การเงิน

ปันผลไม่ปันเงินออก ลงทุนต่อยอดพอร์ตเติบโต

27 ก.พ. 67
ปันผลไม่ปันเงินออก ลงทุนต่อยอดพอร์ตเติบโต
ไฮไลท์ Highlight
สรุปได้ว่า ความผันผวนของผลตอบแทนรวมจากตลาดหุ้นในแต่ละปีมาจากส่วนของราคาหุ้น หรือมาจากอารมณ์นักลงทุนในตลาดหุ้นที่เหวี่ยงขึ้นลงสลับกันไปมาเป็นหลัก แต่เงินปันผลนั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนได้รับแน่นอนจากตลาดหุ้นทุกๆ ปี ขึ้นอยู่กับว่าจะได้มากหรือได้น้อยเท่านั้นเองครับ

ต้นปีแบบนี้เราเริ่มเห็นบริษัทจดทะเบียนเริ่มประกาศจ่ายเงินปันผลกันแล้ว แม้ข่าวดีในปีนี้อาจจะไม่สามารถฉุดให้ราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก

ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้านี้อาจจะทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มท้อแท้และหมดหวัง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเราลงทุนในทรัพย์สินใดๆ ก็คาดหวังว่าจะได้ดอกผลของการลงทุนกลับมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะเรียกว่า 'ให้เงินทำงาน' ​แต่ต้องไม่ลืมว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่รูปแบบของผลตอบแทนหนึ่งเดียวที่เราได้รับจากการลงทุนในหุ้น 

เพราะการลงทุนใน 'หุ้น' ยังมีดอกผลที่ได้รับในรูปของ  'เงินปันผล' ซึ่งเป็นเงินที่บริษัทนำกำไรส่วนนึงออกมาจ่ายคืนให้กับผู้ที่ถือหุ้นของบริษัท โดยจะจ่ายออกมาเป็นเงินปันผลต่อหุ้น เช่น หุ้น A ราคาหุ้นละ 20 บาท มีการจ่ายปันผล 1 บาท เท่ากับว่าหุ้น A มีอัตราการจ่ายเงินปันผล 5%

วันนี้ผมเลยอยากมาชวนคุยเรื่องของเงินปันผลสักนิด

คุณทราบไหมครับว่า มีสถิติที่พบว่าในระยะยาว ผลตอบแทนจากเงินปันผลนั้นสูงราวๆ เกือบครึ่งนึงของผลตอบแทนที่เราได้รับเลยทีเดียวครับและสำหรับการลงทุนระยะยาวแล้วเงินปันผลที่เราได้จากการลงทุนในหุ้นนั้นมีความสำคัญอย่างไร​และ 'เราควรจะนำปันผลไปใช้จ่าย หรือ นำกลับไปลงทุนต่อดี'  ผมขอพาไปหาคำตอบกันครับ

ผลตอบแทนของราคาหุ้น VS  ผลตอบแทนของเงินปันผล

หากแยกผลตอบแทนของราคาหุ้นและผลตอบแทนของเงินปันผลออกจากผลตอบแทนรวม จะพบว่าผลตอบแทนจากราคาหุ้นนั้น แม้ในระยะยาวจะเป็นไปตามกำไรของบริษัทที่เติบโตขึ้น แต่ในระยะสั้นก็มีความผันผวนบ้าง บางปีอาจจะ +50% บางปีอาจจะ -50% ก็ได้ ในขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลนั้นมีแต่บวกอย่างเดียวและค่อนข้างสม่ำเสมอครับ

สรุปได้ว่า ความผันผวนของผลตอบแทนรวมจากตลาดหุ้นในแต่ละปีมาจากส่วนของราคาหุ้น หรือมาจากอารมณ์นักลงทุนในตลาดหุ้นที่เหวี่ยงขึ้นลงสลับกันไปมาเป็นหลัก แต่เงินปันผลนั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนได้รับแน่นอนจากตลาดหุ้นทุกๆ ปี ขึ้นอยู่กับว่าจะได้มากหรือได้น้อยเท่านั้นเองครับ

ดังนั้น ‘เงินปันผล’ นั้นเป็น ‘ส่วนสำคัญ’ ของผลตอบแทนระยะยาว ถ้าหากเรา 'ไม่' นำเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปีกลับไปลงทุนต่อ ในระยะยาวความมั่งคั่งของเราจะหายไปมากมายมหาศาลเลยทีเดียวหายไปมากแค่ไหนหรือครับ ลองมาดูกันว่าระหว่างนำไปลงทุนต่อ VS เอาออกมาใช้ อะไรดีกว่า

1. นำเงินปันผลไปลงทุนต่อทั้งหมด

สมมุติว่าลงทุน 10,000 บาท ในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2518 – 2560 โดยนำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อเรื่อยๆ เงิน 10,000 บาท จะโตขึ้น 124 เท่า เป็นเงิน 1,243,314 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นที่ 11.87% ต่อปี

2. นำเงินปันผลออกไปใช้ทั้งหมด

แต่ถ้าทุกปีเรานำเงินปันผลที่ได้ออกไปใช้จ่าย และปล่อยให้เงินต้นเติบโตไปเรื่อยๆ ตามราคาหุ้น เงิน 10,000 บาท จะโตขึ้นเพียงแค่ 17 เท่า เป็นเงิน 175,371 บาทเท่านั้น หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นที่ 6.89% ต่อปี

ความมั่งคั่งจะหายไปมากถึง  85% เลยครับ จากเงิน 1,243,314 บาท เหลือเพียงแค่ 175,371 บาท หายไปถึง 1,067,943 บาท และนี่เป็นผลกระทบระยะยาวที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง เพียงแค่นำเงินปันผลไม่กี่เปอร์เซ็นต์ออกมาใช้ในแต่ละปี จะสร้างความแตกต่างได้มากขนาดนี้ในระยะยาว

