Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สูตรฝึก ‘เด็กออมเงิน’ ปูทางวินัยการเงินการลงทุน สร้างพอร์ตเติบโต
โดย : ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

สูตรฝึก ‘เด็กออมเงิน’ ปูทางวินัยการเงินการลงทุน สร้างพอร์ตเติบโต

27 ม.ค. 67
07:00 น.
|
725
แชร์

คุณเคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมหลักสูตรในรั้วโรงเรียนไทยถึงไม่บรรจุวิชาการสร้างวินัยทางการเงิน ให้แก่เด็กตั้งแต่เล็กๆ เลย ทั้งๆ ที่เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำทุกวัน และที่สำคัญเป็นการฝึกฝนและปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้เรื่องการใช้จ่าย การออมเงินจนต่อยอดไปถึงเรียนรู้การวางแผนทางการเงินและการลงทุนเมื่อเติบโตขึ้นจนเรียนจบและออกมาทำงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรา คือ ส่วนใหญ่จะมาทำความเข้าใจความรู้ทางการเงินและการลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวก็เข้าสู่วัยทำงานกันแล้ว ถ้าเรียนจบหลักสูตรวิชาชีพ ปวช. ปวส. หรือปริญญาตรี ก็กินเวลาไปกว่า 17-22 ปีแล้ว ลองนึกดูนะคร้บ ถ้าเราเรียนวิชาความรู้เรื่องการออมเงินตั้งแต่เด็กๆ และต่อเนื่องวิชาที่เกี่ยวกับการเงิน ผมเชื่อว่าทุกคนจะสามารถวางแผนการเงินให้กับตัวเองได้เร็วขึ้น หรือเริ่มต้นออมเงินและลงทุนเป็น จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าทุกวันนี้แน่นอน

ปัจจุบัน คุณจะมักได้ยินข่าวภาครัฐรณรงค์ให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าลงทะเบียนแก้หนี้อย่างเข้มข้น อีกสถิติที่ชี้ว่าคนไทยเป็นหนี้เรื้อรัง สะท้อนผ่านยอดหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีสัดส่วนสูงถึง 90.7% ของ GDP ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 นับเป็นเม็ดเงินก็สูงถึง 16.1 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้เสีย (NPLs) อยู่ที่ 2.7% คิดเป็นตัวเงินเท่ากับ 146,500 ล้านบาท

ฝั่งยอดเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ ณ ตุลาคม 2566 อยู่ที่ 127.62 ล้านบัญชี จำนวนบัญชีที่มียอดเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท มีมากถึง 125.67 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 98.5%ของจำนวนบัญชีทั้งหมด ส่วนที่เหลือราว 1% กว่า เป็นบัญชีคนรวยตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปครับ ยิ่งตอกย้ำภาพคนจนกระจาย คนรวยกระจุก คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมเพียงพอใช้ในชีวิตประจำวันเลย ยิ่งเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน บางคนอาจต้องกู้ยืมเงินมาใช้แก้ขัดไปเรื่อยๆ พอกขึ้นมาเป็นหนี้ก้อนโตเหมือนระเบิดเวลา ยิ่งใครว่างงานหรือเจ็บป่วย ต้องใช้เงินกะทันหัน เรียกว่าแทบไม่ต้องลืมตาอ้าปากต่อเลยทีเดียว

นี่คือจุดอ่อนของคุณภาพชีวิตคนไทยครับ ผมเชื่อว่า ถ้าเด็กไทยทุกคนได้เรียนหลักสูตรที่บรรจุความรู้พื้นฐานการเงินตั้งแต่เด็กอย่างต่อนื่อง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยคงไม่สูงอย่างที่เป็นอยู่ และทุกคนจะมีเงินสำรองไว้เพียงพอรับมือเหตุฉุกเฉินได้ครับ

