ในวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% ตามการคาดการณ์ พร้อมส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนถัดไประหว่างวันที่ 17-18 กันยายน เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะฝั่งเงินเฟ้อที่ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 2.5% ลดลงอย่างมากจากระดับ 7% เมื่อปี 2022 และกำลังเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยหากอิงจากแถลงการณ์ของเฟด ประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแถลงรอบก่อนและปัจจัยสนับสนุนมุมมองการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ คือ การอ่อนตัวลงของตลาดแรงงาน ปรับประโยคการจ้างงานเป็น “Moderated”(จากรอบก่อน Remained Strong) สนับสนุนมุมมองตลาดคาดโอกาสการลดอัตราดอกเบี้ย
จากท่าทีของเฟดในวันนี้ ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ และลดอีกรวมทั้งปี 3 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ทำให้อัตราดอกเบี้ยสิ้นปีอยู่ที่ 4.5-4.75% และลดอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปเหลือ 3.75-4% ในอีก 1 ปีข้างหน้า ตามหลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ได้ปรับลงดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
การลดดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยมากยิ่งขึ้น และเช่นเดียวกับการขึ้นดอกเบี้ย การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจใหญ่ทั่วโลกย่อมส่งผลกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ และอื่นๆ นักลงทุนจึงต้องปรับแผนการลงทุนเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงได้รวบรวมคำแนะนำในการลงทุนของนักวิเคราะห์มาให้ดูกันว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะลดลงนั้น นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์แบบใดเพื่อใช้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำได้บ้าง?
ในช่วงดอกเบี้ยขาลง นักลงทุนควรจะนำเงินออมออกมาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มากขึ้น เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำจะทำให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง โดยสินทรัพย์หนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาว
เพราะความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและมูลค่าของตราสารหนี้ จะมีลักษณะแปรผกผันต่อกัน คือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น มูลค่าของตราสารหนี้จะลดลง ในทางกลับกันเมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลง มูลค่าของตราสารหนี้จะสูงขึ้น
ดังนั้น ในช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง นักลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวๆ เพื่อรับผลประโยชน์จากราคาตราสารหนี้ที่สูงขึ้น เช่น พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ระยะยาว ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้เอกชนระยะยาว 5 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จาก Alliance Bernstein ยังแนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวให้เร็วที่สุดก่อนที่จะมีการลดดอกเบี้ยครั้งแรก เพราะบทวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาชี้ว่า Bloomberg Aggregate Bond Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 13% หากนักลงทุนซื้อตราสารหนี้ก่อนมีการปรับลดดอกเบี้ยจริง 2 เดือน แต่หากซื้อในช่วงที่เฟดกำลังจะปรับลดดอกเบี้ยพอดี หรือสองเดือนหลังจากมีการลดดอกเบี้ย ผลตอบแทนจากตราสารหนี้จะลดลงเป็น 10% และ 7.5% ตามลำดับ
นอกจากตราสารหนี้ หุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำก็คือหุ้น Small-Cap ที่มีการกู้ยิมเงินมาขยายธุรกิจ และหุ้นสินค้าอุปโภคบริโภค หุ้นค้าปลีก และหุ้นที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวและบริการ เพราะดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ และต้องการที่จะใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ หุ้นบริษัทรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโต เพราะดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำจะทำให้คนอยากลงทุนกู้ยืมเงินมาซื้อสินทรัพย์ใหญ่ๆ มากยิ่งขึ้น
ในสหรัฐฯ นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นเหล่านี้ได้ ด้วยการลงทุนในกองทุนเช่น iShares Core S&P Small-Cap ETF (IJR), Vanguard Growth ETF (VUG), และ Consumer Discretionary Select Sector SPDR® Fund (XLY)
ทั้งนี้ แม้มีโอกาสสูงที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือนหน้า นักวิเคราะห์จาก บล. เอเชีย พลัส มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีโอกาสสูงที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 2.50% จนถึงสิ้นปี เพราะธปท. ได้แสดงจุดยืนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตลอดว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 2.50% นั้นเป็นระดับที่เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงินของไทยแล้ว
โดยในเดือนมิถุนายน 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภคเฟ้อทั่วไป (CPI) ของไทย อยู่ที่ 108.50 จุด +0.62% YOY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +1.54% YOY และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากผลกระทบจากฐานต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก่อนหน้าสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว ขณะที่เงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2
นอกจากนี้ ในช่วงต่อปี เงินเฟ้อไทยยังมีโอกาสทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการมาของดิจิทัลวอลเล็ตในช่วง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ซึ่งประเด็นดังกล่าว อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินทุนชะลอการไหลออกจากไทยได้ และหนุนให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่า ความสัมพันธ์ของส่วนต่าง bond yield สหรัฐฯ – ไทย กับค่าเงินบาท เคลื่อนไหวไปทิศทางเดียวกัน โดยมีค่า correlation สูงถึง 0.85
ขณะที่ส่วนต่าง bond yield 10 ปี ไทยกับสหรัฐฯ แคบลง เงินทุนต่างชาติมักจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ในทางกลับกันหาก bond yield 10 ปี ไทยถูกสหรัฐฯ ทิ้งห่าง เงินทุนก็มักจะไหลออก โดยทุกๆ ส่วนต่างที่ลดลง 5-10 bps หนุนให้เงินทุนไหลเข้าได้ราว 1 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าส่วนต่าง bond yield 10 ปี กว้างขึ้น 5 ถึง 5-10 bps จะกดดันให้เงินทุนไหลออก 1 หมื่นล้านบาท