ในตอนนี้ สายการบินที่ถูกพูดถึงที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นสายการบิน ‘เจแปนแอร์ไลน์’ จากญี่ปุ่น ที่เพิ่งได้รับเสียงชื่นชมเรื่องความปลอดภัยจากทั้งโลก หลังนักบินและลูกเรือช่วยกันอพยพผู้โดยสารในเหตุเครื่องบินชนกันในวันที่ 2 ธันวาคมได้สำเร็จ แม้อุบัติเหตุจะร้ายแรงจนเกิดเหตุเพลิงไหม้
แต่นอกจากชื่อเสียงด้านความปลอดภัยแล้ว เจแปนแอร์ไลน์ยังมีชื่อเสียงมานานในฐานะสายการบินแรกและสายการบินประจำชาติของญี่ปุ่น ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขนส่งผู้โดยสารในหลายเหตุการณ์สำคัญของประเทศ และมีชื่อเสียงในด้านการบริการที่ใส่ใจลูกค้าในแบบฉบับคนญี่ปุ่น
คุณภาพทั้งในด้านความปลอดภัยและการบริการทำให้เจแปนแอร์ไลน์ถูกจัดอันดับให้เป็นสายการบิน 5 ดาว และสายการบินที่ดีสุดในโลกอันดับที่ 5 ในปี 2023 ของ Skytrax สะท้อนว่าเจแปนแอร์ไลน์เป็นสายการบินที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในการประเมินทุกด้านไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการบริการทั้งในสนามบิน และบนเครื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีเพียง 10 สายการบินเท่านั้นที่ได้รับการประเมินในระดับนี้
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักสายการบินเจแปนแอร์ไลน์กันว่ามีความเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงได้ติด Top 5 อันดับสายการบินที่ดีที่สุดในโลก
สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ถูกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 1951 เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นเล็งเห็นว่าญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องมีระบบขนส่งทางอากาศที่มีเสถียรภาพและเชื่อถือได้เพื่อสนับสนุนการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ในช่วงแรกเจแปนแอร์ไลน์เป็นหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของรัฐ และเริ่มต้นจากการเป็นสายการบินภายในประเทศก่อน ก่อนที่จะขยับขยายไปเป็นสายการบินระหว่างประเทศในปี 1954 ด้วยเที่ยวบินนานาชาติแรกจากกรุงโตเกียวไปยังเมืองซานฟรานซิสโก
ในช่วง 10 ปีถัดจากปี 1954 เจแปนแอร์ไลน์ได้ขยายเส้นทางบินไปยังหลายเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป อินเดีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย และได้ขยายเส้นทางมาถึงประเทศไทยในปี 1958 จากเส้นทางญี่ปุ่น-ฮ่องกง
ในปี 1987 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในด้านธุรกิจ คือ สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ได้กลายเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัว ทำให้เจแปนแอร์ไลน์ต้องเริ่มปรับวิธีการทำธุรกิจเพื่อแข่งขันกับอีก 2 สายการบินใหญ่ในขณะนั้น คือ All Nippon Airways (ANA) และ Japan Air System (JAS)
ภายหลังในปี 2002 สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ และ JAS ได้ควบรวมกัน ทำให้ JAS กลายเป็นหนึ่งบริษัทภายใต้การดูแลของ JAL Group และทำให้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินญี่ปุ่นเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 รายคือ เจแปนแอร์ไลน์ และ ANA
ทั้งนี้ ในปัจจุบันทั้ง JAL และ JAS รวมกันอยู่ภายใต้บริษัทเดียวคือ JAL International และได้เข้าเป็นสมาชิกของ Omeworld พันธมิตรสายการบินระดับโลกในปี 2005
ในฐานะสายการบินประจำชาติของญี่ปุ่น เจแปนแอร์ไลน์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริการบุคคลสำคัญมากมายของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลภายในประเทศ หรือแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนประเทศ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งผู้โดยสารในหลายเหตุการณ์สำคัญ
ในช่วงปี 1980s เจแปนแอร์ไลน์เคยเป็นสายการบินที่รับผิดชอบการจัดเที่ยวบินให้กับบุคคลพิเศษต่างๆ เช่น มกุฎราชกุมาร อากิฮิโตะ และ มกุฎราชกุมารี มิชิโกะ พระสันตะปาปา จอห์น พอลที่ 2 และนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งมีการนำเครื่องบินมาใช้เป็นยานพาหนะส่วนตัวสำหรับบริการบุคคลพิเศษโดยเฉพาะ เช่น Air Force One และ Air Force Two มา เจแปนแอร์ไลน์จึงได้ยุติบทบาทในส่วนนี้ไป