แต่ในเมื่อทุกวันนี้ วิชาการเงินยังไม่ได้บรรจุในในโรงเรียนเด็กน้อยให้เป็นหลักสูตรภาคบังคับ สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด คืองเริ่มจากการปลูกฝังพื้นฐานความรู้จากพ่อและแม่ที่ถือเป็นครูคนแรกที่จะช่วยปูพื้นฐานเรื่องเงินๆ ทองๆ ให้ลูกหลานของตน

ฝึก ‘ลูกน้อยออมเงิน’ ปูพื้นฐานได้เลย ไม่ต้องรอโต

การฝึก ‘เด็กออมเงิน’ ขึ้นอยู่ในแต่ละช่วงวัยและระดับการเรียนรู้ของพวกเขาครับ โดยเว็บไซต์ Money As You Grow ของสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งช่วงวัยของเด็กในการส่งต่อ Financial Literacy ไว้ดังนี้

  • ช่วงวัย 3-5 ขวบ บทเรียนที่สามารถปลูกฝังได้ คือ การรอคอย การสอนให้เด็กๆ รู้จักความอดทน และควบคุมความต้องการของตัวเอง
  • ช่วงวัย 6-10 ขวบ เด็กเริ่มมีโอกาสได้ใช้เงินด้วยตัวเอง เนื่องจากต้องไปโรงเรียน เจอเพื่อน มีสังคม ช่วงวัยนี้สามารถสร้างการเรียนรู้ด้านการตัดสินใจและตั้งเป้าหมายในการใช้จ่าย จัดสรรเงินที่ได้มา ฝึกการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่ายๆ เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกการคิดคำนวณด้วย
  • ช่วงวัยตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป เด็กสามารถทำความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยเงินฝาก ผลตอบแทน และความรู้เรื่องการเงินที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น สินทรัพย์การทรัพย์การเงินต่างๆ แม้ว่าพวกเขาอาจจะลงทุนเองไม่ได้ แต่จะเริ่มเรียนรู้วิธีการสร้างความมั่งคั่งจากเงินก้อนที่มี

การส่งต่อ Financial Literacy มีใจความสำคัญ คือ การปลูกฝังความรู้ (Knowledge) ทัศนคติ (Attitude) และพฤติกรรม (Behavior) เมื่อเด็กๆ ได้เงินมา ฝึกให้บริหารเงินด้วยตัวเอง รู้สึกเป็นเจ้าของ และเข้าใจความยากลำบาก กระบวนการเหล่านี้ ซึ่งจะค่อยๆ บ่มเพาะวินัยการเงินให้เขาจนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ครับ

พื้นฐานง่ายๆ ที่พ่อแม่สามารถฝึก ‘เด็กออมเงิน’ คือ แบ่งเงินเป็น 2 กอง กองแรกเป็นเงินใช้จ่ายและเงินออม ลองให้ลูกบริหารจัดการเงินด้วยตัวเอง เช่น เริ่มเปิดบัญชีเงินฝาก ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และตั้งเป้าหมายสะสมเงินออม และเมื่อลูกเติบโตมาและสะสมจนมีเงินก้อนเพิ่มขึ้นมากระดับหนึ่ง ก็สามารถแนะนำให้ลูกเรียนรู้การต่อยอดเงินด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลงทุนแม้ว่าพวกเขายังไม่สามารถเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนและหุ้นได้ พ่อแม่อาจจะเปิดบัญชีพอร์ตลงทุนให้ก่อน และสอนหลักการลงทุนระยะยาว การทะยอยสะสมเงินลงทุน การลงทุนทบตันเพื่อตัวเองในยามเกษียณ ทั้งนี้ พ่อแม่ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ในด้านการบริหารจัดการเงินทอง

ตัวผมก็ได้เปิดพอร์ตลงทุนหุ้นให้ลูกสาว ‘น้องไอวี่’ เริ่มลงทุนเมื่อเขาลืมตาดูโลก ปัจจุบันกำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 7 โดยผมตั้งเป้าหมายว่า จะมอบให้เมื่อไอวี่อายุครบ 20 ปี สามารถเป็นเจ้าของพอร์ตลงทุนได้เองตามกฎหมายครับ

