การเงิน

Black Monday! หุ้นเอเชียดิ่งทั้งแผง SET ร่วงเกือบ 3% เหตุกังวลศก. สหรัฐฯ ถดถอย

5 ส.ค. 67
Black Monday! หุ้นเอเชียดิ่งทั้งแผง SET ร่วงเกือบ 3% เหตุกังวลศก. สหรัฐฯ ถดถอย

หุ้นเอเชียดิ่งโหด ร่วงทั้งแผงในครึ่งเช้าวันจันทร์ นำโดยดัชนีหุ้นญี่ปุ่น TOPIX 500 และ Nikkei 225 และดัชนีหุ้นเกาหลีใต้ KOSDAQ ที่ปิดตลาดเช้าลดลงมากกว่า 12% ขณะที่ SET Index ของไทยลดลงเกือบ 3% จากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ อัตราว่างงานเพิ่มสูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 2564 

วันนี้ (5 ส.ค. 2567) หุ้นเอเชียเปิดตลาดและปิดตลาดช่วงเช้าในแดนลบ ร่วงต่อหลังจากในวันศุกร์ ปรับตัวลงอย่างรุนแรงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตามทิศทางดัชนี NASDAQ และดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อื่นๆ ที่ร่วงลงแรงหลังข้อมูลภาคการผลิตเดือน ก.ค. ปรับตัวลงแรงกว่าคาดจากการหดตัวของคําสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานในภาคการผลิตที่หดตัวลง ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี

ล่าสุด กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง114,000 ตําแหน่งในเดือน ก.ค. ตํ่ากว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 177,000 ตําแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ179,000 ตําแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือนก.ค. พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 4.3% สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 4.1% สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ตัวเลขจ้างงานที่ชะตัวลงอย่างรวดเร็วทําให้นักลงทุนเทนํ้าหนัก 67.5% คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.50% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้นํ้าหนักเพียง 22.0% เพราะเฟดต้องลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและมากกว่า 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางยังทำให้นักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อยลง เพราะ อิสราเอลมีสิทธิที่จะถูกโจมตีจากอิหร่าน และกองกำลังในภูมิภาค เป็นการโต้ตอบที่อิสราเอลลอบสังหารเจ้าหน้าที่ของกลุ่มอิซบอลเลาะห์และฮามาส

 

หุ้นญี่ปุ่น-ไต้หวัน-เกาหลีใต้ ร่วงแรง นำโดยหุ้นเทคโนโลยี

แรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงตาม เพราะนักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยงจากหุ้นไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ เช่น ค่าเงินเยน ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 141 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก 145 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันนี้

ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ส่งผลให้ในครึ่งเช้าวันนี้ ดัชนี TOPIX 500 Index ของญี่ปุ่นปิดที่ 1,733.34 จุด ลดลงถึง 12.61% จากวันซื้อขายก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี Nikkei 225 ลดลง 12.23%

ดัชนี KOSDAQ ของเกาหลีใต้ปิดที่ 679.88 จุด ปรับตัวลดลง 12.76% และดัชนี FTSE Taiwan 50 ของไต้หวันลดลง 8.71% ขณะที่ SET Index ของไทยปิดเช้าลดลง -25.63 จุด หรือ -1.95% และล่าสุดในเวลา 15.15 น. จะลดลงมาถึง 38.75 จุด หรือ 2.95% มาอยู่ที่ 1,274.33 จุด

หากมองเป็นรายประเทศ จะพบว่าในครึ่งเช้า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชีย เพราะว่าตลาดหุ้นเหล่านี้มี ‘หุ้นเทคโนโลยี’ อยู่ในน้ำหนักที่มาก ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับตัวลดลงของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ มากที่สุด

โดยในวันนี้ หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีเอเชียที่มีมูลค่าหุ้นปรับตัวลดลงมากที่สุดก็คือ หุ้น Samsung ที่ปิดเช้าลดลง 8,200 วอน หรือ 10.30% และ TSMC ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก โดยปิดช่วงเช้าลดลง 88 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือ 9.75% 

การลดลงของมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีเอชียเหล่านี้ สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ใน Tradegate ของเยอรมนี นำโดย Nvidia ที่ลดลงถึง 17% Apple, Meta, Tesla ที่ลดลง 10% และ Alphabet ที่ลดลง 9.6% 

หุ้นไทยลดไม่มากเพราะหุ้นเทคฯ น้อย ระวังหุ้นพลังงาน

สำหรับตลาดหุ้นไทยวันนี้เปิดปรับตัวลงแรงกว่า 20 จุด หลุด 1,300 จุดเป็นโมเมนตัมลบ ขานรับปัจจัยลบจากต่างประเทศ จากกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวเร็วกว่าคาด หลังรายงานตัวเลข Nonfarm payrolls เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดและอัตราว่างงานสูงกว่าที่คาด 

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ถือว่าปรับตัวลงน้อยเป็นอันดับต้นๆ จากราคาหุ้นที่ยังมีมูลค่าไม่สูงมาก และการที่มีหุ้นกลุ่มเทคฯ น้อย ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยจากสภาวะตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการลดลงของมูลค่าหุ้นเทคโนโลยี

ปัจจุบัน หุ้นไทยยังแนวโน้มเจอ Fund Flow ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง จากปัจจัยในประเทศมีความเสี่ยงด้านปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันภาคการบริโภค ล่าสุด ธปท. ออกมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ติดตามอัตราเงินเฟ้อของไทยคาดออกมาที่ +0.7% YoY

นอกจากนี้ นักลงทุนยังต้องระวังแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและโรงกลั่น เนื่องจากกลุ่มโอเปกจะเริ่มต้นปรับเพิ่มกําลังการผลิตตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 เป็นต้นไป ทําให้ราคานํ้ามันดิบกลับสู่ขาลง

 

advertisement

SPOTLIGHT