเข้ามาหาโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ อย่างการดูดเงินในบัญชีหรือขโมยข้อมูลส่วนตัว เช่น การแชร์ลิงก์ข่าวในช่วงที่คนส่วนใหญ่ต้องการเสพข่าวว่าจะเกิด aftershock หรือไม่ หรือต้องการติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์และการกู้ภัย หรือการแชร์ลิงก์ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือหรือรับสิทธิในช่วงที่ผู้ประสบภัยต้องการบรรเทาความเดือดร้อนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและสถาบันการเงิน

การกดดูข้อมูลใดๆ บนโลกออนไลน์นอกจากต้องเลือกดูจากผู้ส่งที่น่าเชื่อถือแล้ว ยังต้องตรวจสอบชื่อหรือลิงก์ที่แนบมาว่าเป็นของหน่วยงานที่แจ้งมาจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงชื่อลิงก์ของมิจฉาชีพที่ตั้งไว้ให้มีความคล้ายใกล้เคียงกับหน่วยงานจริง

เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การตั้งสติ ตัดสินใจอย่างรอบคอบเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยให้มีความสมดุลทั้ง (1) ต้นทุนการเสียโอกาส เช่น ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนต่ำ ฯลฯ และ (2) ลดผลกระทบความเสียหาย จากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

แชร์
4 บทเรียนทางการเงิน จากเหตุแผ่นดินไหว