พอร์ตลงทุนของน้องไอวี่ ผ่านร้อนผ่านหนาวตามภาวะตลาดหุ้นไทยและโลก แน่นอนว่า หนีไม่พ้นช่วงตลาดหุ้นตกหนักๆ อย่างตอนวิกฤต Covid-19 ผมได้ถ่ายทอดมุมมองผ่านบันทึกพอร์ตลงทุนของน้องไอวี่ในช่วงขวบปีที่ 1-5 ไว้ด้วย โดยสรุปตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง เป็นวัฏจักร ผมลองศึกษาดัชนีตลาดหุ้นย้อนหลังหลายสิบปี พบว่า ในรอบทศวรรษ ดัชนีตลาดหุ้นจะมีขาขึ้น 7 ปี และขาลง 3 ปี บางปีก็สร้างผลตอบแทนได้ 1 เท่าตัว บางปีกลับติดลบได้ถึง 50% แต่ไม่มีใครคาดเดาทิศทางตลาดได้ถูกต้องทั้งหมดครับ เพราะช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นแรง นักลงทุนก็แห่ซื้อด้วยความโลภ ช่วงที่ตลาดหุ้นลงแรง นักลงทุนก็เทขายด้วยความตระหนก มันคือ Mass Participation จากนักลงทุนครับ แต่ในภาพใหญ่ คือ ภาวะขาขึ้นมีมากกว่าขาลงอยู่แล้ว หากมัวแต่เกรงกลัวดัชนีขาลง ก็อาจจะพลาดโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงดัชนีขาขึ้นนะครับ

ลงทุนหุ้นที่ดี มีโอกาสเติบโต ตลาดหุ้นในทุกประเทศ ย่อมมีทั้งหุ้นดีและหุ้นแย่ หากพอร์ตลงทุนมีสินทรัพย์ที่ดี ไม่ได้ซื้อในราคาที่แพงเกินพื้นฐานของธุรกิจ ไม่ว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นขาลง หุ้นพื้นฐานดีในพอร์ตจะช่วยบรรเทาการขาดทุน หรืออาจจะไม่ขาดทุนเลยก็ได้ มันคือ Value Investment (การลงทุนเน้นคุณค่า) นั่นเองครับ

กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม เมื่อเลือกหุ้นพื้นฐานดีแล้ว ควรกระจายความเสี่ยงด้วยหุ้นจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม หุ้นที่ดี คือ ธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ กำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และพื้นฐานหุ้นนั้นควรมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งคุณภาพกิจการและราคาที่เหมาะสม หากพอร์ตลงทุนประกอบไปด้วยหุ้นหลายอุตสาหกรรม และเป็นหุ้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ก็พอจะมั่นใจได้ว่า ผลตอบแทนรวมทั้งพอร์ตมีแนวโน้มดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นครับ

วัดผลตอบแทนระยะยาวเป็นหลัก ระยะเวลาที่นานพอจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดี ทำให้มูลค่าเงินในพอร์ตลงทุนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างพลังของผลตอบแทนทบต้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่การลงทุนระยะสั้นๆ ทำได้ไม่ดี หรือต้องอาศัยภาวะตลาดหุ้นขึ้นแรงๆ เป็นตัวช่วยเท่านั้น หากต้องการสร้างความมั่งคั่งให้กับเงินลงทุน ควรกำหนดเป้าหมายให้มากกว่า 5 ปี ถึง 10 ปีได้ยิ่งดีครับ