3. นำเงินปันผลออกไปใช้ 50%

สมมุติว่าลงทุน 10,000 บาท ในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2518 – 2560 เหมือนเดิม แต่ทุกปีเรานำเงินปันผลมาใช้เพียงแค่ครึ่งเดียว ที่เหลืออีกครึ่งนึงนำไปลงทุนต่อ จะพบว่าหลังผ่านไป 43 ปี เงิน 10,000 บาทจะเติบโตขึ้น 47 เท่า เป็นเงิน 473,541 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นที่ 9.39% ต่อปี

ซึ่งเมื่อเทียบกับการไม่นำเงินปันผลไปลงทุนเลย การนำปันผลครึ่งนึงกลับไปลงทุนต่อ ก็ทำให้เงินของเราโตขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2.7 เท่าครับ จาก 175,371 บาท เป็น 473,541 บาท แต่ถ้าเทียบกับการนำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อทั้งหมดแล้ว ความมั่งคั่งของเราก็ยังหายไปกว่า 62% เลยทีเดียวครับ

เพื่อเปรียบเทียบให้ยุติธรรมมากขึ้น รวมเงินปันผลที่จ่ายออกไปเข้ามาด้วย เพราะก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ได้รับออกมาเหมือนกัน (เพียงแต่มีการนำไปใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเราได้)

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะรวมเงินปันผลที่ได้รับระหว่างทางไปด้วยแล้วก็ตาม การไม่นำเงินปันผลไปลงทุนต่อ ก็ทำให้ความมั่งคั่งของเราหายไปอย่างมากในระยะยาวครับ

c783afd9-332c-48fa-9ad5-3fe06

'ความสุขจากการใช้เงินในระยะสั้นของเรา อาจนำมาซึ่งความเจ็บปวดทางการเงินในระยะยาว'

คิดเล่นๆ ก็เหมือนเรามีความสุขกับการนำเงินปันผลไปใช้ระหว่างทาง 103,940 บาท โดยยอมแลกกับเงินที่เราจะได้ใช้ในอนาคตถึง 1,067,943 บาท ซึ่งเป็นเงินที่มากกว่าถึง 10 เท่า และเงินจำนวนนี้จะเป็นของเรา ขอเพียงแค่เราอดใจและนำเงินปันผลในแต่ละปีกลับไปลงทุนได้เรื่อยๆ ครับ

อีกประเด็นนึงที่น่าสนใจ ถ้าเราลองเปรียบเทียบระหว่าง การนำเงินปันผลไปใช้แค่ครึ่งเดียว กับการนำเงินปันผลทั้งหมดไปใช้ เราจะพบว่า ในระยะยาวแล้วการนำเงินปันผลไปใช้แค่ครึ่งเดียวนั้น จะทำให้ทั้งเงินลงทุนเราเติบโตมากกว่า และเงินปันผลรวมก็มากกว่าด้วย นั่นก็เพราะยิ่งเงินลงทุนเราเติบโตมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้เงินปันผลมากขึ้นด้วย ทำให้เห็นว่า การปล่อยให้เงินลงทุนของเราเติบโตก่อนในช่วงแรกเป็นสิ่งสำคัญมากครับ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราคิดยังไงกับคำถามเดิมของเราครับว่า เราควรนำเงินปันผลในแต่ละปีไปใช้ หรือ นำกลับไปลงทุนต่อดีครับ?จากข้อมูลตัวเลขทั้งหมดชี้ให้เราเห็นแล้วว่า ถ้าเราต้องการสร้างความมั่งคั่งสูงสุดระยะยาวจากตลาดหุ้นนั้น การนำเงินปันผลทั้งหมดกลับไปลงทุนต่อเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับความมั่งคั่งของเราได้อย่างมหาศาลในระยะยาวครับ

ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ในที่นี้สมมุติว่าเงินลงทุนเริ่มต้นเพียงแค่ 10,000 บาทเท่านั้น จึงทำให้ความแตกต่างอยู่แค่หลักแสน หลักล้าน แต่ถ้าหากเราลงทุนเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท ความแตกต่างตรงนี้จะคิดเป็นเงินมากกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียวครับ!

และนี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ผมจะแนะนำให้นักลงทุนนำเงินปันผลทั้งหมดกลับไปลงทุนต่อทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้กับนักลงทุนทุกคนในระยะยาวนั่นเองครับ ​

ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่เราจะลงทุน ให้แยกเงินที่จะใช้ลงทุนต่างหากออกมาจากเงินที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้เรียบร้อยก่อน แล้วเมื่อเริ่มลงทุนไปแล้ว ก็ปล่อยให้เงินลงทุนนี้เติบโตไปเรื่อยๆ ได้ปันผลมาเท่าไหร่ก็ขอให้นำไปลงทุนต่อเรื่อยๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งแบบทบต้นให้กับเราในระยะยาวครับและยิ่งถ้าหากเรารวมพลังของการนำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อนี้ กับการเพิ่มเงินลงทุน เข้าไปเรื่อยๆอีกทุกปี ก็จะยิ่งทวีคูณความมั่งคั่งของเราให้เติบโตได้อย่างน่าอัศจรรย์ครับ

ปล่อยวางเรื่องราคาหุ้นไปบ้าง แล้วคุณจะพบว่าโลกการลงทุนยังมีเสน่ห์ “ให้เงินทำงาน” ได้อยู่หากลงทุนอย่างถูกวิธีครับ

 

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT