ขณะที่สินเชื่อรายย่อยเองก็เน้นสินเชื่อบ้านเป็นหลัก แต่ก็ยังเน้นสินเชื่อบ้านที่ราคาบ้านระดับ 3 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียต่ำกว่าระดับที่ต่ำกว่านี้ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่สูง พร้อมเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอีกด้วย คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2567 แต่ภาพรวมก็ยังตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตราว 5%
โดยคุณตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย มองว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงถือว่าเป็นระดับที่มีความเสี่ยง ธนาคารจีงหันมาเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่น สินเชื่อบ้านที่ราคา 3-5 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนสินเชื่อรถยนต์ก็เน้นลูกค้าที่มีโปรไฟล์น่าเชื่อถือ เช่น มีรายได้เกิน 3-5 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระหนี้ได้
ทั้งนี้ ธนาคารไม่เข้าไปในกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากมีความเสี่ยงในเรื่องของการชำระหนี้ เพราะขณะนี้ไทยมีอัตราหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งภาพรวมหนี้เสียโดยรวมของตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อรถและสินเชื่อบ้าน
“ เรามีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถและสินเชื่อบ้านมากขึ้น ทั้งการคัดกรองลูกค้าอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้ลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น ส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารปรับลดลงเหลือเพียง 50-60% จากเดิม 70% สำหรับสินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อรถ อัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 40%”
โดยปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อย เติบโต 5-10% จากการมุ่งไปเติบโตในกลุ่มสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถมากขึ้น ทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียน ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการกลางปีนี้ ซึ่งในปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ของธนาคารอยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาท โดยในนี้เป็นพอร์ตสินเชื่อรถอยู่ที่ราว 30% ที่เหลือเป็นพอร์ตสินเชื่อบ้าน
คุณพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อรวมในปี 2567 เติบโต 5% โดยมุ่งเน้นการเติบโตในพอร์ตลูกค้าในอาเซียน ธุรกิจรายใหญ่ และธุรกิจรายย่อย
โดยเฉพาะรายย่อยที่จะมุ่งเน้นสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งจะนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่ครบครันทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียน ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2567
สำหรับตลาดสินเชื่อในอาเซียน ธนาคารจะเน้นการเติบโตภายใต้เครือข่ายของ CIMB ที่กระจายอยู่เกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อในอาเซียนราว 10% ปีนี้
โดยจะเน้นที่ประเทศอินโดนีเซียมากขึ้น ต่อเนื่องจากมาเลเซียและสิงคโปร์ที่รุกหนักไปแล้ว และจะเห็นการให้บริการอย่างครบวงจรเพื่อให้ความสะดวกกับลูกค้าธนาคารมากขึ้น ทั้งการให้บริการสินเชื่อระหว่างประเทศ การให้บริการทางการเงินและการชำระเงินอย่างครบวงจรมากขึ้น
ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี ถือเป็นธุรกิจสินเชื่อที่ธนาคารไม่มีความชำนาญมากนัก ธนาคารจึงได้มีการลดพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 2.5% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งหมด และธนาคารมีแผนลดสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีเหลือไม่ถึง 1% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้
เนื่องจากจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารไม่ได้มากนัก จึงไม่เกิด Economy of scale ในการทำธุรกิจ รวมทั้ง ลักษณะของธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยค่อนข้างมีความซับซ้อน และอาจต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ทำให้ธนาคารแข่งขันลำบาก
สำหรับภาพรวมหนี้เสียของธนาคารในปีนี้นั้น ธนาคารมีแผนที่จะขายหนี้เสียของธนาคารออกไป เพื่อจะรักษาระดับหนี้เสียให้ใกล้เคียงกับปี 2566 โดยคาดปีนี้จะอยู่ที่ 3.3-3.5%
เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 2567
คุณพอล วอง ชี คิน กล่าสว่ว ยุทธศาสตร์ปี 2567 ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงมุ่งมั่นชูวิสัยทัศน์ในการเป็น ‘Digital-led Bank with ASEAN Reach’ ‘ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’
โดยอาศัยเครือข่ายความแข็งแกร่งในฐานะกลุ่มการเงินชั้นนำระดับภูมิภาคของ CIMB Group เข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในประเทศไทยด้วยจุดแข็งของซีไอเอ็มบี ไทย ได้แก่ ASEAN, Digitalization, Wealth & ผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อลูกค้ารายย่อย และ Sustainability