นอกจากการให้บริการบุคคลสำคัญแล้ว เจแปนแอร์ไลน์ยังเป็นสายการบินที่รับผิดชอบช่วยเหลือขนส่งชาวญี่ปุ่นในยามฉุกเฉิน เช่น ในช่วงปี 1990s ที่เจแปนแอร์ไลน์ทำหน้าที่อพยพชาวญี่ปุ่นออกจากพื้นที่อิรักก่อนที่สงครามอ่าวจะเริ่มขึ้น และในปี 1997 ที่เจแปนแอร์ไลน์ทำหน้าที่ส่งนายกรัฐมนตรี ริวทาโร ฮาชิโมโต ไปยังประเทศเปรู เพื่อทำการเจรจาในเหตุการณ์กลุ่มปฏิวัติจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน
ทั้งนี้ แม้จะเป็นสายการบินใหญ่ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ในช่วงปี 1992 สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ก็เริ่มเจอปัญหาธุรกิจ และเริ่มขาดทุน ทำให้ต้องมีการลดต้นทุน และปรับโครงสร้างธุรกิจจนกลับมามีกำไรได้ในปี 1999
อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 เจแปนแอร์ไลน์ก็ต้องประสบกับภาวะขาดทุนอีกครั้ง เพราะแม้จะเป็นสายการบินที่ทำรายได้สูงที่สุดในเอเชียในขณะนั้น ต้นทุนในการทำธุรกิจก็สูงตาม เพราะมีการให้บริการในเส้นทางที่ไม่ทำกำไร และการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยในขณะนั้น เจแปนแอร์ไลน์มีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนต่อสินทรัพย์รวมเพียง 8% และมีหนี้สินสูงถึง 2.32 ล้านล้านเยน
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้เจแปนแอร์ไลน์ต้องปรับลดจำนวนพนักงาน เส้นทางบิน รับเงินช่วยเหลือและสินเชื่อจำนวน 1 แสนล้านเยนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และมีการติดต่อเพื่อเจรจาควบรวมและหาพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจกับหลายสายการบินใหญ่ รวมไปถึงคู่แข่งสำคัญอย่าง ANA
ในที่สุด ในปี 2010 เจแปนแอร์ไลน์ก็ได้ยื่นล้มละลายกับศาลล้มละลาย ซึ่งทำให้สายการบินได้รับเงินช่วยเหลืออีก 3 แสนล้านเยน ได้รับการยกเว้นหนี้มูลค่า 7.3 แสนล้านเยน และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจขนานใหญ่ ทั้งการปลดพนักงานรวมถึง 15,700 คน หรือถึงหนึ่งในสามของพนักงานทั้งหมดขณะนั้น และเปลี่ยนตัวผู้บริหาร
เมื่อกลายเป็นบริษัทล้มละลาย หุ้นของ JAL ก็ถูกปลดออกจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2010 ก่อนที่จะกลับมาลิสต์ในตลาดอีกครั้งในปี 2012 หลังสามารถพลิกมาทำกำไรและรายได้ได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ
ทั้งนี้ แม้จะผ่านช่วงที่ธุรกิจล้มเหลวมาบ้าง ในปัจจุบัน เจแปนแอร์ไลน์สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติ มีการให้บริการรวม 199 เส้นทาง เป็นเส้นทางในประเทศ 133 เส้นทาง ระหว่างประเทศ 66 เส้นทาง ใน 64 ประเทศ และ 376 สนามบิน มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 36,039 คน และสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างเป็นที่น่าพึงพอใจ
ในปีงบประมาณ 2022 สิ้นสุดเดือนมีนาคมปี 2023 เจแปนแอร์ไลน์ทำรายได้ได้ทั้งหมด 1,375,589 ล้านเยน กำไร 33,876 ล้านเยน ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2023 สายการบินทำรายได้ได้ทั้งหมด 820,938 ล้านเยน และกำไร 61,671 ล้านเยน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันเจแปนแอร์ไลน์ยังมีชื่อเสียงในด้านการใช้บริการที่นั่งชั้นประหยัด และได้รับการจัดอันดับจาก Skytrax ให้เป็นสายการบินที่มีที่นั่งชั้นประหยัดที่ดีที่สุดในโลกในปี 2023 ทั้งจากที่นั่งที่ได้รับการออกแบบมาให้นั่งสบายเหมาะกับสรีระ ที่ว่างระหว่างที่นั่งกว้าง 45-48 เซนติเมตรทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องนั่งชิดกันมาก อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ของใช้ หูฟัง ผ้าห่ม สิ่งให้ความบันเทิงอย่างภาพยนตร์ เพลง เกม และที่สำคัญคือเมนูอาหารที่คิดสูตรโดยเชฟชื่อดังจากภัตตาคารมิชลินสามดาว และเมนูสุขภาพสำหรับผู้มีข้อจำกัดด้านต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพและศาสนา
อ้างอิง: Japan Airlines, Skytrax, Simple Flying, Britannica