เพราะฉะนั้น ช่วงเวลานี้จะถือเป็นการจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้า หรือใช้ธนบัตรไว้สำหรับแจกซองอั่งเปา หรือพาครอบครัวไปท่องเที่ยวกันมากกว่าช่วงปกติ ซึ่งในทุกๆ ปี สถาบันการเงินไทยเองต้องมีการออกมาประกาศว่า แต่ละแบงก์ได้เตรียมการสำรองเงินสดไว้เท่าไหร่ เพียงพอต่อการใช้จ่ายของประชาชน
วันนี้ SPOTLIGHT จะพามาสำรวจแบงก์ไหนสำรองเงินสดกันเท่าไหี่ แบงก์ไหนสำรองเงินสดมากสุด
ธนาคารกรุงเทพ จัดสรรเงินสดสำรองให้บริการลูกค้าช่วงเทศกาลตรุษจีน 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาธนาคาร และตู้เอทีเอ็มอีกกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ พร้อมแผนดูแลการเติมเงินสดในตู้เอทีเอ็มถี่เป็นพิเศษ รองรับความต้องการใช้เงินสดที่เพิ่มขึ้น
รายงานข่าวจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2567 ธนาคารได้สำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาธนาคาร และช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเงินสดของประชาชนสำหรับใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ สำหรับการซื้อของไหว้ ของขวัญ ใส่ซองอั่งเปา แจกแต๊ะเอีย ตามธรรมเนียมการอวยพรในเทศกาลปีใหม่จีน
โดยลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพได้ที่สาขาไมโครภายในห้างสรรพสินค้าและจุดชุมชนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงบริการตัวแทนธนาคารที่รองรับธุรกรรมในการฝาก-ถอนเงินสด ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้าน 7-Eleven, โลตัส, บริการ Bank@Post ของไปรษณีย์ไทย, ตู้บุญเติม (ฝากเงินสด), บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (ฝากเงินสด), SABUY COUNTER ตู้เติมสบายพลัส และ ตู้เติมดี โดยมีจุดให้บริการรวมกันกว่า 200,000 แห่งทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการเพิ่มความถี่การเติมเงินยังตู้บัวหลวงเอทีเอ็มเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารมั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกถอนเงินสดมาใช้ช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ สำหรับเลือกซื้อของขวัญให้คนในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงการเริ่มต้นปีใหม่ รวมทั้งยังอยู่ในระหว่างมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐบาลผ่านโครงการ Easy E-Receipt จึงเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ให้คึกคักมากยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอีกทางหนึ่ง./
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมในการสำรองธนบัตรเพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้า จำนวน 33,900 ล้านบาท แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 14,000 ล้านบาท และในเขตภูมิภาค 19,900 ล้านบาท แบ่งเป็นตู้เอทีเอ็ม 26,700 ล้านบาท และสาขา 7,200 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 724 สาขา และมีเครื่องเอทีเอ็มรวม 10,955 เครื่อง (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567
“กรุงไทย” สำรองเงินสด รองรับการใช้จ่ายเทศกาลตรุษจีน 2567 จำนวน 30,310 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าและประชาชน ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2567 ระหว่างวันที่ 7 – 12 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งการใช้บริการที่สาขาและเครื่อง ATM จำนวน30,310 ล้านบาท แยกเป็นพื้นที่กทม.จำนวน 6,550 ล้านบาท และภูมิภาคจำนวน 23,760 ล้านบาท เป็นการสำรองสำหรับสาขา จำนวน 8,060 ล้านบาท และตู้ ATM จำนวน 22,250 ล้านบาท
ธนาคารกสิกรไทย เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีน 7 – 10 กุมภาพันธ์ 2567 รวมทั้งสิ้น 27,200 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 9,200 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,900 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 5,300 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 813 สาขา ทั่วประเทศ
สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 9,100 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 7,500 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 10,500 ล้านบาท
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เตรียมสำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2567 ระหว่างวันที่ 5 – 11 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าและประชาชน จำนวน 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการสำรองที่สาขา จำนวน 4,000 ล้านบาท และตู้เอทีเอ็ม จำนวน 9,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทีทีบี มีสาขาทั่วประเทศ จำนวน 532 สาขา และเครื่องเอทีเอ็ม จำนวน 3,015 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566)
กรุงศรีสำรองเงินสด 10,254 ล้านบาท ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567 ให้บริการผ่านสาขา/กรุงศรีเอทีเอ็มทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567 ระหว่างวันที่ 5 – 11 กุมภาพันธ์ 2567 (จำนวน 7 วัน) รวม 10,254ล้านบาท
ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 6,207 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 4,047 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 550 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 5,621 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนเครื่อง/สาขา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566)