ชายหญิงที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เมื่อใช้ชีวิตร่วมกัน ย่อมมีการซื้อหา จัดการ และใช้สอยทรัพย์สินร่วมกันเป็นเรื่องปกติ โดยการจัดการทรัพย์สินที่ว่านี้จะราบรื่นดีหากความรักของทั้งคู่เป็นไปได้ด้วยดี แต่หากความรักนั้นไปต่อไม่ได้ ไม่ว่าเพราะปัญหาภายในระหว่างสองคนจนหย่าร้าง หรือยังคงถือใบทะเบียนสมรสแต่มีฝ่ายหนึ่งไปคบหาหรืออยู่กินกับคนอื่น ทรัพย์สินที่มีไม่ว่ามีชื่อใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็อาจมีปัญหาในการจัดการหรือแบ่งทรัพย์สินตามมาได้
บทความนี้จึงอยากให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงินกับคู่รัก เพื่อจะได้วางแผนและจัดการทรัพย์สินได้อย่างดีไม่มีปัญหาเมื่อถึงวันต้องเลิกรา
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ย่อมมีสิทธิขาดความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียว เช่น มีชื่อหลังโฉนดเป็นเจ้าของบ้าน/ที่ดิน มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก/กองทุนรวม แต่หากภายหลังมีการหย่าร้างหรือเสียชีวิต ทรัพย์สินที่ว่าอาจไม่ได้เป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือทายาทของเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่อาจมีบางส่วนหรือครึ่งหนึ่งตกเป็นของคู่สมรส เนื่องจากทรัพย์สินในชื่อของบุคคลที่จดทะเบียนสมรสแล้ว จะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) สินส่วนตัว หมายถึง ทรัพย์สินที่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส (หรือได้มา หลังหย่าร้างหรือเป็นหม้าย) รวมถึงทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส แต่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
-เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด รองเท้า ฯลฯ ทั่วไป ที่มีราคาหลักร้อยหลักพัน หรือมูลค่าสมควรแก่ฐานะ
- เครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อย กำไล ฯลฯ ที่มีมูลค่าสมควรแก่ฐานะ
- เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น เตารีด เครื่องซักผ้า ฯลฯ สำหรับคนที่ทำอาชีพรับซักอบรีด เป็นต้น
- ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา ที่ผู้ให้หรือเจ้ามรดกไม่มีการระบุเจตนาว่าให้เป็นสินสมรส
- ทรัพย์สินที่พิสูจน์ได้ว่า นำเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว ไปซื้อหรือแลกเปลี่ยนมา
- ของหมั้น ซึ่งถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง
2) สินสมรส หมายถึง ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส รวมถึง
- รายได้ ที่ต่างฝ่ายต่างทำงานหามาได้ ในระหว่างที่สมรสกัน เช่น เงินเดือน รายได้จากการรับจ้าง รายได้จากการขายสินค้า ฯลฯ ของแต่ละฝ่าย
- ทรัพย์สินที่ได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้ที่ทำเป็นหนังสือ โดยมีการระบุว่าการส่งต่อมรดกหรือการให้นั้นเป็นสินสมรส
- ดอกผลของสินส่วนตัว เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ ที่ได้จากเงินฝากหรือกองทุนที่เป็นสินส่วนตัว ตัวอย่างเช่น ก่อนแต่งงานมีเงินฝากซึ่งเป็นสินส่วนตัวอยู่ 1 ล้านบาท หลังจากนั้นได้ดอกเบี้ย 10,000 บาท ดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ว่าจะเข้าบัญชีเดิมหรือไม่ถือเป็นสินสมรส แม้เงินต้น 1 ล้านบาทในบัญชีเดียวกันจะเป็นสินส่วนตัวก็ตาม
- กรณีที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสเสมอ
สำหรับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ไม่ว่าชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์จะเป็นของฝ่ายใด เมื่อหย่าร้างแต่ละฝ่ายมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่งหนึ่ง รวมถึงกรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นเสียชีวิตครึ่งหนึ่งของสินสมรสนั้นจะเป็นของคู่สมรสอีกฝ่าย ส่วนที่เหลือถึงตกเป็นส่วนหนึ่งในกองมรดกของผู้เสียชีวิต
ลูกที่เกิดขึ้นนั้นหากฝ่ายชายมีการส่งเสียเลี้ยงดูเด็กหรือหญิงนั้น หรือพิสูจน์ได้ว่าเด็กนั้นเป็นลูกของผู้ชาย หากต่อมาผู้ชายเสียชีวิตโดยไม่ได้มีการเขียนพินัยกรรมไว้ เด็กที่เกิดกับหญิงอื่นนั้นมีสิทธิได้รับมรดกเท่ากับบุตรที่เกิดกับภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือคู่สมรสตามกฎหมายด้วย เช่น เมื่อผู้ชายเสียชีวิต โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มีคู่สมรสตามกฎหมาย 1 คน ลูก 2 คนที่เกิดกับคู่สมรส และลูกอีก 1 คนที่เกิดกับหญิงอื่น หากมีกองมรดกอยู่ 4 ล้านบาท คู่สมรสและลูกแต่ละคนจะได้รับมรดกคนละเท่าๆ กัน หรือคนละ 1 ล้านบาท (= 4 ล้านบาท ÷ 4 คน)
สำหรับทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว หากถูกยักยอกและพิสูจน์ได้ว่าเป็นสินส่วนตัว เจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้อีกฝ่ายชดใช้คืนมาได้ แต่ทรัพย์สินอื่นที่เป็นสินสมรส ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นชื่อใคร หรือเป็นเงินที่ได้จากการทำงานของใคร หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินส่วนตัว (เช่น มีอยู่ก่อนสมรส หรือใช้สินส่วนตัวซื้อมา ฯลฯ) แต่ละฝ่ายย่อมสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่งหนึ่ง หากไกล่เกลี่ยกันไม่ได้จนถึงขั้นฟ้องร้องเพื่อแบ่งทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส โดยปกติแต่ละฝ่ายจะเรียกร้องได้มากที่สุดเพียงครึ่งหนึ่งของสินสมรสนั้น ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่ฝ่ายเรียกร้องคาดหวังไว้โดยเฉพาะฝ่ายที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น
เงินทองหรือทรัพย์สิน เป็นสิ่งที่คนเราต้องใส่ใจ เพราะหากมองข้ามไม่จัดสรร ไม่จัดเก็บที่มาที่ไปของทรัพย์สินให้ชัดเจน เงินเก็บที่มีอยู่ก่อนแต่งงาน เมื่อเลิกราหรือหย่าร้างกันอาจเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งประเด็นที่เห็นกันทั่วไปไม่ได้จำกัดแต่เพียงทรัพย์สินของคู่สมรสเท่านั้น แต่ทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกันในครอบครัวที่มีพ่อแม่หรือพี่น้อง หากจัดการไม่ดีก็มีปัญหาตามมาได้ เช่น เจ้าของทรัพย์สินต้องตัดสินใจตามคนที่มีอิทธิพลในครอบครัว แต่เมื่อมีปัญหาหรือเกิดภาระหนี้ตามมาคนในครอบครัวนั้นอาจไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ส่วนเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ขอกู้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นเองทั้งจำนวน เป็นต้น
นักวางแผนการเงิน CFP