เด็กออมเงิน

Money Market พอร์ตลงทุนเริ่มต้นที่ดี

ยุคนี้สมัยนี้ การส่งเสริมให้ลูกหลานมีพอร์ตลงทุนตั้งแต่เด็กๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมากขึ้น แม้ว่า ตามกฎหมาย พวกเขายังไม่สามารถเป็นเจ้าของบัญชีลงทุนเอง พ่อแม่สามารถเปิดบัญชีไว้ก่อน แล้วค่อยส่งต่อให้เขา เมื่อบรรลุนิติภาวะได้ครับ

หากไม่มั่นใจในแง่ความเสี่ยงจากลงทุนหุ้นโดยตรง พ่อแม่สามารถลงทุนผ่าน ETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงผ่านกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นแทนครับ สำหรับ Jitta Wealth สามารถลงทุนผ่านกองทุน Global ETF กองทุน Thematic และกองทุน Jitta Money ที่เป็นการลงทุนผ่าน ETF คุณภาพดีในตลาดหุ้น NYSE และ Nasdaq ครับ ถ้าเรียงตามความเสี่ยง กองทุน Thematic มีความเสี่ยงสูงที่สุดครับ เพราะลงทุนใน ETF หุ้นทั้งหมด 100% ส่วนกองทุน Global ETF ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่เลือก โดยจะจัดพอร์ตลงทุนใน ETF หุ้นและ ETF ตราสารหนี้ สัดส่วนระหว่าง 80% และ 20% หรือ 50% เท่าๆ กันครับ

สำหรับ Jitta Money เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เพราะลงทุนใน ETF ตราสารตลาดเงิน เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุไม่เกิน 3 เดือน แม้ผลตอบแทนต่อปีจะไม่สูงมาก แต่เป็นพอร์ตลงทุนเริ่มต้นที่ดี ไม่ว่าจะลงทุนให้ลูกหลาน หรือลงทุนให้ตัวเอง สามารถเป็นแหล่งพักเงินหรือสำรองเงินไว้ ก่อนที่จะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นครับ

การลงทุน ETF ต่างประเทศมีความง่ายกว่าลงทุนหุ้นโดยตรง คือ เงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูง 10,000 บาทก็เปิดพอร์ตได้แล้ว และสามารถทยอย DCA (Dollar Cost Averaging) กระจายความเสี่ยงในทุกสภาวะตลาดหุ้น สะสมแค่เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งหลักการ DCA เป็นการต่อยอดมาจากพื้นฐานของการออมเงิน ทะยอยเก็บเล็กผสมน้อยนั่นเองครับ

ที่นี้ คุณในฐานะพ่อแม่ เห็นความสำคัญของพื้นฐาน Financial Literacy ที่จะส่งต่อให้ลูกหลานได้แล้ว ลองเริ่มต้นเส้นทางนี้จากฝึก ‘เด็กออมเงิน’ ต่อยอดเป็น ‘เด็กลงทุน’ ผมเชื่อว่า ความรอบรู้ที่ส่งต่อให้พวกเขาในวันนี้ จะเป็นวินัยทางการเงินที่ดีในอนาคต

เรามาร่วมกันปลูกฝังให้เด็กน้อยเติบโตมามีหนี้น้อย เงินออมเยอะ ต่อยอดการลงทุน สร้างความมั่งคั่งให้เร็ววัน เพื่ออิสรภาพทางการเงินที่เร็วขึ้นกันนะครับ ผมเชื่อว่าหากรุ่นลูกหลานเราได้รับการปลูกฝังเรื่องการเงินไว้เป็นพื้นฐานหนึ่งของชีวิตแล้ว เชื่อว่าในอนาคตตัวเลขหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบทั้งหลายของประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงแน่นอน และผมหวังไกลกว่านั้นว่า ความมั่นคงด้านการเงินที่เพิ่มขึ้นในระดับครัวเรือนจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับประเทศได้อย่างแน่นอนครับ

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

แชร์
สูตรฝึก ‘เด็กออมเงิน’ ปูทางวินัยการเงินการลงทุน สร้างพอร์ตเติบโต