ปี 2567 ธนาคารยังคงโฟกัส ASEAN เป็นหลัก จากจุดแข็งของเครือข่าย know how ของทีมงานผู้เชี่ยวชาญ และการประสานงานเชื่อมโยงเครือข่ายแบบไร้รอยต่อกับทีมงานประเทศต่างๆ ในเครือข่ายกลุ่ม CIMB ทั่วอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องหลายปีจนสามารถพาบริษัทไทยขยายธุรกิจข้ามประเทศได้สำเร็จ
โดยปี 2566 ลูกค้าไว้วางใจให้ธนาคารพาไปเปิดตลาดใหม่ด้วย ASEAN Total Solutions เพื่อให้บริการลูกค้าที่ต้องการให้ธนาคารสนับสนุนการขยายธุรกิจในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา คู่ขนานไปกับการดูแลธุรกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้าองค์กร และสถาบันการเงินในประเทศ ผ่านสินเชื่อ บริการธุรกรรมจัดการเงิน บัญชีธุรกิจ และบริการชำระเงิน
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือ Digitalize for Value ที่มุ่งเน้นการใช้ดิจิทัล และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนและยกระดับการให้บริการในโลกยุคใหม่ ผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ที่ส่งผลให้ธุรกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขยายฐานบัญชีดิจิทัลเพิ่มเป็น 4 แสนราย ปริมาณธุรกรรมบนแอปที่ทะยานสู่ 90% และธุรกรรมจองซื้อหุ้นกู้ และพันธบัตรทั้งตลาดแรก และตลาดรองทะยานเกิน 6.6 หมื่นล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2563
ทั้งนี้ การมี Digital Ecosystem ที่ครอบคลุม ส่งผลให้ธนาคารคว้ารางวัล Wealth Management Platform of the Year - Thailand 4 ปีติดต่อกัน ปีนี้ทีม Digital เตรียมปรับโฉม UX/UI และเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ยกระดับความสะดวกสบายไปอีกขั้น
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำตลาด และที่หนึ่งในใจลูกค้า Wealth Management ท่ามกลางสภาวะตลาดที่มีความท้าทาย ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการแนะนำลูกค้า เลือกลงทุนให้ถูก ‘จังหวะ’ ผ่านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ CIMB Thai คัดสรรมาให้ลูกค้า ทั้งหุ้นกู้ในตลาดแรก หุ้นกู้ตลาดรอง หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เงินฝากดอกเบี้ยสูง เงินฝากสกุลต่างประเทศ (FCD) กองทุน ประกัน บริการ Wealth Credit Line (วงเงินพิเศษเพื่อมอบสภาพคล่องให้ลูกค้าที่มีเงินลงทุนกับธนาคาร) และพร้อมจูงมือลูกค้าไปลงทุน Offshore fund
โดยเฉพาะ Alternative Investment มีความน่าสนใจที่ไม่อ้างอิงต่อปัจจัยหลักอย่างทิศทางดอกเบี้ยหรือค่าเงิน แต่อยู่บนสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจ และฐานสมาชิก CIMB Preferred (ลูกค้าที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป) ให้เติบโตอีก 12% จากปัจจุบันมีลูกค้า 1 แสนราย
ผลงานชิ้นโบแดง คือ การที่ CIMB Thai ครองอันดับ 1 ‘หุ้นกู้’ ด้วยมูลค่าการค้าตราสารหนี้ปี 2566 ทะลุ 7 แสนล้านบาท และคว้ารางวัลระดับโลก 10 ปีซ้อน สะท้อนความเชี่ยวชาญของทีม Treasury & Markets ที่ดูแลการลงทุนช่วยลูกค้ามีสภาพคล่องผ่านบริการรับซื้อ – ขายหุ้นกู้ เป็นที่มาของแคมเปญปีนี้ ‘หุ้นกู้คือ CIMB Thai’
ด้านธุรกิจรายย่อย จะโฟกัสที่สินเชื่อยานยนต์ โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 ได้เปิดตัว ‘One Auto Platform’ บริการสินเชื่อยานยนต์ ครอบคลุมทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ ผ่านบริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร โดยจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับตลาด และเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจผ่านบริการใหม่ อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งแบบโอนเล่ม และไม่ต้องโอนเล่ม
นอกจากนี้ ทุกมิติของการทำธุรกิจจะขับเคลื่อนบนแกน Sustainability สอดรับกับเป้าหมายกลุ่ม CIMB ที่จะบรรลุ Green, Social Sustainable Impacted Products and Services (GSSIPS) จำนวน 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาทในปี 2567 โดยปี 2566 ทีมสินเชื่อรายใหญ่ได้สนับสนุนสินเชื่อความยั่งยืน จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ในการทำงานบนวิถีความยั่งยืน Net Zero ปี 2567 ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 36% เทียบกับปี 2562 (scope 1 และ 2) และเพื่อปลุกกระแสสังคมรวมพลังสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน ปีนี้ ธนาคารจะจัดสัมมนา The Cooler Earth Sustainability Series ตลอดทั้งปี ทั้งการฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก, เสวนาโต๊ะกลมสินเชื่อยั่งยืน และสัมมนาใหญ่ร่วมกับ UN ESCAP ขึ้นอีกครั้ง หลังจากจัดขึ้นครั้งแรกปี 2566
“เราโฟกัส ASEAN, Digitalization, Wealth & Consumer Finance Solutions และ Sustainability โดยยึดลูกค้าเป็นหัวใจ (Customer-centric) ส่งผลให้เราได้รับการจัดอันดับจาก Rakuten Group ในปี 2566 ให้เป็นธนาคารที่ลูกค้าให้คะแนนความพึงพอใจเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับตลาด (คะแนน NPS : Net Promoter Score) ด้วยคะแนน 85 ที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 63 ในปีก่อนหน้า โดยตั้งเป้าหมายจะรักษามาตรฐานการเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า จึงมีแผนพัฒนาขั้นตอนการให้บริการดียิ่งขึ้นไปอีก”